สัมภาษณ์ KBank ตอบทุกคำถาม กับการโอนเงินผ่านระบบ PromptPay / Any ID

by mk
29 June 2016 - 16:52

ในรอบเดือนที่ผ่านมา บริการ PromtPay หรือ Any ID ที่ผลักดันโดยธนาคารในประเทศไทย ได้รับความสนใจอย่างมาก แต่ในรายละเอียดแล้ว เชื่อว่าหลายคนยังมีคำถามอีกมากว่าตอนใช้งานจริงจะเป็นอย่างไร

Blognone มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณศุภนีวรรณ จูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรงของการเปลี่ยนผ่านมาใช้ระบบ PromtPay ของธนาคารกสิกรไทย ซึ่งจะมาให้ความกระจ่างกับเราในเรื่องนี้ครับ

ที่มาที่ไปของ PromptPay

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้เงินสดทำธุรกรรมเยอะ การใช้เงินสดมีต้นทุนการบริหารจัดการมาก ตั้งแต่ค่าพิมพ์ธนบัตร ค่าขนย้าย ทุกอย่างมีต้นทุนหมด ดังนั้นในภาพรวม เราต้องขยับไปใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้น อันนี้เป็นสิ่งที่ธนาคารต่างๆ ธนาคารแห่งประเทศไทย และรัฐบาลเห็นตรงกัน

ฝั่งของผู้ประกอบการธนาคารเอง อยากให้คนมาใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว เมื่อรัฐบาลมีนโยบาย National E-payment ก็เลยไปด้วยกันได้ ข้อดีของธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากช่วยป้องกันเรื่องการฟอกเงินในระดับชาติแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายย่อยด้วย เพราะธนาคารเห็นปริมาณธุรกรรมทั้งหมด ก็สามารถให้กู้ได้ง่ายขึ้น

แผนการ National E-payment มีหลายส่วน เช่น การใช้บัตรชิปการ์ด อันนี้เป็นเรื่องของการจ่ายเงิน นอกจากตัวบัตรแล้ว รัฐบาลยังอยากให้ร้านค้าติดตั้งเครื่องรูดบัตร หรือที่เรียกรวมๆ ว่า EDC (Electronic Data Capture) ให้มากขึ้น โดยพยายามลดค่าธรรมเนียมการรูดบัตรลง เพื่อกระตุ้นให้คนใช้จ่ายผ่านบัตรกันมากขึ้น

ส่วนเรื่อง Any ID หรือ PromptPay เป็นเรื่องการโอนเงินโดยเฉพาะ

คุณศุภนีวรรณ จูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

ตกลงแล้ว PromptPay คืออะไรกันแน่

PromptPay คือวิธีการโอนแบบใหม่ที่ง่ายขึ้น แทนที่จะใช้เบอร์บัญชีแบบเดิม ก็ผูกเบอร์บัญชีไว้กับ 1) เลขประจำตัวประชาชน หรือ 2) เบอร์โทรศัพท์ แทน เวลาโอนก็อ้างอิงด้วยเลขเหล่านี้แทนเลขบัญชี เงินโอนก็จะไปเข้าบัญชีที่ผูกไว้ (เลือกได้ว่าจะผูกกับเลขประจำตัวประชาชน หรือโทรศัพท์ หรือทั้งคู่)

ตอนที่เราใช้งานจริงผ่าน ATM หรือเว็บ/แอพ จะเห็นเมนู "พร้อมเพย์" เพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งเมนู ส่วนเมนูโอนเงินแบบเดิมก็ยังอยู่ สามารถเลือกใช้ได้ทั้ง 2 แบบตามที่ลูกค้าสะดวก ถ้าคนที่โอนให้มีพร้อมเพย์แล้วก็ใช้พร้อมเพย์ได้เลย แต่ถ้าปลายทางยังไม่มี จะโอนแบบเดิมก็ได้เช่นกัน

ตัวอย่างหน้าจอตู้ ATM ที่มีเมนู "พร้อมเพย์"

ธนาคารกสิกรไทย มีช่องทางที่เปิดให้โอนเงินแบบ PromptPay ทั้งหมด 3 ช่องทางคือ ATM, Cyber Banking และ Mobile Banking ส่วนสาขาเรายังไม่รองรับในช่วงแรก เพราะต้องการให้คนย้ายไปใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์แทนการไปสาขา

