รีวิว HP ZBook Studio G3 เมื่อโน้ตบุ๊ก workstation ไม่จำเป็นต้องหน้าตาน่าเกลียดอีกต่อไป

by BlackMiracle
15 June 2016 - 11:06

คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กสาย workstation ถือว่าเป็นสายที่มีลูกค้าไม่มากนักเมื่อเทียบกับตลาดแมส แต่ผู้ใช้โน้ตบุ๊กกลุ่มนี้ต้องการสเปกที่แรงเป็นพิเศษ เพราะใช้ทำงานที่ต้องใช้ทรัพยากรหนัก บวกกับคุณภาพฮาร์ดแวร์ที่สูงกว่าเครื่องทั่วไป จึงแน่นอนว่าราคาต่อเครื่องของโน้ตบุ๊กกลุ่มนี้สูงหลายหมื่นบาท หรือขึ้นไปแตะแสนบาทได้ง่ายๆ

HP ทำการตลาดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กสาย mobile workstation อยู่ภายใต้ชื่อ ZBook ซึ่งเน้นความสวยงามของตัวเครื่อง และสเปกแบบจัดเต็มตามแบบที่ workstation ควรจะเป็น คราวนี้ HP ส่ง ZBook Studio G3 ซึ่งเป็นโน้ตบุ๊กรุ่นท็อปของซีรี่ส์ ณ ขณะนี้มาให้รีวิว

โน้ตบุ๊กซีรี่ส์ ZBook มีอยู่ 4 รุ่นย่อยด้วยกัน ดังนี้

  • ZBook 15 G3 โน้ตบุ๊กตัวมาตรฐาน จอ 15"
  • ZBook 17 G3 โน้ตบุ๊กตัวมาตรฐาน จอ 17"
  • ZBook 15u G3 โน้ตบุ๊กบางเบาแบบ Ultrabook จอ 15" (เคยรีวิวไปแล้ว)
  • ZBook Studio G3 โน้ตบุ๊กบางเบาแบบ Ultrabook จอ 15" สวยงาม สเปกแรงสุด (รีวิวตัวนี้)

ฮาร์ดแวร์

เมื่อเป็นรุ่นท็อป ทั้งวัสดุและความสวยงามจึงไม่เป็นรองรุ่นอื่น ฝาของ ZBook Studio เป็นอะลูมิเนียมสีเทาด้าน มีลายจุดเล็กๆ ทั่วทั้งฝา

สันด้านหลังของเครื่องมีวลี Mobile Workstation กำกับอยู่

ตัวเครื่องถือว่าบางมากสำหรับ workstation ดูจากด้านข้างเหมือนจะลาดลงเล็กน้อย ด้านขวามีพอร์ตมากมาย ช่องต่อหูฟังแบบ 3.5 มม., USB 3.0 ขนาดเต็ม, HDMI, พอร์ต Thunderbolt 3 ในรูปแบบ USB-C สองพอร์ต และช่องเสียบสายชาร์จ

ด้านซ้ายมีช่องเสียบ SD Card, พอร์ต USB 3.0 ขนาดเต็มสองพอร์ต, พอร์ต Ethernet และช่องเสียบสายล็อก Kensington

ด้านหน้าบริเวณมุมซ้ายมีเพียงไฟ LED บอกสถานะของ Wi-Fi, สถานะเปิดเครื่อง, การชาร์จ และการอ่านเขียนข้อมูล

พลิกมาดูใต้เครื่องออกแบบได้สวยงามทีเดียว ครึ่งบนเป็นลายรูปสามเหลี่ยมมีช่องระบายอากาศเกือบเต็มแผ่น ส่วนครึ่งล่างเป็นลายรูปเพชร มียางกันลื่นรอบตัว จากการใช้งานพบว่าหนืดมาก เวลาจะหันจอให้คนอื่นดูต้องยกเครื่องแล้วถึงจะหันได้

ลายด้านใต้ชัดๆ

อย่างไรก็ตาม การสกรีนข้อความต่างๆ ใต้เครื่องยังพบว่าไม่เนี้ยบพอในเครื่องระดับนี้ หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่าการสกรีนไม่ขนานกับขอบ

เปิดฝาขึ้นมารู้สึกถึงความหรูหราพอตัว ใช้มือข้างเดียวเปิดได้ ไม่ต้องกดตัวเครื่องไว้ (อันนี้ดี) รอบๆ ตัวเครื่องถูกเจียรขอบออกเป็นเส้นสีเงิน

