อีกด้านของ TEDxBangkok กับสิ่งเล็กๆ ที่ทำให้ความน่าสนใจของงานลดลงได้โดยไม่รู้ตัว

by BlackMiracle
25 August 2016 - 16:11

เมื่อวันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ สยามสแควร์วัน มีงาน TEDxBangkok ถูกจัดขึ้น งานนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างล้นหลาม เราเห็นกระแสในสื่อสังคมออนไลน์แรงมาก ส่วนใหญ่บอกไปในทางเดียวกันว่า “ปีหน้าต้องไปดูสดให้ได้”

ถึงกระนั้น ผู้เขียนขอนำเสนอเรื่องราวอีกด้านของงานที่ประสบด้วยตนเอง และบางส่วนเป็นคำบอกเล่าจากคุณพ่อของผมที่ไปร่วมงานมา

งาน TEDxBangkok เป็นงานสัมมนาที่ได้รับลิขสิทธิ์มาจาก TED Conferences, LLC ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งสถานะของงาน TED Conference โดยปกติถือเป็นงานสำหรับ “ไฮโซ” หรือที่บางคนอาจจะเรียกว่า “elite” (อีลีท) นั่นเอง เพราะค่าเข้าแพงมาก

สำหรับงาน TED 2017 – The Future You ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 24-28 เมษายนปีหน้า เปิดจำหน่ายบัตรปกติราคา 8,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.94 แสนบาท (จำหน่ายหมดแล้ว) โดยเป็นงานต่อเนื่อง 5 วัน จัดที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ตลอดงานนอกจากการพูดยาว 18 นาทีในแต่ละเซสชัน จะมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่นการจัดแสดงเทคโนโลยีต่างๆ, อาหารเครื่องดื่ม, งานปาร์ตี้ หรือแม้กระทั่งกิจกรรมโยคะตอนเช้า

นอกจากนี้ยังมีบัตรแบบ Donor ราคา 17,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.87 แสนบาท) ที่จะได้รับสิทธิพิเศษมากขึ้น เช่นได้เลือกที่นั่งก่อน, มีบริการจองที่นั่ง หรือบริการจองห้องโรงแรม และบัตรแบบแพงสุดชื่อ Patron ราคา 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.18 ล้านบาท) อันนี้จะได้รับสิทธิ์เข้าร่วมงาน TED ยาว 5 ปี และได้รับสิทธิพิเศษเต็มที่

คำว่า TED ย่อมาจาก Technology, Entertainment, Design ซึ่งเป็นหัวข้อหรือธีมหลักของงานในยุคแรกตั้งแต่ปี 1990 แต่หลังจากนั้นก็ขยายมาครอบคลุมหัวข้ออื่นด้วย เช่นวิทยาศาสตร์, การศึกษา และวัฒนธรรม ซึ่งในอดีตมีผู้พูด หรือที่เรียกว่า speaker ชื่อดังมากมาย เช่น Bill Clinton นักการเมืองสหรัฐฯ, Bill Gates ผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟท์, Jimmy Wales ผู้ร่วมก่อตั้ง Wikipedia หรือแม้กระทั่ง Larry Page และ Sergey Brin ผู้ก่อตั้งกูเกิล ก็เคยผ่านเวที TED มาแล้วทั้งสิ้น

อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ Bill Clinton บนเวที TED เมื่อปี 2007 || ภาพโดย advencap

แม้ค่าเข้าร่วมงานจะแพงมาก แต่การพูดกว่า 2,200 เซสชัน หรือที่เรียกว่า TED Talks ก็ถูกอัดวิดีโอไว้และเปิดให้คนทั่วไปเข้ารับชมย้อนหลังได้ฟรีทั้งหมด

เมื่อชื่อเสียงของงาน TED เริ่มแพร่กระจายออกไป ก็มีผู้ชื่นชอบทั่วโลกอยากจัดงานแนวนี้บ้าง จึงเป็นที่มาของ TEDx ในลักษณะการขอลิขสิทธิ์มาเพื่อจัดงานเองในเมืองต่างๆ ทั่วโลก เช่น TEDxMünchen ที่เยอรมนี หรือ TEDxHyderabad ที่อินเดีย

ในประเทศไทยเคยจัด TEDx ขึ้นหลายครั้งแล้ว โดยครั้งใหญ่เคยมีที่จังหวัดเชียงใหม่ และหลายปีก่อนก็เคยมี TEDxBKK ซึ่งเป็น TEDx ครั้งแรกในกรุงเทพมหานคร แต่งานที่ถือว่าเป็นงานใหญ่คือ TEDxBangkok เกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2558 โดยอาสาสมัครหลายท่าน และทีมงานของสองงานนี้ไม่เกี่ยวข้องกัน

พิเชษฐ กลั่นชื่น หนึ่งในผู้พูดจากงาน TEDxBangkok ปี 2558

บัตรเข้าร่วมงาน TEDxBangkok มี 2 ประเภท คือ บัตรราคา 1,500 บาทสำหรับบัตรปกติ และราคา 3,000 บาทสำหรับบัตร Angel Ticket ที่จะนำสิทธิ์เข้าชม 1 สิทธิ์ไปมอบให้กับบุคคลที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคม

