เรียกได้ว่าเมื่อวานนี้เป็นกระแสฮือฮากันอย่างมากสำหรับเกมที่แฟนรอคอยอย่าง Pokemon Go หลังจากมีข่าวออกมาว่า Niantic Labs เปิดให้ผู้เล่นในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่นเล่นก่อนออกมาในช่วงเช้า
ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนักที่หลังจากมีข่าวออกมา ทั้งผู้ใช้แอนดรอยด์และ iOS จะพยายามหามาเล่นจนได้ ทั้งสมัคร Apple ID ของออสเตรเลียบ้าง หรือหาไฟล์ APK มาติดตั้งกันเองบ้าง จนทำให้ในช่วงเย็นบ้านเรา Niantic Labs ต้องออกมาล็อกโซนให้สามารถเล่นได้เฉพาะในพื้นที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เท่านั้น ทำเอาแฟนๆ น้ำตาตกกันไป
ผมยังพอมีโอกาสได้เล่นอยู่บ้าง เลยเอามาฝากคนที่ไม่ทันได้เล่นเท่าที่จะทำได้ครับ
หากคนที่เคยเล่น Ingress ก็น่าจะคุ้นเคยและทำความเข้าใจเกมนี้ได้เลย แต่สำหรับคนที่เพิ่งเล่น Pokemon Go เกมนี้จะอิงอยู่กับแผนที่ โดยพอร์ทัลในเกมทั้ง PokeStop และยิมจะอิงอยู่กับตำแหน่งของสถานที่จริงต่างอย่างป้าย สถานีรถไฟฟ้า น้ำพุเป็นต้น ซึ่งก็อาจจะมีคลาดเคลื่อนและไม่ตรงตามตำแหน่งจริงบ้าง
เมื่อเข้าเกมมา ผู้เล่นจะได้รับการทักทายและแนะนำเข้าสู่โลกโปเกมอนในแพทเทิร์นที่คุ้นเคยโดย Prof. Willow (ยังคงเป็นชื่อต้นไม้) ก่อนที่เราจะได้เลือกเพศตัวละคร แต่งตัวและตั้งชื่อ และเมื่อเข้าเกม จะมีโปเกมอนเริ่มต้น (starter) คลาสสิคทั้ง 3 ตัวมารอให้เราเลือกจับแล้ว
โปเกมอนในแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันไป และสุ่มเกิดเรื่อยๆ เมื่อมีโปเกมอนเกิดในในรัศมีของผู้เล่น ตัวเกมจะสั่นแจ้งเตือนว่ามีโปเกมอนอยู่ใกล้ๆ การจับเพียงแค่เราโยนโปเกบอลไปให้โดนโปเกมอนด้วยการลากนิ้วเท่านั้น แต่ความยากอยู่ตรงการโยนนี้ จะขึ้นอยู่กับแรงและทิศทางของนิ้วที่เราลากด้วย (คล้ายๆ กับการเล่นเกมโยนก้อนกระดาษลงถังขยะ) ขณะที่โปเกมอนก็สามารถปัดป้องลูกบอลที่เราโยนไปได้เช่นกัน
กราฟฟิคที่เห็นนี้ ผมปิดโหมด Augmented Reality เพราะไม่อยากเปิดกล้องแล้วถือโทรศัพท์หันหน้าไปมา แต่หากไม่ปิด ตัวโปเกมอนที่เราเห็นก็จะลอยอยู่ในสภาพแวดล้อมจริงผ่านทางกล้องหลังของโทรศัพท์
เมื่อจับโปเกมอนได้ สิ่งที่ผู้เล่นจะได้คือ EXP. สำหรับอัพเลเวลตัวละคร, Stardust สำหรับเพิ่ม CP หรือ Combat Point ของโปเกมอน และ Pokemon Candy ของโปเกมอนตัวนั้นๆ ซึ่งแต่ละตัวจะมี Candy เป็นของตัวเอง เอาไว้สำหรับการพัฒนาร่าง