มุมบนซ้ายของจอมีชื่อ Bang & Olufsen กำกับอยู่

ตรงกลางมีกล้องเว็บแคม และไมโครโฟนคู่ที่สามารถปรับให้ฟังเฉพาะเสียงผู้ใช้ และตัดเสียงคนข้างๆ ออก

ตัวเครื่องมีปุ่มพาวเวอร์อยู่มุมบนซ้าย ส่วนปุ่มเปิดปิด Wi-Fi / Bluetooth อยู่มุมบนขวา อยู่ติดกับปุ่มปิดเสียง ลำโพงคู่ถูกจัดวางอยู่ด้านข้าง ด้านล่างมีทัชแพดขนาดใหญ่ และขวามือเป็นตัวสแกนลายนิ้วมือ

คีย์บอร์ดแบบ chiclet มีไฟ backlit ปรับได้ 3 ระดับ (ปิด, สว่างสุด, สว่างครึ่งเดียว) กันน้ำหกใส่ได้ ความรู้สึกขณะพิมพ์จัดว่าพอใช้ได้ ระยะที่ปุ่มถูกกดลงไปไม่ลึกมาก (ผู้เขียนคิดว่า MacBook Pro ลึกกว่านิดนึง) แต่จุดที่ไม่ชอบคือปุ่ม Home, End, Page Up, Page Down ถูกนำไปวางไว้ขวาสุด เวลาพิมพ์เร็วๆ แล้วจะกด Backspace มือไปโดนปุ่ม Home แทนบ่อยครั้ง (น่าจะเกี่ยวกับความเคยชินด้วย) แต่ก็ยังดีที่ไม่นำปุ่มพวกนี้ไปรวมไว้กับปุ่มลูกศรนะครับ

การใช้งาน

เครื่องที่ได้มาทดสอบเป็นรุ่นสูงสุดที่มีขายในประเทศไทย สเปกดังนี้

  • ซีพียู Intel Xeon E3-1505M v5 2.80GHz (4 คอร์ / 8 เธรด)
  • จีพียู NVIDIA Quadro M1000M
  • แรม 32GB แบบ DDR4 (ECC) 2133MHz
  • SSD ความจุ 256GB ยี่ห้อ Samsung แบบ M.2 PCIe รุ่น SM951 (โมเดล MZVPV256)
  • หน้าจอด้าน ขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด 3840x2160 (4K)
  • ระบบปฏิบัติการ Windows 7 Professional 64 บิต

เปิดเครื่องมาครั้งแรก แทนที่จะได้ตื่นเต้นกับจอ 4K กลับต้องผิดหวังเพราะระบบปฏิบัติการให้มาเพียงแค่ Windows 7 เท่านั้น ซึ่งมันไม่เหมาะที่จะใช้กับจอความละเอียดสูงเอาซะเลยครับ ทุกอย่างมันเล็กจิ๋วไปหมด ต้องมาปรับสัดส่วน (scaling) เอง โดยจุดที่ผมว่าพอใช้ได้คือ 150% และจุดที่สบายตาก็อยู่ที่ 200% ครับ ซึ่ง Windows 10 ก็ต้องปรับแบบนี้เช่นกัน แต่หลายๆ ส่วนของมันถูกทำให้เข้ากับหน้าจอความละเอียดสูงมาแล้ว ผิดกับใน Windows 7 ที่ยังเจอตัวหนังสือขยายจนล้นบ้าง ขาดหายไปบ้างครับ

ซอฟต์แวร์บางตัวอย่าง Origin ก็ไม่ปรับสัดส่วนตามที่เราตั้งไว้ด้วย ทำให้หน้าต่างเล็กจิ๋วอย่างที่เห็น

แต่ถ้าเป็นโปรแกรมที่รองรับหน้าจอความละเอียดสูงอย่าง Google Chrome เมื่อปรับใช้สัดส่วน 200% ก็แสดงผลได้สวยงามดี อ่านข้อความบนเว็บได้ปกติ

ส่วนที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าตัวหนังสือล้น ก็ประมาณนี้ครับ

คุณภาพหน้าจอส่วนตัวคิดว่าให้สีได้ดีมากทีเดียว สีค่อนข้างเป็นธรรมชาติ ไม่เร่งจัดเกินไป เปิดดูรูปถ่ายก็คมชัดดีมาก สีที่เห็นก็ตรงกับวัตถุที่ถ่ายพอสมควร แต่มีข้อสังเกตสองอย่างที่พบคือ ความสว่างน้อยไป ต้องเปิดเกือบสุดถึงจะอยู่ในระดับที่พอใช้ได้ เทียบกับ Dell Latitude E7440 จอ 1080p ที่ใช้อยู่แล้วต่างกันพอสมควร (ใน Dell เปิดไม่ถึงครึ่งก็สว่างพอแล้ว) ส่วนเรื่องสีแน่นอนว่า ZBook Studio ดีกว่าหลายขุมครับ