ทีมงานอาสาสมัครเบื้องหลัง TEDxBangkok มีประสบการณ์การจัดงานมาแล้วถึง 2 ครั้ง ผู้เขียนพบว่าก็ยังมีการทำอะไรแปลกๆ ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น จะเขียนแยกเป็นข้อๆ

ไม่เปิดเผยรายชื่อผู้พูดก่อนขายบัตร

ข้อนี้ผู้เขียนคิดว่าเป็นไอเดียที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง โดยผู้จัดงานบอกว่าไม่ต้องการให้ผู้ฟังยึดติดกับตัวผู้พูด, อาชีพ และสถานะทางสังคมของผู้พูด เนื่องจากต้องการโน้มน้าวให้ผู้ฟังเชื่อว่าความรู้และไอเดียที่ดีสามารถมาจากใครก็ได้ ตามสโลแกนของ TED ที่ว่า Ideas Worth Spreading

ผู้เขียนคิดว่าสโลแกนนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์อย่างนั้น เพราะ TEDxBangkok ไม่เปิดเผยแม้กระทั่งรายชื่อหัวข้อที่จะพูดในงาน หากแต่ชูเพียงคอนเซ็ปต์ LEARN, UNLEARN, RELEARN ซึ่งไม่ได้ช่วยในการตัดสินใจจ่ายเงินค่าบัตรแม้แต่น้อย ลองคิดดูว่าหากงานนี้ไม่มีชื่อ TED จะสามารถทำแบบนี้ได้หรือ

การไม่เปิดเผยรายชื่อผู้พูด จึงเป็นเหมือนการโฆษณาชวนเชื่อว่าผู้ฟังจะได้รับ “สิ่งที่เป็นประโยชน์” โดยที่ผู้ฟังไม่ทราบรายละเอียดใดๆ เลย และต้องเสี่ยงนำเงิน 1,500 หรือ 3,000 บาทไปพนันไว้กับทีมเตรียมเนื้อหา หรือ curator ว่าพวกเขาจะทำหน้าที่ได้ดี และนำเนื้อหาที่ถูกใจเรามานำเสนอได้หรือไม่

การกระทำเช่นนี้เปรียบเหมือนกับการสั่งสินค้าล่วงหน้า หรือ "พรีออเดอร์" ที่คนขายชักชวนให้สั่งรองเท้าสักคู่ พร้อมโฆษณาว่าเป็นรองเท้าที่ใส่สบาย และดีไซน์สวยงาม แต่คนซื้อไม่มีโอกาสได้เห็นสินค้าก่อนเลย

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนอยากให้เปิดเผยรายชื่อผู้พูดในงานครั้งต่อไป พร้อมทั้งรายการหัวข้อที่จะพูด เพื่อที่จะได้เป็นการเปิดโอกาสให้คนที่อยากไปจริงๆ ได้เข้าร่วมงาน ส่วนคนที่ “เฉยๆ” กับหัวข้อและ/หรือผู้พูด ก็สามารถรับชมการถ่ายทอดสดอยู่ที่บ้านได้ ทั้งสองทางสามารถรับเนื้อหาได้อย่างเท่าเทียมกัน และยังคงคอนเซ็ปต์ Ideas Worth Spreading ไว้ได้ครบถ้วน

หากเข้าไปดูเว็บไซต์ TEDx ของที่อื่น เช่น TEDxStuttgart และ TEDxBerlin ทั้งสองที่ได้ประกาศรายชื่อผู้พูดไว้อย่างชัดเจน และไม่เห็นจะเป็นผลร้ายแต่อย่างใด

ถึงแม้งาน TED หลัก อย่าง TED 2017 – The Future You จะไม่เปิดเผยรายชื่อผู้พูด แต่บนเว็บไซต์ก็มีคำโปรยให้ผู้คนได้รับรู้ว่าจะมีเรื่องราวเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์, จิตวิทยา, การแพทย์, สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ฯลฯ แต่ TEDxBangkok กลับไม่เปิดเผยอะไรเลย นอกจากวันเวลา และสถานที่

คำถามคัดคนเข้าร่วมงาน ที่ดูเผินๆ เหมือนจะดี แต่อาจทำให้ผู้สมัครหมดความสนใจไปเลย

เนื่องจากงานนี้เป็นที่สนใจจากผู้คนหลากหลาย ทำให้ไม่สามารถขายบัตรให้ทุกคนได้ และไม่ต้องการใช้วิธีมาก่อนได้ก่อน หรือ first-come, first-served ทาง TED เลยมีวิธีการ “คัดคน” เข้าร่วมงานโดยการให้ตอบคำถามชุดหนึ่ง ส่วนใหญ่ก็เป็นการขอให้เล่าเกี่ยวกับตัวผู้สมัครว่าเป็นใคร ทำอาชีพอะไร มีอะไรอยากบอกทีมงาน ฯลฯ ทีมงานจะอ่านคำตอบจากผู้สมัครทุกคน และตัดสินว่าใครมีสิทธิ์ซื้อบัตรเข้างาน

