Jun แบบอย่างเมืองดิจิทัล เมื่อทุกบริการและทุกคนในเมืองเชื่อมโยงกันได้ผ่าน Twitter

by ตะโร่งโต้ง
12 June 2016 - 19:03

Jun คือเมืองเล็กๆ ใน Granada ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของสเปน เมืองนี้มีประชากรราว 3,500 คน ผู้คนที่นี่มีสิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากเมืองอื่นๆ พวกเขาใช้ชีวิตประจำวันโดยมี Twitter หลอมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตที่นี่

ประชากรกว่าครึ่งของเมือง Jun มีบัญชี Twitter เป็นของตัวเอง ไม่ว่าพวกเขามีเรื่องจะร้องเรียน, ต้องการสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานราชการ, นัดหมายแพทย์, แจ้งเหตุน่าสงสัยต่อตำรวจ, ติดตามข่าวสารและทักทายส่งข่าวกับคนอื่นๆ ในเมือง หรือแม้กระทั่งอยากจะดูว่าลูกของพวกเขาจะได้ทานอะไรเป็นมื้อเที่ยงที่โรงเรียน ทั้งหมดนี้พวกเขาสามารถทำกันผ่านทาง Twitter ได้ทั้งนั้น

สิ่งเหล่านี้มาจากการผลักดันโดย Rodríguez Salas นายกเทศมนตรีของ Jun เขาเข้ารับตำแหน่งในปี 2005 (ก่อนการถือกำเนิดของ Twitter อยู่ 1 ปี) หลังจากนั้น 6 ปี Salas ก็ได้ริเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของเขาและหน่วยงานในความดูแลให้เริ่มใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ โดย Salas บอกว่าเขาตัดสินใจเลือกใช้ Twitter เป็นแพลตฟอร์มหลักของงานนี้เพราะโดยทั่วไปการใช้ Twitter ทำให้สามารถมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกันได้เร็วกว่าการใช้ Facebook เขาบอกลูกน้องของตนเองไล่ตั้งแต่รองนายกฯ ไปจนถึงคนกวาดขยะให้เปิดบัญชี Twitter เพื่อเอาไว้ใช้ติดต่องาน (ที่หน้าอาคารสำนักงาน หรือกระทั่งข้างตัวรถกวาดถนนก็มีสติ๊กเกอร์ติดชื่อบัญชี Twitter บอกเอาไว้ให้ประชาชนมองเห็นและตามไป follow ได้)

ไม่เพียงแค่นั้น ทางการเมือง Jun ยังได้เปิดให้ประชาชนมายืนยันบัญชี Twitter ของแต่ละคนเพื่อใช้ติดต่อราชการ นั่นทำให้เมื่อประชาชนต้องการติดต่อร้องเรียนหรือขอใช้บริการจากทางการเมือง Jun พวกเขาสามารถทำได้ผ่านทาง Twitter แทนการเดินทางไปติดต่อด้วยตนเองที่สำนักงานเมือง Jun โดยช่วงแรกเริ่มจะเน้นการแจ้งเรื่องบริการสาธารณะ เช่นแจ้งซ่อมแซมทรัพย์สินส่วนกลางที่เสียหาย, แจ้งทำความสะอาดบริเวณที่สกปรก

María José Martínez หัวหน้าฝ่ายไอทีของเมือง Jun ได้เปิดคอร์ส Twitter 101 เพื่อสอนประชาชนให้รู้จักวิธีใช้ Twitter ที่ศูนย์ประชาคมของเมือง ที่นั่นจะมีการสอนให้รู้จักวิธีการใช้งาน Twitter ทั้งการส่งข้อความ, ภาพถ่าย การใช้ระบบ direct message รวมทั้งวิธีการใช้ hashtag สำหรับโอกาสสำคัญต่างๆ อย่างเมื่อไม่นานมานี้ด้วยการปั่น hashtag ชื่อ "#EndesaMeEstresa" (แปลว่า "#Endesa, เธอทำให้ฉันหงุดหงิด") ก็ทำให้ Endesa ซึ่งเป็นบริษัทดูแลระบบไฟฟ้าของเมืองต้องรีบจัดการแก้ปัญหาไฟดับอย่างรวดเร็ว

Salas บอกว่าการใช้ Twitter ทำให้งานหลายอย่างง่ายขึ้นและใช้คนน้อยลง เขายกตัวอย่างว่าตั้งแต่ที่ชาวเมืองเริ่มหันมาใช้ Twitter ในการติดต่อทางการ เขาสามารถลดจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจลงได้ 3 ใน 4 ผู้คนทั้งเมืองนั้นเป็นเหมือนหูตาที่ช่วยกันสอดส่องความสงบเรียบร้อยของเมืองและสามารถแจ้งข่าวเรื่องเหตุการณ์น่าสงสัยมายังตัวเขาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว

Salas บอกว่านับตั้งแต่ปี 2011 ที่เริ่มใช้ Twitter สำหรับการติดต่องานเป็นต้นมา เมือง Jun สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายของเมืองได้ถึงปีละ 380,000 ดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็น 13% ของค่าใช้จ่ายประจำปี ที่สำคัญเขาบอกว่าแนวทางนี้เสริมสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยแบบดิจิทัลทำให้ประชาชนใกล้ชิดกับทางการมากขึ้น

ที่มา - The New York Times

Blognone Jobs Premium