สภาวการณ์เกี่ยวกับวงการไอทีของฟินแลนด์ในขณะนี้มีเรื่องย้อนแย้งเกิดขึ้น หลังการทยอยลดจำนวนพนักงานของ Nokia ทั้งในช่วงก่อนและหลังจาก Microsoft เข้าซื้อกิจการมือถือรวมแล้วกว่า 15,000 คน จนทำให้มีวิศวกรประสบการณ์สูงจำนวนมากอยู่ในภาวะว่างงาน แต่ในเวลาเดียวกันบริษัทไอทีอีกหลายแห่งกลับขาดแคลนบุคลากรเฉพาะทางหลายพันตำแหน่ง
สมาคมผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ระบุว่าในขณะนี้มีตำแหน่งงานที่ยังต้องการคนอีกกว่า 7,000 ตำแหน่ง โดยเฉพาะงานพัฒนาซอฟต์แวร์ แต่กลับไม่สามารถดึงเอาคนที่ว่างงานจำนวนมากมาเติมตำแหน่งงานดังกล่าวได้ ปัญหานั้นเป็นเพราะเรื่องความต้องการผู้เชี่ยวชาญงานเฉพาะด้าน ประกอบกับเรื่องความเข้ากันได้กับวัฒนธรรมองค์กรรุ่นใหม่
ทางการฟินแลนด์นั้นตั้งความหวังว่าการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพจำนวนมาก รวมทั้งกลุ่มบริษัทเกมที่นำโดย Supercell และ Rovio นั้นจะเติบโตและฉุดให้อุตสาหกรรมไอทีของฟินแลนด์กับมาคึกคักอีกครั้ง แต่ปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากรดูจะกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ยังรอการสะสางเสียก่อน
ผู้ประกอบการจำนวนมากต้องการนักพัฒนาเข้ามาทำงานให้องค์กร โดยคาดหวังคนเปี่ยมทักษะที่จะเข้ามาเริ่มงานได้ทันทีแบบไม่ต้องเสียเวลาเรียนรู้เนื้องานหรือใช้เวลาปรับตัวมาก แต่ทว่าในตลาดที่มีคนว่างงานซึ่งรวมถึงอดีตพนักงานของ Nokia กำลังรอหางานอยู่เป็นจำนวนมาก (อัตราการว่างงานของฟินแลนด์ในขณะนี้อยู่ที่ 9%) กลับไม่อาจตอบโจทย์นี้ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลุ่มคนเหล่านั้นทำงานเฉพาะด้านในองค์กรใหญ่มานานจนขาดทักษะทางเทคนิคที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งที่ว่างอยู่มากมายในขณะนี้
และอย่างที่กล่าวไปว่ากระแสวัฒนธรรมองค์กรที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นเรื่องหนึ่งที่กลายมาเป็นปัญหาสำหรับอดีตพนักงาน Nokia หลายคน การที่พวกเขาคุ้นเคยกับวิธีทำงานในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการวางโครงสร้างระบบงานแตกแขนงออกเป็นหลายฝ่ายหลายด้าน ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายโดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพทั้งหลายมีความลังเลที่จะจ้างพวกเขาเข้าทำงานในองค์กรของตนเพราะเกรงว่าจะมีปัญหาเรื่องการปรับตัวเข้ากับวิธีการทำงานแบบใหม่ที่ต้องการความยืดหยุ่นพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากกว่าเดิม ผลคือส่วนใหญ่จะเน้นจ้างงานเด็กจบใหม่แทน