เราจะได้ใช้ PromptPay กันเมื่อไร

ต้องย้ำว่าช่วงแรกจะยังใช้ได้เฉพาะการโอนเงินระหว่างบุคคลไปยังบุคคลเท่านั้น ยังไม่รองรับบัญชีนิติบุคคล และยังไม่รองรับการรับโอนเงินสวัสดิการต่างๆ จากภาครัฐ

ส่วนช่วงเวลาจะเป็นดังนี้

  • เปิดให้ลงทะเบียน ผูกบัญชีกับ PromptPay ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้
  • เริ่มโอนผ่าน PromptPay ได้จริงในเดือนตุลาคม ยังไม่ระบุวันที่ ให้รอประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

การลงทะเบียน PromptPay สามารถทำได้ 4 ช่องทาง

  • ที่สาขา เอกสารที่ต้องใช้คือ 1) บัตรประชาชนตัวจริง 2) สมุดบัญชี และ 3) โทรศัพท์มือถือ ในกรณีที่ต้องการผูกกับเบอร์มือถือด้วย แต่ถ้าจะผูกกับเลขประจำตัวประชาชนอย่างเดียวก็ไม่ต้องใช้
  • ตู้ ATM ต้องใช้ 1) เลขประจำตัวประชาชน 2) บัตร ATM และ 3) โทรศัพท์มือถือ ในกรณีที่ต้องการผูกกับเบอร์มือถือด้วย
  • Cyber Banking ล็อกอินเข้าไปแล้ว กรอกเลขประจำตัวประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือ
  • Mobile Banking วิธีนี้ง่ายที่สุด เพราะมีข้อมูลทุกอย่างพร้อมแล้ว ให้กดยืนยันการใช้ PromptPay จากในแอพได้เลย

ในกรณีที่เราต้องการผูกบัญชีธนาคารกับเบอร์มือถือ จะต้องยืนยันความเป็นเจ้าของเบอร์ผ่าน OTP ด้วย การไปลงทะเบียนที่สาขา เจ้าหน้าที่จะส่ง OTP มาเข้าเครื่องเราตอนนั้นเลย แล้วขอรหัส OTP ไปกรอกยืนยัน ส่วนการลงทะเบียนที่ตู้ ATM ก็จะมี OTP ส่งเข้ามาทันทีตอนที่เรายืนอยู่หน้าตู้

การลงทะเบียนไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และไม่มีกำหนดปิดรับลงทะเบียน สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป

หน้าจอสมัครบริการ PromptPay ผ่านตู้ ATM

หน้าจอสมัครบริการ PromptPay ผ่าน K-Mobile

ผูกบัญชีได้มากน้อยแค่ไหน

กรณีที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน สามารถผูกได้แค่บัญชีเดียวเท่านั้น

กรณีที่ผูกกับเบอร์มือถือ บัญชีธนาคาร 1 บัญชี สามารถผูกกับเบอร์โทรศัพท์ได้สูงสุด 3 เบอร์ ถ้ามีหลายบัญชีก็คูณ 3 ตามจำนวนบัญชีที่มี (เช่น มี 10 บัญชี ผูกได้กับ 30 เบอร์) ในตอนนี้ ธนาคารยังไม่จำกัดจำนวนเบอร์โทรศัพท์ทั้งหมดที่สามารถผูกได้กับลูกค้าหนึ่งคน

การรักษาความเป็นส่วนตัว

แน่นอนว่า PromptPay ช่วยให้การโอนเงินระหว่างบุคคลสะดวกขึ้น แต่การใช้งานขึ้นอยู่กับลูกค้าว่าสะดวกใจให้ข้อมูลส่วนตัวอย่างเบอร์มือถือ หรือเลขบัตรประชาชนกับคนแปลกหน้าหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ธนาคารมองว่าเป็น choice ของลูกค้า แต่ละคนคงมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน เช่น ถ้าเป็นบัญชีส่วนตัวใช้เฉพาะครอบครัวหรือคนสนิทจริงๆ คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเป็นเบอร์ที่รับเงินจากคนแปลกหน้าหรือลูกค้าอีกที ก็คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ส่วนประเด็นว่าเลขบัญชีธนาคาร นำไปผูกกับข้อมูลส่วนบุคคลอื่นอย่างเลขประจำตัวประชาชนหรือเบอร์มือถือ ต้องอธิบายว่าระบบการทำงานของ PrompPay จะมีบริษัทกลาง ITMX มีหน้าที่เก็บว่าเลขประจำตัวประชาชนกับเบอร์มือถือไหน อยู่กับธนาคารใด (ข้อมูลนี้ใช้ตอนโอน) แต่ ITMX จะไม่ทราบว่าผูกกับบัญชีใด ซึ่งตรงนั้นเป็นเรื่องที่ธนาคารแต่ละรายไปบริหารจัดการกันเอง

