วันนี้ ไมโครซอฟท์ปล่อยอัพเดตใหญ่ของ Windows 10 ตัวที่สอง โดยใช้ชื่อว่า Windows 10 Anniversary Update (ออกในโอกาสครบรอบ 1 ปี Windows 10) และถือเป็นผลงานสำคัญตามแผน Windows as a Service ของไมโครซอฟท์ ที่เปลี่ยนรอบการออก Windows จากการออกทุกสามปี มาเป็นการออกปีละ 1-2 ครั้งแทน
คำถามที่หลายคนสงสัยคงเป็นว่าใช้งาน Anniversary Update แล้วเป็นอย่างไร ในฐานะที่ผมใช้งาน Windows Insider แบบ Fast Ring มาตลอดในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา (ทดสอบบน Surface 3) ก็จะมารีวิวของใหม่ของ Anniversary Update ให้ดูเพื่อประกอบการตัดสินใจครับ
Windows 10 Anniversary Update มีฟีเจอร์ใหม่เยอะมาก (และส่วนใหญ่ Blognone ก็เคยเสนอข่าวของแต่ละฟีเจอร์ไปแล้ว) ถ้าคัดเฉพาะฟีเจอร์ใหญ่ๆ เด่นๆ ก็สามารถแยกย่อยได้ดังนี้ครับ
เมื่ออัพเกรดเป็น Anniversary Update สิ่งแรกที่ทุกคนต้องเจอคือ Start Menu ปรับปรุงใหม่เล็กน้อย โดยย้ายปุ่มควบคุมระบบ พวกปุ่ม Settings, Power จากเดิมอยู่ด้านล่างของ pane ฝั่งซ้ายมือ ไปแยกไว้ที่ขอบด้านซ้ายมือแทน
สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือไมโครซอฟท์รวมหน้า Most used apps กับหน้า All apps เข้าด้วยกัน แล้วสามารถ scroll เลื่อนขึ้นลงได้ (ของเดิมต้องกด All apps แยกเข้าไปอีกทีจึงจะเห็นหน้ารายชื่อแอพทั้งหมด) ข้อดีคือการเข้าถึงแอพที่เราไม่ได้ปักหมุดไว้นั้นง่ายขึ้นมาก คือกดปุ่ม Start แล้วเอาเมาส์เลื่อนๆ หาได้เลย
ในกรณีที่เราใช้งานบนแท็บเล็ตหรืออุปกรณ์จอสัมผัส แล้วเปิด Tablet Mode ด้วย หน้าตาของ Start Menu/Start Screen แบบใหม่ยิ่งเปลี่ยนไปเยอะ คือใช้อินเทอร์เฟซแบบแท็บแทน หน้าจอแรกที่เปิดขึ้นมาจะเป็น Live Tiles อย่างเดียว แต่เมื่อต้องการดูรายการแอพทั้งหมด ก็กดปุ่มรายการแอพตรงมุมซ้ายบน หน้ารายการแอพทั้งหมดจะถูกแสดงขึ้นมาตามตัวอักษรเลย
ผมคิดว่าการปรับหน้าจอ Start Menu ครั้งนี้ ถึงแม้เป็นการเปลี่ยนเล็ก เปลี่ยนไม่เยอะนัก แต่เห็นผลเยอะ แรกๆ อาจไม่คุ้น แต่ใช้ไปสักพัก พอคุ้นเคยแล้วก็จะรู้สึกว่ามันเป็นธรรมชาติกว่ากันมาก
ใน Windows 10 รุ่นแรก ไมโครซอฟท์ใส่ Action Center ซึ่งมีสถานะเป็นถาดแสดงข้อความแจ้งเตือนเพิ่มเข้ามาด้วย ตามธรรมเนียมของระบบปฏิบัติการสมัยใหม่ที่ต้องยุ่งกับการแจ้งเตือนจำนวนมาก
พอมาถึง Windows 10 Anniversary Update ตัว Action Center ถูกยกระดับความสำคัญขึ้น และพัฒนาฟีเจอร์ขึ้นหลายจุด