ทางการฟินแลนด์ก็พยายามจะแก้ปัญหานี้โดยหวังว่าอดีตพนักงาน Nokia จำนวนมากจะได้งานใหม่ในบริษัทใหม่ ทางหนึ่งก็ด้วยการตั้งเงื่อนไขการจ้างงานคนจากต่างประเทศซึ่งก็เชื่อว่าจะจูงใจให้ผู้ประกอบการบางส่วนหันมาสนใจกลุ่มคนที่ว่างงานด้วย อีกทางหนึ่งก็เป็นการติดตาม Nokia และ Microsoft ให้มาช่วยกันพาอดีตพนักงานส่งขึ้นฝั่งให้เรียบร้อย ด้วยการจัดอบรมสอนพนักงานให้มีทักษะตรงตามความต้องการของตำแหน่งงานว่างในตลาด โดยทางรัฐบาลของฟินแลนด์เองก็เป็นธุระช่วยจัดหาเงินทุนและติดต่อ EU เพื่อขอเงินทุนสำหรับการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือบุคลากรนี้ด้วยอีกแรงหนึ่ง
บางบริษัทเล็งการแก้ปัญหาด้วยการดึงคนต่างชาติเข้ามาทำงาน บริษัทอย่าง Supercell เจ้าของเกมดังอย่าง Clash of Clan ซึ่งเฉพาะปีที่ผ่านมาทำตัวเลขกำไรได้เกือบ 1 พันล้านดอลลาร์ ก็พยายามจะแก้ปัญหาด้วยแนวทางนี้ แต่ก็ไม่สามารถจะทำตามที่คิดได้อย่างถนัด เพราะแค่เรื่องสร้างแรงจูงใจให้คนต่างชาติอยากมาทำงานในฟินแลนด์ก็ไม่ง่ายแล้ว กระบวนการขออนุญาตให้คนต่างชาติได้ทำงานในฟินแลนด์ก็เป็นปัญหาอีกด่าน
ปัญหาอย่างแรกเรื่องความน่าดึงดูดคนทำงานจากต่างประเทศคือเรื่องเงินๆ ทองๆ มูลค่าผลตอบแทนที่บริษัทฟินแลนด์ยอมจ่ายเป็นค่าจ้างพนักงานนั้นก็ไม่ได้ดีเท่าแหล่งงานในประเทศอื่นอย่างแถบ Silicon Valley หรือแม้กระทั่งตลาดงานเอเชียแถบสิงคโปร์ (ยกเว้นเฉพาะกลุ่มโปรแกรมเมอร์ประสบการณ์สูงจริงๆ) ทว่าภาษีที่รัฐเรียกเก็บนั้นสูงทีเดียว (ในปี 2015 มูลค่าภาษีที่รัฐเรียกเก็บนั้นคิดเป็น 44.5% ของ GDP)
ปัญหาอย่างที่สองคือเรื่องระบบราชการ ขั้นตอนการขอใบอนุญาตในการพักอาศัยและทำงานในฟินแลนด์นั้นอาจนานถึง 6 เดือน นั่นทำให้หลายครั้งบริษัทฟินแลนด์ต้องพลาดโอกาสได้ตัวคนเก่งๆ มาร่วมงาน เพราะระหว่างที่ต้องรอการสะสางเรื่องเอกสารก็มีบริษัทจากประเทศอื่นมาตัดหน้าคว้าตัวไปทำงานเสียก่อน
ถ้าจะมีเรื่องดีที่ฟินแลนด์จะจูงใจให้บางคนอยากย้ายมาทำงานและพำนักอยู่บ้าง ก็คงจะเป็นเรื่องคุณภาพของการศึกษาและนโยบายของรัฐที่ให้เด็กเรียนฟรีถึงระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งน่าจะทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ประสบการณ์สูงที่มีครอบครัวสนใจมาทำงานในประเทศนี้
สิ่งที่เกิดขึ้นในฟินแลนด์นี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่สะท้อนให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของแวดวงธุรกิจ เมื่อองค์กรใหญ่เริ่มถดถอย การเกิดใหม่ของบริษัทที่เล็กแต่คล่องตัวและโตเร็วเพิ่มขึ้นจำนวนมาก คนที่ทำงานในวงการนั้นก็ย่อมต้องเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง
ที่มา - VentureBeat