เป็นที่ทราบกันก่อนหน้านี้แล้ว ว่าการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดบางชนิด เช่น rhinovirus, influenza virus และ respiratory syncytial virus ทำให้อาการถุงลมโป่งพอง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD) กำเริบมากขึ้น โดยมีความรุนแรง และระยะเวลาที่ยาวนานกว่าสาเหตุที่ทำให้กำเริบชนิดอื่น ๆ และก็ยังทำให้อาการของไข้หวัดในคนสูบบุหรี่ที่ยังแข็งแรงดี มีอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป แต่ก็ยังไม่มีคำอธิบายของสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จนกระทั่งทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Yale ได้ค้นพบสาเหตุของปรากฏการณ์ดังกล่าว
การทดลองทำในหนูทดลอง โดยเปรียบเทียบปริมาณของโมเลกุลที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบขึ้นในร่างกาย พบว่าในหนูที่ได้รับควันบุหรี่ 2 มวน/วัน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ มีการเพิ่มขึ้นของโมเลกุลที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันที่เฉพาะเจาะจงกับการติดเชื้อไวรัส และโมเลกุลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคถุงลมโป่งพอง ทำให้ร่างกายมีการกระตุ้นกลไกการอักเสบของทางเดินหายใจมากกว่าหนูที่ไม่ได้รับควันบุหรี่
การวิจัยนี้จึงเป็นการวิจัยแรกที่ให้คำอธิบายยืนยันในระดับโมเลกุลสำหรับอาการหวัดที่รุนแรงมากขึ้นสำหรับคนสูบบุหรี่ และการเกิดโรคถุงลมโป่งพอง ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางการป้องกันรักษาโรคที่เกิดจากควันบุหรี่ต่อไป
แต่ก็อย่าลืมวิธีที่ง่ายที่สุดคือการหยุดสูบบุหรี่ และการให้คนรอบข้างหยุดสูบบุหรี่ครับ
ที่มา
eurekalert, Journal of Clinical Investigation (full article)