ปกติแล้วเวลาผมต้องการสตอเรจเซิร์ฟเวอร์สักตัวก็มักจะเครื่องมาติดตั้งลินุกซ์ใช้งานเองเสมอๆ แต่เครื่องทำเองก็มักมีข้อจำกัดหลายอย่าง ตั้งแต่ขนาดเครื่องที่ใหญ่ เสียงดัง กินพลังงานสูง รอบนี้ทาง Zyxel สอบถามมาว่าต้องการทดสอบ NAS540 ของทางบริษัทไหม ผมเลยยืมเครื่องนี้มาทดลองใช้งานอยู่ระยะหนึ่ง
ตัวเครื่องภายนอกของ NAS540 ไม่ต่างจากสตอเรจแบบ ดิสก์ 4 ลูกทั่วไปตัวอื่นๆ นัก การถอดฮาร์ดดิสก์แบบ 3.5 นิ้วสามารถถอดและใส่โดยไม่ต้องใส่น็อตแต่อย่างใด แต่ต้องใช้ไขควงแบนงัดตัวล็อกด้านข้างออกมาแทน และถ้าเป็นดิสก์แบบ 2.5 นิ้วจะต้องติดตั้งถาดแปลงเพิ่มเติม
โดยทั่วไปแล้วผมให้ความง่ายในการติดตั้งอยู่ที่ระดับ "ปานกลาง" จากการต้องงัดพลาสติกล็อกด้านข้างออก (ตอนแรกเปิดออกมาแล้วงงๆ อยู่พักหนึ่งว่าใช้ยังไง
คำแนะนำมาตรฐานสำหรับการติดตั้ง NAS540 คือใช้โปรแกรมบนวินโดวส์เพื่อค้นหาตัว NAS และเริ่มคอนฟิก แต่สำหรับผมที่ใช้ลินุกซ์เป็นหลักก็สามารถเข้าเว็บได้ โดยค่าเริ่มต้นของ NAS จะรับไอพีจากเราท์เตอร์อยู่แล้ว เมื่อเข้าเว็บแล้ว ชื่อผู้ใช้มาตรฐานคือ admin และรหัสผ่านเป็น 1234
ที่เว็บจะมีสองโหมด คือโหมดเดสก์ทอป และโหมด advanced เท่าที่ทดลองใช้งาน โหมดเดสก์ทอปจะมีประโยชน์เฉพาะกรณีต้องการดูรูปผ่านเว็บเป็นหลัก การตั้งค่าส่วนใหญ่จะยังต้องตั้งค่าในโหมด advanced อยู่ดี ส่วนดูวิดีโอต้องการ QuickTime ซึ่งน่าจะไม่ค่อยมีใครติดตั้งแล้ว ตรงนี้ Zyxel น่าจะอัพเดตมาใช้ HTML5 ได้แล้ว
ตามแนวทาง NAS รุ่นใหม่ๆ ที่ดีจะสามารถติดตั้งแอพเพิ่มเติมลงไปได้ด้วย แอพที่น่าติดตั้งในตอนนี้คงเป็น ownCloud (ที่เพิ่งวงแตกไป) สำหรับการซิงก์ไฟล์ลงบนอุปกรณ์โมบาย NAS540 รองรับ ownCloud ที่รุ่น 7.x ก็นับว่าเก่ามาก เทียบกับตอนนี้ที่อยู่ที่รุ่น 9.x แล้ว
การแชร์มาตรฐานคือการแชร์แบบ CIFS หรือ Windows File Sharing โฟลเดอร์หลักๆ ได้แก่ video, photo, music จะเปิดแชร์แบบ Public เป็นมาตรฐาน ในแง่ความสะดวกในการใช้งานก็คงดี แต่สำหรับผู้ใช้อยู่บนเน็ตเวิร์คขนาดใหญ่ก็คงต้องระวังที่จะสร้างชื่อผู้ใช้มาจำกัดสิทธิ์ก่อนต่อเน็ตเวิร์คกันก่อน
จุดที่สะดวกอีกอย่างหนึ่ง คือการใช้งานกับปุ่มซิงก์ด้านหน้าเครื่อง ปุ่มซิงก์จะทำงานได้สองโหมด คือ โหมดดึงไฟล์ออกจาก USB หรือ SD ไปอยู่ใน NAS และโหมดซิงก์สองทาง โดยการกดสั้นๆ จะเป็นการดึงไฟล์ และกดยาวจนได้ยินเสียงจะเป็นการซิงก์ อันนี้เป็นจุดดีสำหรับคนที่ต้องการสำรองไฟล์ไปไว้ภายนอก ก็อาจจะนำดิสก์ USB สำหรับสำรองไฟล์อีกชั้น ตัว NAS เองก็มีความสามารถในการสำรองไฟล์ไปยัง NAS อีกตัวด้วย แต่ปุ่มนี้จะไม่ทำงานตั้งแต่แรก แต่ต้องเซ็ตล่วงหน้าว่าจะซิงก์ไฟล์ไว้ตรงไหน ถ้ายังไม่เซ็ตแล้วจะเกิด error พร้อมกับตัวปุ่มจะกลายเป็นสีแดง
การเชื่อมต่อกับแอพอื่นๆ เป็นความสามารถที่คนอาจจะใช้งานกันบ่อย ตัว NAS540 รองรับการอัพโหลดภาพขึ้น Flickr อัพโหลดวิดีโอขึ้น YouTube โดยอัตโนมัติ และยังสามารถทำงานร่วมกับ Dropbox และ Time Machine ได้ ตัวแอพที่ลงได้ก็มี Google Drive ไว้ด้วย และสุดท้ายคือความสามารถในการดาวน์โหลดไฟล์ torrent ในตัว
ในแง่ความปลอดภัย บริการหลายตัว ของ NAS540 รองรับ HTTPS เช่น Web Publishing และหน้าจอเว็บแอดมินเอง แต่ไม่ได้เปิดมาเป็นค่าเริ่มต้น ความสามารถระดับสูงเช่นการเข้ารหัสดิสก์ก็ไม่รองรับเช่นกัน