Facebook เริ่มทดสอบระบบจ่ายเงินบนแพลตฟอร์มตัวเอง ประเดิมในไทยเป็นที่แรก

by ตะโร่งโต้ง
9 June 2016 - 16:00

แหล่งข่าวไม่เปิดเผยตัวหลายรายให้ข้อมูลว่าตอนนี้ Facebook กำลังเริ่มทดสอบระบบจ่ายเงินบนแพลตฟอร์มของตนเอง ทำให้ผู้ใช้สามารถจ่ายเงินเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการให้แก่เพจต่างๆ ได้โดยไม่ต้องสลับหน้าเว็บหรือแอพไปใช้งานแพลตฟอร์มอื่น

ระบบการจ่ายเงินที่ว่านี้ Facebook ไม่ได้พัฒนาทำขึ้นเองทั้งหมด แต่เป็นระบบที่ชื่อ Qwik ซึ่งพัฒนาโดย 2C2P บริษัท fintech จากสิงคโปร์ที่ทำธุรกิจในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยระบบการจ่ายเงินที่ Facebook กำลังทดสอบนี้จะรองรับทั้งการหักเงินผ่านบัตรเครดิต, บัตรเดบิต หรือจะใช้วิธีโอนเงินออนไลน์ด้วยการระบุหมายเลขบัญชีธนาคารก็ได้

สำหรับ 2C2P ซึ่งเป็นแนวร่วมพัฒนาระบบการจ่ายเงินให้กับ Facebook นั้น เป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2003 โดย Aung Kyaw Moe ชาวเมียนมาร์ผู้พำนักอยู่ในไทย ซึ่งปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งเป็นซีอีโอ โดย 2C2P นั้นมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและเพิ่งระดมเงินลงทุนรอบล่าสุดได้อีก 7 ล้านดอลลาร์เมื่อปีกลาย

สำหรับเหตุผลที่ Facebook เลือกทดสอบระบบการจ่ายเงินในไทยเป็นที่แรกนั้น Jon Russell ให้ข้อมูลและความเห็นไล่เรียงประเด็นเป็นลำดับลงไปดังนี้

  • ในกลุ่มประเทศตะวันตกนั้น อิทธิพลของ Facebook ต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตลดลงเนื่องจากการแข่งขันของเครือข่ายสังคมออนไลน์หลากหลายแพลตฟอร์ม ในขณะที่ประเทศฝั่งเอเชียยกเว้นจีนแล้ว Facebook ยังเป็นที่นิยมสูงมาก เฉพาะในกลุ่มประเทศชายฝั่งแปซิฟิกนั้นมีผู้ใช้งานรายเดือนสูงถึง 566 ล้านคน (อ้างอิงจากรายงานของ Facebook ประจำไตรมาสที่ 1 ปีนี้)
  • ด้วยความที่ Facebook เข้าถึงและได้รับความนิยมสูงในประเทศฝั่งเอเชีย แพลตฟอร์มนี้จึงถูกใช้เป็นช่องทางสำคัญของผู้ประกอบการในการโฆษณาและสื่อสารกับลูกค้า (อ้างอิงจากข้อมูลในปีก่อนจาก Page365 มีการประเมินว่าเฉพาะในประเทศไทย มีมูลค่าการซื้อขายออนไลน์สูงถึง 500 ล้านดอลลาร์ต่อปี)
  • รายงานของ PWC ระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการทำธุรกิจแบบ c2c ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (ดูรายละเอียดในรายงานหน้าที่ 27) ซึ่งธุรกิจแบบ c2c (consumer-to-consumer) ที่ว่านี้หมายถึงการซื้อ-ขายสินค้าผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยข้อมูลจากการสำรวจระบุว่าคนไทย 51% เคยซื้อสินค้าจากผู้ขายผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์
  • แม้ว่าจะมีการซื้อ-ขายสินค้าผ่าน Facebook กันมากมาย แต่การทำธุรกรรมส่วนใหญ่เป็นการส่งข้อมูลเลขบัญชีธนาคารและที่อยู่ในการจัดส่ง รวมถึงหลักฐานการโอนเงินหากันเป็นหลัก เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้บริการธนาคารออนไลน์ ในขณะที่ผู้ขายหลายรายก็ไม่สะดวกรับการชำระเงินแบบหักผ่านบัตรเครดิต ส่วนวิธีเก็บเงินปลายทางก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ผู้ขายสินค้าจะยอมรับสักเท่าใดนัก ด้วยเหตุนี้ Facebook จึงเหมือนเป็นแค่ทางผ่านสำหรับกระบวนการซื้อ-ขายสินค้า
  • นอกจากนี้ผู้ใช้ในไทยทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขายก็นิยมติดต่อสื่อสารกันหลายช่องทาง ประธาน ธนานาถผู้ร่วมก่อตั้ง Page365 ให้ข้อมูลแก่ TechCrunch ซึ่งพอสรุปได้ว่าโดยมากแล้วการติดต่อซื้อขายมักเริ่มขึ้นหลังจากผู้ซื้อสนใจสินค้าจากภาพและข้อมูลที่เห็นบน Facebook แต่ในตอนท้ายก็นิยมไปพูดคุยต่อรองราคากันผ่านแอพ LINE เสียเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ Instagram (ซึ่งก็เป็นของ Facebook เช่นกัน) ก็เป็นเหมือนหน้าร้านที่เอาไว้จัดแสดงสินค้ามากกว่าจะเป็นพื้นที่หลักที่จะปิดการขาย จึงเป็นเหตุผลให้ Facebook เกิดความสนใจที่จะพยายามเก็บผู้ใช้ไว้บนแพลตฟอร์มตัวเองให้ต่อเนื่องมากที่สุดด้วยการพัฒนาระบบการจ่ายเงินแบบจบในแพลตฟอร์มตัวเองไม่ต้องผ่านการโอนเงินที่ธนาคาร

TechCrunch ระบุว่าขณะนี้ Facebook ได้เริ่มทดลองให้เพจดังบางเพจสามารถใช้งาน Qwik ได้แล้ว เมื่อผู้ใช้กดปุ่มชำระเงินให้แก่เพจดังกล่าวก็จะถูกพาไปยังหน้าเว็บใหม่เพื่อกรอกข้อมูลเลขบัตรเครดิต/บัตรเดบิต หรือใส่ข้อมูลเลขบัญชีธนาคารเพื่อทำการจ่ายเงินได้เลย โดย TechCrunch อ้างว่าได้พูดคุยกับผู้ใช้ Facebook บางคนที่เจอระบบ Qwik นี้แล้ว แต่ไม่สามารถนำภาพข้อมูลหลักฐานมาเผยแพร่ได้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากตัวผู้เขียนบทความ Jon Russell เองยังไม่อาจเข้าถึงหน้าเว็บการใช้งาน Qwik ได้แบบที่ผู้ใช้บางคนเจอมาก่อน ในขณะที่ภาพ screenshot ที่ TechCrunch ได้เห็นแล้วก็ไม่อาจนำมาเผยแพร่ต่อได้เนื่องจากเกรงว่าเจ้าของเพจที่ได้เริ่มทดลองใช้ Qwik จะได้รับผลกระทบเพราะอาจละเมิดข้อตกลงเรื่องเก็บข้อมูลเกี่ยวกับ Qwik เป็นความลับในระหว่างการทดสอบ

จนถึงขณะนี้ Facebook และ 2C2P ผู้พัฒนา Qwik ยังไม่ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับข่าวนี้แต่อย่างใด

ที่มา - TechCrunch

Blognone Jobs Premium