อย่างที่กล่าวไปข้างบนว่าการพัฒนาร่างของโปเกมอนนั้นต้องใช้ Candy และโปเกมอนแต่ละตัวก็จะมี Candy เป็นของตัวเอง ดังนั้นการจะพัฒนาร่างโปเกมอนตัวหนึ่งๆ เราจะต้องจับโปเกมอนตัวนั้นๆ ซ้ำให้ได้เยอะ และการเปลี่ยนจากตัวโปเกมอนเป็นแคนดี้ ผู้เล่นจะต้องส่ง (transfer) โปเกมอนตัวนั้นๆ ไปให้กับ Prof. Willow ซึ่งตัวเลือกจะอยู่ข้างใต้หน้าข้อมูลของโปเกมอน
อย่างตัวป๊อปโปะ (Pidgey) ต้องใช้ Pidgey Candy 12 ชิ้นในการพัฒนาร่าง และผมสามารถส่งป๊อปโปะตัวนี้ไปให้ Prof. Willow เพื่อแลกกับ Pidgey Candy (ตัวละ 1-3 ชิ้น)
เมื่อได้ Candy ครบแล้วก็กด Evolve เลย หน้าอินเทอร์เฟสตอนเปลี่ยนร่างแทบจะไม่แตกต่างจากในเกมบนอุปกรณ์ Nintendo
เท่าที่ผมเล่นทัน ไอเท็มที่มีในเกมหลักๆ ก็คือโปเกบอล, Incense หรือกำยานสำหรับเพิ่มโอกาสเกิดโปเกมอนรอบตัวมากขึ้น, Potion สำหรับเพิ่มเลือดโปเกมอนระหว่างแบทเทิล และ Revive สำหรับชุบชีวิตโปเกมอนที่แพ้แบทเทิล ซึ่งไม่ทราบเหมือนกันว่าระบบแบทเทิลในเกมนี้ รองรับการติดความผิดปกติต่างๆ อย่างพิษ นอนหลับหรือแผลพุพอง รวมทั้งมีไอเท็มแก้อย่างในเกมหรือไม่
ขณะที่ไอเท็มที่ขายใน Shop โดยแลกจากเงินจริงก็มีเช่นกัน
ใน Pokemon Go จะมีพอร์ทัลหรือ "เสา" ถ้าเรียกกันตามฉบับคนที่เคยเล่น Ingress อยู่ 2 เสาคือ PokeStop และยิม โดย PokeStop จะปรากฎเป็นกล่องสีฟ้าอยู่บนแผนที่ ซึ่งหากผู้เล่นเดินเข้าใกล้พอก็จะเปลี่ยนเป็นสีม่วง และผู้เล่นจะได้โปเกบอลหรืออาจจะมีไข่ติดมาด้วยบางครั้ง จากการหมุน badge ของ Pokestop ที่เป็นรูปสถานที่นั้นๆ
ส่วนยิมจะเป็นเหมือนเวทีขนาดใหญ่อยู่บนแผนที่ ผู้เล่นจะสามารถแบทเทิลและประจำการยิมต่างๆ ได้เมื่อเลเวล 5 ขึ้นไปแล้ว โดยยิมสีขาวคือยิมที่ยังไม่มีคนครอง ส่วนที่มีสีคือยิมที่มีหัวหน้ายิมประจำการอยู่แล้ว ซึ่งตัวผมไม่ทันได้เล่นในส่วนของแบทเทิลและยิมตรงนี้ (เลเวล 5 ปุ๊บ โดนบล็อกโซนปั๊บ)
ส่วนสีของยิม ขึ้นอยู่กับทีมที่ผู้เล่นเลือกตอนกดเข้ายิมครั้งแรกเมื่อเลเวล 5 จากปากคำของเพื่อนสนิทที่ทันเล่น ผู้เล่นจะต้องเลือกเข้าเป็นสมาชิกของทีมจากทั้งหมด 3 ทีมแบ่งเป็น 3 สีคือแดง เหลืองและน้ำเงิน ส่วนการแบทเทิลนี้ผมไม่แน่ใจว่าเกมบังคับให้แบทเทิลได้เฉพาะกับทีมอื่นเท่านั้นหรือไม่ หากใครทันคอมเมนท์กันไว้ด้านล่างได้เลยครับ
เนื่องจากผมไม่ทันได้เล่นช่วงแบทเทิล เลยขอใช้คลิปช่วงแบทเทิลที่มีผู้เล่นในต่างประเทศทำไว้แทนครับ