ไอเดียดี! ใครปะถนนห่วย, ซ่อมถนนแย่ ตามตัวช่างมาแก้ได้จากแท็ก RFID ที่ฝังเอาไว้

by ตะโร่งโต้ง
14 June 2016 - 04:50

ในปี 2013 เมือง Dayton ในรัฐ Ohio เริ่มใช้แท็ก RFID สำหรับงานซ่อมผิวทางถนนเป็นครั้งแรก มันคือระบบงานที่ระบุให้ผู้รับเหมาผู้ดำเนินการเปิดผิวถนนเพื่อซ่อมแซมอะไรก็ตามแต่ต้องฝังแท็ก RFID เอาไว้เพื่อให้สามารถติดตามและระบุตัวคนที่ทำงานซ่อมเปิดผิวถนนนั้นได้ในภายหลัง

เรื่องนี้สำคัญอย่างไร?

การออกแบบระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของเมืองนั้น โดยมากจะมีการติดตั้งระบบส่งควบคู่ขนานไปกับแนวถนน บ้างก็อยู่ข้างบน แต่มีไม่น้อยที่ใช้วิธีฝังตัวอยู่ใต้พื้นถนนเลย ไม่ว่าจะเป็นแนวสายไฟฟ้า, สายเคเบิลสื่อสาร, ท่อประปา, ทางระบายน้ำ กระทั่งท่อส่งแก๊ส และท่อดับเพลิง ซึ่งผลพวงจากการออกแบบการติดตั้งระบบส่งสาธารณูปโภคดังที่กล่าวมา นั่นทำให้การซ่อมบำรุง, หรือตรวจสอบระบบเหล่านี้จำเป็นต้องเปิดผิวถนนที่อยู่ด้านบน กลายเป็นรอยปะผิวด้วยยางมะตอยมากมาย อันไหนที่ทำได้ดีตามมาตรฐานหลังเสร็จงานคนก็ใช้ถนนต่อไปได้ไม่มีปัญหา แต่อันไหนที่เก็บงานห่วย บดอัดไม่ดี, ส่วนผสมวัสดุปะผิวไม่ถูกต้อง เหล่านี้ส่งผลให้ถนนเสียหายเป็นหลุมเป็นบ่ออย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

ด้วยเหตุที่ว่ามา ในแง่ของหน่วยงานกำกับดูแลแล้ว มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องติดตามตัวให้ได้ว่ารอยปะถนนในแต่ละจุดนั้นเป็นฝีมือใคร ทำงานอะไร เมื่อไหร่ จากแต่เดิมใช้วิธีนั่งหาแบบฟอร์มขออนุญาตทำงานที่เก็บในแฟ้มกันเป็นวัน ต่อมาก็เริ่มเปลี่ยนเป็นการกรอกข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์ แต่ข้อมูลในระบบก็ระบุได้แค่ว่าวันไหนมีคนขอทำงานบนถนนเส้นไหน ทว่าไม่อาจระบุแน่ชัดว่าหลุมไหนบนถนนเป็นผลงานของผู้รับเหมารายใด ทำให้ต้องเสียเวลาถกเถียงและนัดหมายเพื่อมายืนยันตำแหน่งหน้างานกัน แต่เมื่อตอนนี้มีเทคโนโลยี RFID เข้ามาช่วยงานนี้ก็ง่ายขึ้นมากโดยทำได้ในเวลาไม่กี่นาทีเท่านั้น

แนวทางการทำงานก็คือ เมื่อผู้รับเหมารายใดก็ตามทำงานของตนเองเสร็จและจะต้องซ่อมปะผิวถนน พวกเขาจะต้องวางแท็ก RFID ที่ทางเมือง Dayton เตรียมให้ก่อนทำการรองพื้นลาดยางมะตอย ตัวแท็กที่ว่านี้เป็นแท็กแบบเส้นลวดยาว ถูกออกแบบมาให้ทนต่อสภาพอากาศต่างๆ ไม่ว่าจะเจอความชื้น, ความร้อนที่ถูกส่งต่อจากไอแดด, ความหนาวเย็นจากหิมะ ตลอดจนแรงกดอัดตัวของคอนกรีตและยางมะตอย หลังจากนั้นเมื่อทางการต้องการตรวจสอบข้อมูลว่ารอยปะผิวถนนนี้เป็นของใคร เจ้าหน้าที่ก็แค่ใช้เครื่องสแกนแบบพกพามาตรวจข้อมูลจากแท็ก RFID ที่อยู่ใต้พื้นนั่นเอง

นับจากปี 2013 จนถึงตอนนี้เมือง Dayton มีการฝังแท็ก RFID ประจำแต่ละจุดที่มีการซ่อมปะผิวถนนราว 9,200 ชิ้นแล้ว และตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มใช้ระบบนี้เมือง Dayton ก็สามารถประหยัดเวลาทำงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งคิดเป็นมูลค่าค่าจ้างได้ถึง 60,000 ดอลลาร์

ในปัจจุบันเมืองอื่นๆ ก็เริ่มนำไอเดียนี้ไปปรับใช้งานบ้างเช่นกัน อาทิ Denver ก็เริ่มใช้แท็ก RFID เพื่อทำระบบข้อมูลการซ่อมถนนเมื่อปีก่อน, Colorado Springs ก็เริ่มใช้งานเทคโนโลยีเมื่อเดือนที่แล้ว และเมื่องใหญ่อย่าง Los Angeles ก็เตรียมจะใช้แท็ก RFID สำหรับการก่อสร้างทางเดินเท้าและทางจักรยานในอนาคต

ที่มา - RFID Journal: 1, 2, 3

Blognone Jobs Premium