เว็บไซต์นิตยสาร Fast Company เผยแพร่บทสัมภาษณ์ Jessica Carbino นักสังคมวิทยาที่ปัจจุบันทำงานให้กับ Tinder โดยสอบถามถึงบทบาทของนักสังคมวิทยากับการทำงานร่วมกับบริษัทไอที (ความเห็นส่วนตัว: แนะนำให้นักศึกษาหรือนิสิตด้านสังคมวิทยาอ่านเป็นอย่างยิ่ง) รวมถึงคำแนะนำต่างๆ เกี่ยวกับการใช้งาน Tinder ให้ได้คู่รู้ใจชีวิต
Carbino ระบุว่าเธอจบปริญญาเอกจาก UCLA ในสาขาสังคมวิทยา และบทบาทของเธอในบริษัทคือการนำเอาระเบียบและวิธีการทางด้านสังคมวิทยาและการวิจัยทางสังคม เข้ามาปรับใช้ ซึ่งในท้ายที่สุดจะมีผลต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอนาคต โดยเธอยกตัวอย่างการวิจัยภายในล่าสุด ที่ใช้รูปจากโปรไฟล์ผู้ใช้ของ Tinder ในสหรัฐอเมริกากว่า 12,000 รูป นำมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวโน้มและประวัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าใจว่าผู้คนพยายามจะนำเสนอตัวเองอย่างไรบนแพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้
เธอระบุว่า แนวทางการใช้ Tinder แตกต่างออกไปตามแต่ละสังคมอย่างชัดเจน ในกรณีของประเทศกลุ่มเอเชีย การใช้ Tinder โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการหาเพื่อนมากกว่าการใช้หาคู่จริงๆ แบบในยุโรป ละตินอเมริกา หรือในสหรัฐอเมริกา เมื่อเป็นเช่นนี้ผลิตภัณฑ์หลายตัวจึงต้องออกแบบมาให้สามารถปรับใช้กับทุกๆ สังคมที่มีผู้ใช้ Tinder ใช้บริการอยู่
สิ่งที่เธอพบจากการทำสำรวจภายในบริษัท ระบุว่าผู้ใช้กว่าร้อยละ 80 (ไม่ได้เปิดเผย sample/demographic size) มุ่งหาความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนในระยะยาว มากกว่าที่จะเป็นความสัมพันธ์เพียงชั่วคราวเท่านั้น ผลการสำรวจนี้สวนทางกับความเชื่อในสาธารณะที่ระบุว่า Tinder เป็นเพียงแอพเพื่อหาความสนุกเพียงชั่วข้ามคืนเท่านั้น เธอยังระบุว่า Tinder เอาเข้ามาเป็นเหมือนสื่อกลางและสถาบันทางสังคมแห่งใหม่ ที่ทำให้การหาคู่ในสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่แนวทางแบบเดิมๆ เริ่มมีปัญหา
Carbino ได้ทิ้งเคล็ดลับในการหาคู่บนแพลตฟอร์ม Tinder ซึ่งได้มาจากการสำรวจและทำวิจัยภายในเอาไว้ดังนี้
อนึ่ง ในปัจจุบัน บริษัทสายเทคโนโลยีรายใหญ่จำนวนหนึ่งได้ว่าจ้างนักสังคมวิทยาเข้าทำงานในแผนกวิจัยของบริษัท เพื่อให้นักสังคมวิทยาเหล่านี้เข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวเองและรับฟังความเห็นจากผู้ใช้งาน ตัวอย่างเช่น danah boyd (ชื่อของเธอสะกดด้วยตัวเล็กทั้งหมด) ที่ปัจจุบันทำงานที่ Microsoft Research และถือเป็นนักสังคมวิทยา รวมถึงนักทฤษฏีที่สำคัญเกี่ยวกับสื่อสังคมออนไลน์ด้วย
ที่มา - Fast Company