เว็บไซต์ STAT เผยรายงานพิเศษเกี่ยวกับ Verily ระบุ ผลงานไม่ชัดเจน คล้าย Theranos

by nrad6949
18 June 2016 - 12:33

ในช่วงที่ผ่านมา เราอาจจะได้ยินข่าวอื้อฉาวของ Theranos บริษัทสตาร์ทอัพสายสุขภาพที่ในที่สุดแล้วกลายมาเป็นเรื่องใหญ่ในวงการ แต่ล่าสุด Theranos อาจจะไม่ใช่บริษัทเดียว เมื่อเว็บไซต์ STAT ที่รายงานข่าวเรื่องของสุขภาพ ออกมาเผยแพร่รายงานพิเศษเมื่อต้นเดือนเกี่ยวกับ Verily บริษัทในเครือของ Alphabet (Google เดิม) ที่ทำเรื่องของชีววิทยาศาสตร์ (Life Science) โดยระบุว่ามีความใกล้เคียงกับกรณีของ Theranos

รายงานดังกล่าวระบุว่า Verily นั้นเต็มไปด้วยวิศวกรและพนักงานที่ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องชีววิทยาอย่างมาก โดยผู้บริหารของบริษัทมักจะเชื่อว่าการนำเอาเทคโนโลยีอย่าง big data และเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามาใช้งาน จะช่วยแก้ไขปัญหาทางด้านสุขภาพของผู้คนได้ ทว่าในความเป็นจริงแล้ว เงื่อนไขในด้านสุขภาพของมนุษย์แต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกันออกไป และการใช้เทคโนโลยีอย่างเช่น big data ไม่อาจจะเข้ามาแก้ไขปัญหาไปได้เสียทุกเรื่อง

รายงานระบุว่า อุปกรณ์และผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้การพัฒนาของ Verily หลายตัว อย่างเช่น Tricoder ที่โฆษณาว่าเอาไว้ตรวจจับเซลมะเร็งขณะวิ่งผ่านและสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้, คอนแทคเลนส์อัจฉริยะที่ระบุว่าเอาไว้ตรวจเบาหวานได้ และ Baseline เทคโนโลยีที่เอาไว้เก็บข้อมูลสุขภาพเพื่อตรวจหาแนวโน้มความเสี่ยงทางสุขภาพได้นั้น ล้วนแล้วแต่ถูกตั้งคำถามจากผู้เชี่ยวชาญในวงการแพทย์ทั้งสิ้นว่าจะทำได้จริงหรือไม่ ในกรณีของคอนแทคเลนส์ ยังมีการถกเถียงอยู่ในวงการแพทย์ว่าน้ำตาสามารถเอามาวัดได้จริงหรือไม่ แถมรายงานของ STAT ระบุว่าหนึ่งในพนักงานที่ให้สัมภาษณ์แบบลับ ระบุว่าต้นแบบไม่สามารถใช้งานได้จริง และการทดลองแบบอื่นๆ ก่อนหน้าก็ล้มเหลวมาก่อนทั้งสิ้น, Baseline ที่เป็นการเก็บข้อมูลสุขภาพของคนวงกว้างก็ถูกตั้งคำถามว่า สามารถสะท้อนสุขภาพของแต่ละคนได้จริงๆ หรือไม่

ในกรณีของ Tricoder นั้น David Walt ศาสตราจารย์ทางเคมีของมหาวิทยาลัย Tufts ในสหรัฐฯ ระบุว่าเป็นเรื่องที่เกินไปกว่า "จินตนาการทางวิทยาศาสตร์" (science fantasy) และมันไม่สามารถที่จะวัดเรื่องของเซลล์มะเร็งได้ เทคโนโลยีที่ใกล้เคียงที่สุดก็คือการตรวจหาเชื้อมะเร็งในระยะเริ่มต้นจากการเจาะเลือด (liquid biopsy) แต่หลายเจ้าก็ยังไม่สามารถทำได้สำเร็จ ด้าน John Ioannidis ก็ตั้งคำถามว่าจะเป็นไปได้จริงแค่ไหน รวมถึงกรณีที่วินิจฉัยเกิน (overdiagnosis) คนไข้ที่สุขภาพดีด้วย ซึ่งอาจส่งผลร้ายกับผู้ป่วยได้

Jo-Ellen Pozner ศาสตราจารย์ทางธุรกิจของ UC Berkeley ระบุกับทาง STAT ว่า ตามปกติแล้วบริษัทสายสุขภาพ มักจะทำงานเงียบๆ (stealthily) ในระยะแรกก่อนเปิดตัวต่อสาธารณะ แต่กับกรณีทั้ง Theranos และ Verily นั้นเป็นข้อยกเว้น โดยเลือกที่จะสร้างกระแสจากสื่อก่อน ทั้งที่ผลงานของตัวเองยังไม่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างไร เธอระบุว่าสิ่งนี้สะท้อนถึงวัฒนธรรมแบบ "vaporware" ที่มักจะสร้างกระแสเพื่อให้คู่แข่งไม่ลงมาเล่นด้วย แต่จริงๆ แล้วไม่มีผลิตภัณฑ์หรือการบริการใดๆ รองรับอยู่เลย

รายงานของ STAT ระบุว่า ในที่สุดแล้วกรณีของ Verily เป็นเรื่องของการนำเอาเทคโนโลยีรีบเข้ามาใช้เพื่อแก้ไขปัญหา แต่ไม่มีการคิดที่รอบคอบและความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ที่ดีพอ ซึ่งตรงกับคำให้สัมภาษณ์ในรายงานของ Chad Mirkin ผู้เชี่ยวชาญด้าน biosensor และ nanotechnology จากมหาวิทยาลัย Northwestern ที่ระบุว่า นี่คือความหยิ่งกระด้าง (arrogance) ของบริษัทใน Silicon Valley ทั้งที่วิทยาศาสตร์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น (“That isn’t how science works.”)

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่า Verily จะล้มเหลวไปเสียทุกอย่าง เพราะก็มีส่วนในการเข้าไปช่วยบริษัทอื่นๆ พัฒนาผลิตภัณฑ์ในด้านสุขภาพอยู่บ้าง เช่นร่วมกับ Dexcom ในการทำให้เครื่องตรวจน้ำตาลกลูโคสในเส้นเลือดของผู้ป่วยที่ต้องตรวจตลอดเวลา มีขนาดที่เล็กลง รวมถึงปรับปรุงการส่งข้อมูลให้ดีขึ้นด้วย

อนึ่ง รายงานชิ้นดังกล่าวระบุว่าในปี 2013 Andy Conrad ผู้บริหารของ Verily เคยบอกกับการประชุมทีมของ Tricoder ว่า ถ้าไอเดียทำได้จริงและรักษาโรคมะเร็งได้จริง จะได้ทริปไปเที่ยวฮาวายพร้อมอยู่ที่บ้านพักอันหรูหราของเขาด้วย แต่ก็ไม่เคยมีใครได้รางวัลนี้ไป

ที่มา - STAT

Blognone Jobs Premium