อีกประเด็นคือเวลาแหงนหรือก้มจอมากเกินไป ความสว่างจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด คิดว่าเกี่ยวกับพลาสติกที่ใช้ปิดจอ กล่าวคือสีไม่เพี้ยนเวลามองจากมุมก้มหรือมุมเงย แต่ความสว่างจะลดลงครับ ในขณะที่ Dell ไม่พบอาการนี้

มาถึงเรื่องสำคัญอย่างประสิทธิภาพกันบ้าง โดยปกติแล้วผมไม่ค่อยยึดติดกับผลคะแนนมากนัก แต่ส่วนตัวไม่ได้ทำงานสายกราฟิก จึงคิดว่าการทดลองรันซอฟต์แวร์ benchmark หลายๆ ตัวน่าจะบอกอะไรได้บ้างครับ

Cinebench R15

ทดสอบ CPU

ทดสอบกราฟิก (OpenGL)

Geekbench 3.4.1

หากอยากดูรายงานการทดสอบแบบเต็มๆ คลิกที่นี่

FurMark 1.17.0.0

รันบนความละเอียด 1080p

รันบนความละเอียด 4K

3DMark

อันนี้จัดมาทั้ง 3 แบบที่มีให้ทดสอบ

Fire Strike

Ice Storm Extreme

Sky Diver

ทดสอบ SSD ด้วย AS SSD อันนี้ผมไม่เข้าใจว่าทำไมความเร็วการเขียนถึงช้าแปลกๆ ทดสอบ 3 ครั้งก็ได้ผลเท่าเดิม ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกับ Windows 7 หรือไดรเวอร์อะไรหรือไม่ (แต่ความเร็วการอ่านทะลุโลก)

ระหว่างการรันทดสอบแบบเข้มข้น พัดลมระบายความร้อนถูกเร่งเต็มขั้น ทำให้ทราบว่า ZBook Studio มีพัดลม 2 ตัวอยู่ซ้ายและขวา ทำงานแยกกัน (แต่ไม่รู้ว่าอันไหนของซีพียู อันไหนของจีพียู) หากความร้อนลดลงก็จะหมุนช้าลงแยกกันอิสระครับ

การใช้งานปกติเช่นเล่นเว็บ ทำงานเอกสาร ดูวิดีโออาจมีบางจังหวะที่ทำให้พัดลมเร่งขึ้นมาได้บ้าง แต่ดังเพียงครู่เดียวก็เงียบเหมือนเดิม เรื่องเสียงรบกวนโดยรวมถือว่ายอมรับได้ครับ ตอนเร่งสุดก็ไม่ได้ดังจนน่ากลัว

เสียง

ไหนๆ ก็มีตรา Bang & Olufsen แปะไว้แล้ว เลยทดสอบคุณภาพลำโพงสักหน่อยว่าเป็นอย่างไร ลองเล่นเพลงแนวลาติน ไฟล์ AIFF แบบ 24 บิต 96 kHz ก็ไม่ได้ว้าวอะไรมากมาย พอใช้ได้ แถมเปิดดังๆ เสียงยังแตกอีกต่างหาก

ในเครื่องมีบันเดิลซอฟต์แวร์ปรับแต่งเสียงของ B&O มาให้ด้วย หน้าตาแบบนี้

แบตเตอรี่

ในการใช้งานทั่วไป เปิดจอความสว่างเกือบสุดราว 70-80% เครื่องใช้งานได้อยู่ที่ราว 3-4 ชั่วโมงเท่านั้นนะครับ สาเหตุหลักคงมาจากหน้าจอความละเอียดสูง และซีพียู Intel Xeon นั่นเอง ส่วนเรื่องกราฟิกผมไม่แน่ใจว่าถ้าไม่เสียบสายชาร์จ มันจะใช้งาน NVIDIA Quadro M1000M หรือไม่ เพราะโดยทั่วไปเครื่องที่มีจีพียูแยกจะสลับมาใช้กราฟิกออนบอร์ดแทนเพื่อประหยัดพลังงาน

