Fictionlog แพลตฟอร์มนักเขียน และนักอ่านนิยายออนไลน์เปิดตัวอย่างเป็นทางการวันนี้ภายใต้คอนเซปต์ "Unleash Your Imagination" ให้นักอ่านสนับสนุนนักเขียนโดยตรงผ่านการเติมเงิน ประกาศจุดยืนนักเขียนต้องมีส่วนแบ่งรายได้มากขึ้น และให้ลิขสิทธิ์ผลงานเป็นของนักเขียนทั้งหมด
Fictionlog อยู่ในเครือเดียวกันกับ Storylog ผู้ก่อตั้งคนเดียวกันคือ เปรมวิชช์ สีห์ชาติวงษ์ ในงานเปิดตัว นาย เปรมวิชช์ ระบุว่า Storylog เป็นพื้นที่แบ่งปันประสบการณ์ ส่วน Fictionlog เป็นแพลตฟอร์มเขียน และขายนิยาย อ่านได้บทต่อบท ไม่ต้องรอจบเล่ม
ส่วนเหตุผลที่ขยาย Storylog มาสู่ Fictionlog เป็นเพราะมองเห็นปัญหาที่นักเขียนไม่รู้จะลงผลงานที่ไหน หนังสือในตลาดไม่ตรงกลุ่มคนอ่านมากนัก จึงเปิด Storylog เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มกลาง ที่นักอ่านและนักเขียนได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
ตัวเว็บไซต์เปิดทดลองมาได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยมีนักเขียนมาร่วมเขียนในโปรเจกต์ Fictionlog Original Series เช่นเรื่อง "กานต์รัก" เขียนโดย เกรียงไกร วชิรธรรมพร (ปิง ผู้กำกับซีรี่ส์ฮอร์โมน) "เถื่อนแปด" สารคดีโดย วรรณสิงห์ ประเสิรฐกุล (นักเขียน) "วินาทีไร้น้ำหนัก" วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ (บก.นิตยสาร GM) เป็นต้น
ซ้ายไปขวา อินทิรา เจริญปุระ พิธีกร, วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ (บก.นิตยสาร GM), เกรียงไกร วชิรธรรมพร (ปิง ผู้กำกับซีรี่ส์ฮอร์โมน), วรรณสิงห์ ประเสิรฐกุล และ เปรมวิชช์ สีห์ชาติวงษ์
วิธีการหารายได้ให้นักเขียนรวมถึงตัวแพลตฟอร์ม ใช้วิธีเติมเงิน คล้ายการเติมเงินในเกม หรือเติมเงินซื้อสติกเกอร์ไลน์ คือทางเว็บไซต์จะให้ผู้อ่านอ่านฟรีในบทแรก เป็นการทดลองอ่าน บทที่ 2 เป็นต้นไปต้องใช้เหรียญเงิน ซึ่งทางเว็บไซต์จะแจกเหรียญเงินให้ผู้อ่านที่เข้ามาทุกๆ 12 ชั่วโมง ส่วนจะขายนิยายได้เป็นเงินจริงๆ ตั้งแต่บทที่ 6 ขึ้นไป ถ้าคนอ่านเห็นว่านิยายเรื่องนี้สนุก อยากอ่านต่อก็ต้องจ่ายเพื่อจะได้อ่าน ราคาอยู่ที่บทละ 3 - 9 บาท โดย 100 เหรียญทองในระบบ มีค่าเท่ากับ 1 บาท โดยนักเขียนตั้งราคาผลงานตัวเองได้ ตั้งแต่ 300-900 เหรียญทอง ซึ่งเท่ากับ 3-9 บาท นั่นเอง
นักเขียนจะได้รายได้ 50% จากยอดเหรียญ ส่วนค่าดำเนินการ Purchase in App เป็นธุระของ Fictionlog ทั้งหมด และเมื่อคำนวณจำนวนผู้อ่าน ก็จะเป็นไปตามชาร์จด้านล่าง อย่างน้อยถ้ามีคนซื้อสัก 500 คน คูณจำนวนบทสมมติว่าเป็น 55 บท คิดอัตรา 6 บาท/บท หักเปอร์เซนต์แล้วนักเขียนจะได้เงิน 75,000 บาท
ในงานเปิดตัวมีเสวนาหัวข้อ โอกาสใหม่ของวงการนวนิยายไทยในยุค UCG (User Generated Content) ที่ทุกคนสามารถเป็นผู้สร้างคอนเทนต์ของตัวเองได้ และดังได้ด้วย ซึ่งนายเปรมวิชชญ์ยกตัวอย่างนิยายเรื่อง The Martian ก่อนจะมาเป็นหนังเข้าชิงออสการ์ก็เป็นนิยายเขียนให้อ่านฟรีบนออนไลน์มาก่อน นอกจากนี้ยังมีสถิติตลาด E-Book ในสหรัฐฯ ปี 2014 มีหนังสือที่ผลิตขายเองโดยไม่ผ่านตัวกลาง 31% และยอดขายจาก Kindle 40% เป็นหนังสือเขียนเองขายเอง
ซ้ายไปขวา อินทิรา เจริญปุระ พิธีกร, ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงษ์, นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ และ เปรมวิชช์ สีห์ชาติวงษ์
ด้านณัฐวุฒิ พึงเจริญพงษ์ CEO Ookbee (เข้าซื้อหุ้น Storylog ไปก่อนหน้านี้) หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาระบุว่า คนที่อ่านหนังสือและอีบุ๊กเป็นคนอายุ 30+ ที่อ่านกระดาษมาก่อน ส่วนอายุน้อยๆ จะชอบอ่านตามออนไลน์ และคอนเทนต์ การ์ตูน นิยาย ใน Ookbee ที่ขายดีที่สุดมียอดอ่านหลายล้าน คนเขียนเป็นคนธรรมดา ในขณะที่หนังสือขายดีตามร้านอาจจะขายได้หมื่นเล่ม แสนเล่ม นี่คืออนาคตที่จะเกิดขึ้น เราจึงไม่ควรหยุดเดินเพียงแค่นี้ แม้ที่ผ่านมา Ookbee จะมียอดการใช้งานเติบโต ถึง 700% ก็ตาม
นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บก.สำนักข่าวออนไลน์ The Momentum บอกว่า โลกกลับไปเริ่มที่คุณภาพคอนเทนต์ ในขณะที่ตัวกลางจะเปลี่ยนรูปแบบไป การจัดอันดับหนังสือดีที่ควรอ่านจะหมดไป คอนเทนต์หลากหลายมากขึ้น ไม่มีใครมาผูกขาดรสนิยมคนได้อีกแล้ว เส้นทางความสำเร็จนักเขียนจะไม่ใช่การประกวดนิยาย แต่เป็นเสียงตอบรับจากผู้อ่านที่ชื่นชอบผลงานของเราผ่านเว็บไซต์