Google ยื่นขอจดสิทธิบัตรการเชื่อมต่ออุปกรณ์เครื่องใช้เครื่องเรือนต่างๆ ภายในบ้านเข้ากับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ซึ่งอาจเป็นอุปกรณ์พกพาอย่างโทรศัพท์มือถือ) เพื่อทำการรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์เรื่องสุขภาพของผู้อยู่อาศัยภายในบ้าน
เนื้อหาสำคัญของคำขอจดสิทธิบัตรนี้ไม่ใช่เรื่องทางเทคนิคว่าทำอย่างไรให้เครื่องใช้ภายในบ้านมีสภาพเป็นเซ็นเซอร์เก็บข้อมูลเกี่ยวกับร่างกายคนได้ หากแต่ Google กำลังขอจดสิทธิบัตรในแง่ความแปลกใหม่ของระบบทั้งระบบที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวข้องกับสุขภาพผู้อยู่อาศัยในบ้านจากสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวผู้ใช้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการตั้งใจวัดโดยเฉพาะ
ตัวอย่างเช่นในบริเวณห้องน้ำ เครื่องใช้และของตกแต่งไม่ว่าจะเป็นกระจกเงาในห้องน้ำซึ่งอาจมีการติดตั้งเซ็นเซอร์วัดสี จะช่วยทำให้รู้ได้ว่าผู้ใช้มีอาการตัวซีดหรือสีผิวผิดปกติหรือไม่ หรืออย่างพรมปูพื้นห้องที่มีเซ็นเซอร์วัดแรงกดก็ช่วยบอกน้ำหนักร่างกาย ส่วนอ่างอาบน้ำที่ปล่อยคลื่นเหนือเสียงออกมา ก็จะสามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจได้ และตัวอย่างที่โดดเด่นคือแนวคิดการสร้างโถชักโครกที่มีเซ็นเซอร์ตรวจวัดคลื่นและสัญญาณต่างๆ ของร่างกาย ทั้งชีพจร, ความดันโลหิต, ปริมาณออกซิเจนในร่างกาย, อุณหภูมิร่างกาย และค่าอื่นๆ ที่วัดได้จากการใช้เซ็นเซอร์สัมผัสกับผิวหนังร่างกายโดยตรง
ตัวอย่างข้างต้นที่ว่ามาเป็นแนวทางที่ Google ยกขึ้นมาประกอบการอธิบายแนวคิดของคำขอจดสิทธิบัตรฉบับนี้ การที่ Google เลือกใช้วิธีการดึงข้อมูลจากเซ็นเซอร์หรืออุปกรณ์เก็บข้อมูลในเครื่องใช้เครื่องเรือนภายในบ้าน เป็นแนวทางที่จะสามารถรวบรวมข้อมูลได้โดยที่ผู้ใช้เพียงแต่ทำกิจกรรมต่างๆ ดำเนินกิจวัตรไปตามปกติ ไม่จำเป็นที่ผู้ใช้จะต้องตั้งใจติดเซ็นเซอร์หรือเอาอุปกรณ์มาวัด
แนวคิดของ Google คือข้อมูลที่ได้จากบรรดาเซ็นเซอร์สารพัดรูปแบบในบ้านนี้จะคอยเก็บค่าส่งให้ระบบบันทึกข้อมูลเพื่อแสดงแนวโน้มค่าต่างๆ ของร่างกาย และสามารถแจ้งเตือนผู้ใช้อัตโนมัติในช่วงที่ค่าใดค่าหนึ่ง (เช่น ความดันโลหิต, ชีพจร, อุณหภูมิร่างกาย เป็นต้น) เกินกว่าระดับปกติของคนสุขภาพดี หรือมีแนวโน้มที่บ่งบอกถึงความผิดปกติ เพื่อเตือนให้ผู้ใช้เข้าพบแพทย์หรือเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม
ถือเป็นอีกมิติหนึ่งของแนวคิดการพัฒนาบ้านอัจฉริยะ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีไอทีเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพ
ที่มา - Android Headlines, ข้อมูลสิทธิบัตรจาก FPO