ปัญหาที่พบ

เท่าที่ได้ใช้งานจริงจังเป็นระยะเวลา 4-5 วัน เจอปัญหาใหญ่อยู่ 1 ประการ นั่นคือ Wi-Fi มักจะใช้งานไม่ได้ไปเฉยๆ ทั้งที่ยังเชื่อมต่อกับเน็ตเวิร์คอยู่ แต่กลับมีเครื่องหมายอัศเจรีย์สีเหลืองขึ้นตรงไอคอนสัญญาณ Wi-Fi และใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่ได้เลย วิธีแก้ถ้าไม่รีบูทเครื่อง ก็ต้องไปสั่ง Disable แล้ว Enable การ์ด Wi-Fi ใหม่ใน Device Manager ครับ

อีกปัญหาที่รำคาญไม่น้อยคือตอนเปิดเครื่องมา ตัวซอฟต์แวร์จัดการการเชื่อมต่อของ HP มักแสดงเออเร่อขึ้นมาทุกครั้ง ตามภาพ ผมไม่คิดว่าเออเร่อนี้เกี่ยวข้องกับการที่ Wi-Fi ใช้ไม่ได้นะครับ เพราะอาการนั้นค่อนข้างสุ่ม บางทีก็ใช้ได้หลายชั่วโมง บางทีก็เป็นเร็ว

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้เช็คว่ามีไดรเวอร์เวอร์ชันใหม่กว่านี้ให้อัพเดตแล้วหรือไม่ ทาง HP ให้เครื่องมาอย่างไรผมก็ใช้ตามนั้นเลย ที่อัพเดตเองก็มีแค่ตัว Windows กับไดรเวอร์ NVIDIA เท่านั้น

ประเด็นเล็กๆ อีกอันที่พบคือบางครั้งการเลื่อนเมาส์มีหนืดๆ หนืดในที่นี้คือเหมือนกับ refresh rate ต่ำน่ะครับ ใครเคยเล่นเกมที่ต้องการสเปกสูงๆ แล้วเมาส์จะหนืดๆ คงเคยเห็นกันมาบ้าง อาการอย่างนั้นเลย แต่เป็นๆ หายๆ ส่วนใหญ่จะเป็นตอนใช้ Chrome แต่ก็ใช้งานได้ปกติ แค่อาจจะรำคาญบ้าง

อีกสิ่งหนึ่งที่ตัวผมเองอาจไม่เข้าใจคือปุ่มเปิดปิด Wi-Fi ที่ตัวเครื่องครับ ถ้า Wi-Fi เปิดอยู่ไฟ LED จะเป็นสีขาว แต่ถ้ากด 1 ครั้งจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม และการเชื่อมต่อทุกอย่างจะถูกตัดหมด คราวนี้พอผมกดอีกครั้งมันกลับไม่เชื่อมต่อ Wi-Fi ให้ ต้องกดเปิด Wi-Fi เองในซอฟต์แวร์ HP Connection Manager ครับ

สรุป

HP ZBook Studio G3 เป็นโน้ตบุ๊ก workstation ที่ใช้งานได้ดีทีเดียว การใช้งานในชีวิตประจำวันไม่มีปัญหาอะไรใหญ่โต ซึ่งปัญหาที่กล่าวไว้ข้างต้นน่าจะแก้ได้ด้วยการอัพเดต BIOS หรือซอฟต์แวร์ในตัวเครื่อง อย่างไรก็ตาม หน้าจอความละเอียด 4K ไม่เหมาะที่จะใช้กับ Windows 7 อย่างยิ่ง

ด้านการพกพาถือว่าทำมาได้ดี น้ำหนักราว 2 กิโลกรัม ใครทำงานสายนี้คงทราบว่าความหนาและหนักประมาณนี้คือประเสริฐแล้วนะครับ ลงมาอยู่ในย่านของโน้ตบุ๊กทั่วไปแล้ว

สนนราคาอย่างเป็นทางการในประเทศไทยของ HP ZBook Studio G3 เครื่องที่รีวิวนี้ อยู่ที่ 118,770 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว มาพร้อมประกันแบบ On-Site นาน 3 ปี ส่วนราคาของสเปกรุ่นต่ำกว่า และ ZBook รุ่นอื่นๆ ดูได้ที่นี่

ตัวเลือกอื่นๆ ที่น่าสนใจและสเปกไม่ต่างกันมากคือ Dell Precision Mobile 5510 (เป็นจอไร้ขอบแบบ XPS 13 ด้วย) และ Lenovo ThinkPad P50 ครับ

Blognone Jobs Premium