อย่างแรกเลยคือตำแหน่งของไอคอน Action Center ถูกย้ายมาอยู่มุมขวาล่างสุดของหน้าจอ เพื่อให้เป็นตำแหน่ง hot corner กดเพื่อ trigger แสดงการแจ้งเตือนขึ้นมาได้ง่ายขึ้น
หน้าตาของ Action Center ก็เปลี่ยนไปเล็กน้อย จากภาพจะเห็นว่าเรามีการแจ้งเตือนแบบมีภาพประกอบ (เหมือนของ Android) ได้แล้ว เพียงแต่แอพยังต้องรองรับด้วย และปัจจุบันยังมีไม่เยอะนัก นอกจากนี้ ในแอพแชทบางตัว เราสามารถตอบข้อความได้จากหน้าจอแจ้งเตือนเลย ไม่จำเป็นต้องเปิดแอพขึ้นมาด้วยซ้ำ
เท่านั้นยังไม่พอ Action Center รุ่นล่าสุด สามารถดึงข้อความแจ้งเตือนจากอุปกรณ์ Android มาแสดงบน Windows 10 ได้ด้วย (จากภาพจะเห็นการแจ้งเตือนหมวด Samsung SM-N920C ที่ผมดึงมาจาก Android) ตรงนี้รูปแบบจะคล้ายกับการผนวกกันของ OS X กับ iOS ที่แอปเปิลทำมาก่อน
ใครอยากลองเล่น ต้องติดตั้ง Cortana for Android ก่อน ซึ่งปัจจุบันใช้ได้เฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น (อยู่เมืองไทยต้องดาวน์โหลด APK กันเอง) เมื่อติดตั้งแล้วใน Cortana จะมีให้ตั้งค่าว่าต้องการซิงก์ข้อความแจ้งเตือนจาก Android ไปยัง Windows 10 หรือไม่ โดยสามารถกำหนดค่าได้ละเอียดแยกเป็นรายแอพเลย
ฟีเจอร์นี้ออกแบบมาสำหรับอุปกรณ์แท็บเล็ตมีปากกา (โดยเฉพาะพวก Surface) แต่ถ้าไม่มีปากกาก็สามารถเปิดมาใช้งานได้เช่นกัน ถ้าสังเกตดีๆ ใน system tray จะมีไอคอนรูปปากกาเพิ่มเข้ามา เมื่อเรากดแล้วจะเห็นแถบ sidebar เพิ่มเข้ามาดังภาพ
Windows Ink Workspace ช่วยให้เราใช้งานปากกากับ Windows 10 ได้ง่ายขึ้น โดยมีแอพของไมโครซอฟท์ให้ใช้งาน 3 ตัว ได้แก่
เรามาดูฟีเจอร์ของแต่ละตัวไล่กันไปนะครับ อันแรกคือ Sticky Notes แอพจดโน้ตแบบง่ายๆ ที่มีมานานแล้วตั้งแต่สมัย Windows 7 แต่การกลับมาคราวนี้ มันรองรับการจดโน้ตด้วยปากกา ราวกับการเขียนโน้ต post-it จริงๆ
แต่เท่านั้นยังไม่พอ ลายมือที่เราเขียนลงไปในโน้ตจะถูกแปลงเป็นข้อความ และถูกอ่านเพื่อหาความหมาย ข้อความไหนที่ Sticky Notes อ่านออก มันจะกลายเป็นสีน้ำเงิน เราสามารถคลิกที่ข้อความนั้นเพื่อดำเนินการต่างๆ ได้
ตัวอย่างที่ไมโครซอฟท์นำมาโชว์บ่อยๆ คือเขียนวันที่เพื่อสั่งให้แจ้งเตือน reminder โดยจะลงเป็นนัดหมายในแอพปฏิทินของ Windows และแจ้งเตือนผ่าน Cortana อีกที
อีกท่านึงที่ผมลองแล้วใช้ได้คือ เขียนหมายเลขเที่ยวบิน (flight number) ลงในโน้ต แล้วเราสามารถคลิกดูได้ว่าไฟลท์นั้นมาตรงเวลาหรือไม่ เหมาะสำหรับใช้เวลาจะต้องไปรับใครที่สนามบิน จดหมายเลขเที่ยวบินลงโน้ตแล้วมาดูทีหลังได้เลยว่าไฟลท์มาถึงหรือยัง
