พบช่องโหว่ใน Google Chrome เปิดให้คัดลอกคอนเทนต์ที่ถอดรหัสจากตัวเบราว์เซอร์ออกมาได้

by nutmos
27 June 2016 - 08:50

พบบั๊กใหม่ของ Google Chrome ที่อนุญาตให้สามารถคัดลอกคอนเทนต์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังจาก Netflix, Amazon Prime หรือวิดีโอแบบ exclusive ของ YouTube ที่กำลังถอดรหัสเพื่อเล่นบนเบราว์เซอร์ให้ออกมาเป็นไฟล์ได้ ผ่านระบบ DRM (Digital Right Management: การจัดการลิขสิทธิ์ดิจิทัล) ใน Chrome ที่ชื่อว่า Widevine

David Livshits จาก Cyber Security Research Center ที่ Ben-Gurion University ในประเทศอิสราเอล และ Alexandra Mikiyuk จาก Telekom Innovation Laboratories ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนีเป็นผู้ค้นพบปัญหานี้

ตัว Widevine ใช้เป็นส่วนขยายของสื่อที่เข้ารหัสเพื่ออนุญาตให้โมดูลที่ถอดรหัสสื่อนั้นสามารถสื่อสารได้โดยตรงกับระบบที่ปกป้องคอนเทนต์โดยการเข้ารหัส เพื่อให้ส่งสื่อที่เข้ารหัสมาให้ได้ โดยตัว EME จะเป็นตัวเก็บ key หรือ license ที่แลกเปลี่ยนกันระหว่างระบบของผู้กระจายคอนเทนต์ กับ CDM ในเบราว์เซอร์ ซึ่งเมื่อเริ่มเล่นภาพยนตร์ที่ถูกเข้ารหัสไว้ CDM จะส่งคำขอ license ไปยังผู้กระจายคอนเทนต์ผ่านอินเตอร์เฟสของ EME และรับ license มาซึ่งจะอนุญาตให้ CDM ทำการถอดรหัสตัววิดีโอและส่งไปยังตัวเล่นวิดีโอของเบราว์เซอร์ได้

ปกติแล้วระบบ DRM ที่ดีจะต้องปกป้องข้อมูลที่ถูกถอดรหัสออกมาแล้วและอนุญาตให้สตรีมภายในเบราว์เซอร์ได้เท่านั้น แต่ช่องโหว่นี้ทำให้ระบบสามารถคัดลอกคอนเทนต์ไปได้ขณะที่กำลังสตรีม

นักวิจัยด้านความปลอดภัยบอกว่า ได้แจ้งเตือนบั๊กกับ Google ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่าบั๊กนี้แก้ได้ง่าย ๆ ด้วยการแพทซ์ Chrome

ส่วนฝั่ง Google นั้น โฆษกได้ตอบกลับอีเมลของ Wired โดยบอกว่ากำลังสอบสวนปัญหานี้อยู่ และปัญหานี้อาจไม่ได้เกิดเฉพาะ Chrome ด้วย แต่อาจเกิดกับเบราว์เซอร์อีกหลาย ๆ ตัวที่สร้างจากโค้ดโอเพ่นซอร์สของ Chromium และนักพัฒนาสามารถสร้างเบราว์เซอร์และใช้ CDM ที่แตกต่างกับของ Google ได้ ซึ่ง Wired ให้ความหมายเพิ่มเติมว่า ทางโฆษกกำลังหมายความว่าต่อให้ใส่โค้ดป้องกันไปสุดท้ายคนที่เอาโค้ดไปทำเบราว์เซอร์ของตัวเองถ้าเขาจะเอาออกก็เอาออกไปอยู่ดี และเกิดการขโมยคอนเทนต์ได้เช่นกัน

ส่วนนักวิจัยความบอกว่าบั๊กนี้ดูเหมือนจะเกิดขึ้นตั้งแต่ที่ Google ใช้ Widevine และจะต้องถูกแก้เพื่อป้องกันการขโมยคอนเทนต์ การที่ Google กล่าวเช่นนั้นก็ไม่ถูกเพราะเบราว์เซอร์อื่นอาจไม่ได้มีความปลอดภัยต่อการขโมยคอนเทนต์และได้รับการไว้วางใจเหมือนกับ Chrome ฉะนั้นจึงไม่สามารถใช้อ้างและเพิกเฉยต่อการแก้บั๊กได้

ที่มา - Wired, Engadget

Blognone Jobs Premium