ค่าธรรมเนียม มีข้อจำกัดอะไรไหม

ค่าธรรมเนียมที่ประกาศออกมาคือ ต่ำกว่า 5,000 บาท โอนฟรี อันนี้ธนาคารยืนยันว่าโอนได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง สมมติจะโอนเงิน 15,000 บาท ไม่อยากเสียค่าธรรมเนียม จะซอยเป็นโอน 3 ครั้ง ครั้งละ 5,000 บาทก็ทำได้แน่นอน

ตอนนี้ไม่จำกัดจำนวนครั้งในการโอนต่อวัน แต่ลิมิตจำนวนเงินรวมที่โอนได้ต่อวัน ขอดูพฤติกรรมการใช้งานก่อนว่ามีปัญหาเรื่อง fraud มากน้อยแค่ไหน

เมื่อ PromptPay ใช้งานร่วมกับเบอร์มือถือ ส่งผลให้ธนาคารต้องร่วมมือกับโอเปอเรเตอร์อย่างใกล้ชิดเพื่อคุ้มครองลูกค้าจากปัญหาเหล่านี้

ตัวอย่าง E-Slip ของการโอนเงินด้วย PromptPay

ธนาคารจะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมการโอนเงินลดลง ส่งผลกระทบแค่ไหน

ต้องยอมรับว่าธนาคารจะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมการโอนน้อยลงจริง แต่ถือเป็นการลงทุนช่วยเปลี่ยนผ่านให้ประเทศไทยย้ายไปใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์เร็วขึ้น ถ้าเป็นไปตามแผนคือคนใช้เงินสดลดลง ธนาคารมีต้นทุนการดูแลเงินสดลดลงในระยะยาว ก็ถือว่าคุ้มค่า

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านไม่ง่ายเพราะขึ้นกับพฤติกรรมคน อย่างก่อนหน้านี้คนพูดกันว่า Mobile Banking จะมาแทนการใช้บริการที่สาขา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือปริมาณการใช้ Mobile Banking เติบโตมาก แต่ปริมาณการใช้งานสาขาก็ไม่ลดลงเช่นกัน เป็นเพราะลูกค้าบางกลุ่มมีพฤติกรรมเลือกโอนเงินหลายรูปแบบ เช่น โอนเงินจำนวนน้อยๆ โอนผ่านมือถือ เยอะขึ้นมาหน่อยเลือกไป ATM และถ้าโอนเยอะๆ อยากได้ความอุ่นใจ อยากเห็นหน้าคนจริงๆ ก็เลือกไปสาขา แบบนี้ก็มี

คำแนะนำจากธนาคารต่อคนที่จะใช้ PromptPay

ขอให้เลือกธนาคารที่จะใช้งานก่อน ว่าเราสะดวกใช้ธนาคารไหน ขอให้ผูกกับบัญชีที่ใช้งานบ่อยๆ

ต่อมาคือขอให้ลูกค้าเจ้าของบัญชี เลือกผูกบัญชีกับเบอร์ให้ตรงกับความต้องการ เช่น ผูกบัญชีส่วนตัวกับเบอร์ส่วนตัว ผูกบัญชีรับเงินกับเบอร์ที่ใช้ในการค้า เพราะถ้ามีบัญชีเยอะๆ มันจะงงว่าบัญชีไหนผูกกับเบอร์ไหน

ตอนที่โอนจริง ในเมนู PromptPay จะให้ใส่เลขประจำตัวประชาชนหรือเบอร์มือถือก่อน จากนั้นจะแสดงชื่อของผู้รับโอนขึ้นมาบนหน้าจอ ขอให้ตรวจสอบให้มั่นใจว่าโอนถูกคน เป็นชื่อที่ใช่จริงๆ เพราะถ้าโอนผิดไปแล้ว การทวงกลับมานั้นยากมาก

สุดท้ายคือถ้าเกิดในอนาคตเปลี่ยนเบอร์มือถือ เช่น ขายต่อหรือยกให้คนอื่นใช้งานแทน ขอให้ไปยกเลิกข้อมูล PromptPay กับธนาคารด้วย เจ้าของเบอร์คนใหม่จะได้ไม่มีปัญหายุ่งยากตรงนี้

Blognone Jobs Premium