ส่วนฟีเจอร์ Sketchpad กับ Screen Sketch นี่เหมือนกันเกือบหมด ขอเขียนถึงรวมกันไปเลยนะครับ แอพ Sketchpad เป็นแอพวาดรูปด้วยปากกาแบบง่ายๆ มีปากกาให้เลือกหลายสีหลายแบบ มีไม้บรรทัดให้ขีดเส้นตรงบนหน้าจอได้ง่าย (น่าจะเป็นอะไรที่ว้าวสุดของ Anniversary Update ในสายตาผม) เขียนเสร็จแล้วสั่งเซฟหรือแชร์ต่อได้เลย เหมาะสำหรับการจดไอเดียด้วยปากกาบน Surface มาก
ถ้าเราเปิดแอพ Sketchpad ขึ้นมาครั้งแรกจะเห็นภาพวาดตัวอย่างที่ไมโครซอฟท์สาธิตให้ดู จากนั้นสามารถตั้งค่าได้ว่าให้เปิดหน้ากระดาษเปล่าๆ มาพร้อมวาดได้เลย ส่วน Screen Sketch จะเพิ่มมาอีกนิดคือแคปหน้าจอ ณ ขณะนั้นมาให้เราพร้อมสรรพ เพื่อให้เราวาดหรือเขียนโน้ตบนภาพหน้าจอนั้นอีกทีหนึ่ง (เจอแบบนี้เข้าไป แอพพวกจับภาพหน้าจอแล้วใส่โน้ต ก็เริ่มหมดความสำคัญลงไป)
ที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์พยายามผลักดันให้คนใช้ Cortana กันเยอะๆ แต่ก็ยังไม่ค่อยสำเร็จ เหตุผลหนึ่งเพราะ Cortana เองก็ไม่เก่งเท่าไรนัก พอมาถึงเวอร์ชันนี้ Cortana เก่งขึ้นมาก รู้จักข้อมูลหลากหลายประเภทขึ้น (ทั้งที่ให้มันเรียนรู้เอง และเราต้องใส่เพิ่มเข้าไปเอง) สามารถแสดงข้อมูลร้านอาหาร ที่จอดรถ การเดินทาง ฯลฯ ได้มากขึ้นแล้ว
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจคือ Cortana สามารถสั่ง Find My Phone ได้แล้ว สามารถพูดคำว่า Find My Phone แล้ว Cortana จะใช้เวลาสักพักค้นหามือถือของเรา จากนั้นแสดงบน Action Center ให้ดู
Microsoft Edge เป็นเบราว์เซอร์ที่มาแรง แต่เหตุผลที่หลายคนยังไม่ใช่งานเป็นเพราะมันยังไม่รองรับส่วนขยาย (extension) ซึ่งปัญหานี้ถูกแก้ไขแล้วใน Anniversary Update
วิธีการดาวน์โหลด extension สามารถทำได้ผ่าน Windows Store อินเทอร์เฟซเดียวเลย และ extension ที่ติดตั้งแล้วจะถูกแสดงที่ด้านบนของเมนูของ Edge (แบบเดียวกับของ Chrome) ในแง่การใช้งานแทบไม่มีอะไรแตกต่างจาก Chrome
ตอนนี้ extension ยอดฮิตหลายๆ ตัวก็มีบน Edge แล้ว เช่น Bing Translate, Evernote, OneNote, AdBlock/AdBlock Plus, LastPass เป็นต้น
การที่ Edge รองรับส่วนขยายในระดับหนึ่งแล้ว ช่วยอุดจุดอ่อนสำคัญของ Edge เมื่อเทียบกับเบราว์เซอร์ตัวอื่นๆ ลงไปได้มาก มาถึงตอนนี้ผมคิดว่าฟีเจอร์สำคัญที่ Edge ยังไม่มีคือการซิงก์แท็บข้ามเครื่องเท่านั้น
ฟีเจอร์เล็กๆ อีกอันที่น่าสนใจคือโหมดธีมสีมืด (dark theme) ที่กดปุ่มเดียวในหน้าจอ Personalize แล้วเปลี่ยน Windows 10 เป็นสีดำๆ เข้มๆ ได้เลย อย่างไรก็ตาม แอพบางตัวของไมโครซอฟท์ก็ยังไม่รองรับ (เช่น File Explorer) และที่น่าแปลกคือ Edge ก็มีธีมสีมืดแต่ต้องเปิดใช้เองจากหน้าจอตั้งค่าของ Edge ไม่สามารถกดทีเดียวในหน้าจอตั้งค่าของ Windows ได้
ฟีเจอร์นี้คงแล้วแต่คนชอบ ใครที่ไม่ใช้ก็คงไม่สนใจเลย ส่วนคนที่ชอบแบบนี้ก็คงชอบมากๆ ไปเลย
ข่าวช็อควงการประจำปีคงหนีไม่พ้น Bash on Windows หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ Bash on Ubuntu on Windows ซึ่งฝังลินุกซ์ Ubuntu บางส่วนมาไว้ใน Windows และสามารถสั่งงานได้ผ่าน bash shell เลย
ฟีเจอร์นี้ยังมีสถานะเป็นรุ่นทดลอง และต้องติดตั้งเพิ่มเติมเอาเองจาก Windows 10 Anniversary Update ซึ่งก็ทำได้ไม่ยาก ขั้นตอนคือ
รายละเอียดดูได้จาก MSDN
ผมเพิ่งลองทดสอบ Bash on Windows ได้วันเดียว ยังไม่ได้ลองเล่นอะไรมาก พบว่าข้อมูลในไดรฟ์ C ของ Windows จะถูกเมาท์เข้าไปที่ /mnt/c โดยอัตโนมัติ ส่วน root ของระบบก็จะแยกกันต่างหากไปเลยครับ
ทั้งหมดนี้คือการรีวิวฟีเจอร์เด่นๆ ของ Windows 10 Anniversary Update แต่จริงๆ แล้วยังมีฟีเจอร์ยิบย่อยอีกมาก (เช่น นาฬิกาใน system tray กดแล้วแสดงนัดหมายจากแอพปฏิทินเพิ่มมาด้วย) อันนี้คงไม่กล่าวถึงในที่นี้ และขอให้ทุกท่านไปลองค้นพบกันเอง
หลังจากที่ผมใช้งาน Windows 10 Anniversary Update ผ่านช่องทาง Insider มาได้สักพักใหญ่ๆ ก็พบว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี และช่วยให้แพลตฟอร์ม Windows 10 มีความสามารถน่าใช้มากขึ้น อะไรที่เคยขัดๆ เกินๆ ก็ลงตัวมากขึ้น ส่วนในแง่บั๊กที่พบ ช่วงหลังที่ Insider เริ่มนิ่งพอสมควร ก็ไม่ได้เจอบั๊กอะไรร้ายแรงอีกแล้ว (สมัยแรกๆ มีบั๊กถึงขนาดหมุนหน้าจอในแนวตั้งไม่ได้)
พูดง่ายๆ ว่าในด้านบวก มีของใหม่เยอะ และในด้านลบก็ไม่มีอะไรให้ติมากนัก ใครที่คิดจะอัพเกรดระบบ ถ้าไม่ติดปัญหาบั๊กเฉพาะรุ่นของฮาร์ดแวร์ ก็น่าจะอัพเกรดกันได้เลยทันที
โดยสรุปต้องบอกว่า ไมโครซอฟท์ทำได้ตามที่สัญญาเรื่อง Windows as a Service ที่จะอัพเดตปีละ 1-2 ครั้ง โดยรับฟังความเห็นจากชุมชนผ่านแอพ Feedback Hub ผลคือรอบครึ่งปีที่ผ่านมา เราเห็น Windows 10 พัฒนาขึ้นกว่าเดิมมาก และน่าสนใจว่าในระยะยาวแล้ว ถ้าไมโครซอฟท์มีนโยบายแบบนี้ (ออกบ่อยๆ และรับฟังความเห็นเยอะๆ) เราจะได้เห็น Windows 10 พัฒนาไปถึงขนาดไหน