ระหว่างที่ผู้เขียนกำลังอ่านแบบฟอร์มผ่านๆ อยู่นั้นก็ได้สะดุดกับคำถามหนึ่งข้อ ผมจำคำถามเป๊ะๆ ไม่ได้ แต่ถามประมาณว่า “คุณได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรไปแล้วบ้าง?” เนื่องจากผู้เขียนเป็นเพียงคนธรรมดาๆ ที่เพิ่งเรียนจบ ไม่เคยได้รับรางวัลอะไร ชีวิตไม่ได้มีกิจกรรมอะไรที่แปลกแตกต่างจากคนอื่น เพียงแต่สนใจเข้าร่วมงานเท่านั้น เลยลองคิดดูว่า “อืม เราเคยสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างเนี่ย” และพบว่าคิดไม่ออก

คำถามนี้สร้างความรู้สึกแปลกๆ ขึ้นในใจ ว่าการที่เราไม่เคยสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไร ทำให้เราไม่สามารถเข้าร่วมงานได้เชียวหรือ ผมมองว่ามันเป็นการสร้าง “กำแพง” ขึ้นระหว่างผู้สมัครและผู้จัดงาน ด้วยคำถามที่ดูดี แต่กลับกลายเป็นการขับไสผู้สนใจไปเสียอย่างนั้น ผมจึงเลื่อนเมาส์ไปกดปิดหน้าเว็บ TEDxBangkok และไม่คิดจะกลับไปสมัครอีก อันนี้เป็นอีกข้อที่ผู้จัดงานควรระมัดระวังและใส่ใจกับการตั้งคำถามมากกว่านี้

ขู่ให้จ่ายเงินให้เสร็จภายใน 15 นาที

เมื่อคุณพ่อผมตอบคำถามได้ และได้รับเลือกให้เข้าร่วมงาน ก็ได้รับอีเมลหนึ่งฉบับเป็นลิงค์ให้เข้าไปจ่ายเงินที่เว็บไซต์ Eventpop เมื่อเข้ามาถึงหน้าจ่ายเงิน ก็พบกับกล่องสีชมพูแสบตาดึงความสนใจของผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี ในกล่องเป็นนาฬิกานับถอยหลัง 15 นาที พร้อมกับข้อความ “ขู่” ว่าให้จ่ายเงินให้เรียบร้อยก่อนหมดเวลา มิฉะนั้นจะปล่อยตั๋วให้คนอื่น

การกระทำแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น นี่คืองานสัมมนาธรรมดาๆ ไม่ใช่การแย่งซื้อตั๋วเครื่องบินราคาถูก ไม่ว่าไอเดียการใส่นาฬิกานับถอยหลังแบบนี้จะเป็นของใคร (ทีมงาน TEDxBangkok หรือ Eventpop) ผู้ใช้ไม่สนใจหรอกครับเพราะคุณเป็นพาร์ทเนอร์กัน สิ่งที่ผู้ใช้สนใจคือ “ทำไมฉันต้องโดนขู่แบบนี้ด้วย” คุณพ่อผมรู้สึกไม่พอใจ และตัดสินใจไม่จ่ายเงิน

อย่างไรก็ตาม พวกเราพบว่านาฬิกานับถอยหลังนั้นเป็นแค่การ “หลอก” ผู้ใช้ให้รีบจ่ายเงิน เพราะมาลองเข้าลิงค์จ่ายเงินดังกล่าวในภายหลังก็ยังจ่ายได้เหมือนเดิม ไม่ได้ปล่อยบัตรให้คนอื่นตามที่บอกไว้แต่อย่างใด สุดท้ายคุณพ่อผมก็ตัดสินใจจ่ายเงิน เพราะอยากไปร่วมงาน และชอบ TED ของฝรั่งมานานแล้ว

คิดค่าบริการหยุมหยิม

ความน่าผิดหวังกับระบบชำระเงินยังไม่หมดเพียงแค่นั้น แต่เรายังเจอการเก็บค่าบริการหยุมหยิมแบบไม่น่าจะมีหากคุณอยากทำตัวให้เป็นมืออาชีพ นอกจากค่าบัตรราคา 1,500 บาทแล้ว เรายังถูกเก็บเงิน “ค่าบริการ” ที่บนเว็บเขียนว่า “Service Fee” เป็นจำนวน 26.75 บาท และ “ค่าดำเนินการ” (Processing Fee) เป็นจำนวน 50.53 บาท รวมแล้วต้องจ่ายทั้งหมด 1,577.28 บาท

แน่นอนว่าเงินเกือบ 80 บาทที่เกินมาเราสามารถจ่ายได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรารู้สึกว่า “ทีมงานไม่แสดงความเป็นมืออาชีพ” และเลือกที่จะทำธุรกิจแบบสายการบินต้นทุนต่ำบางราย (ทั้งๆ ที่อยากจัดงานตามรอย TED ของฝรั่ง) ก่อให้เกิดความรำคาญกับผู้ซื้อ สู้คุณคิดค่าบัตรเข้าชมงานเป็นจำนวนเงิน 1,600 บาทไปเลยยังดีกว่า

นี่เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ความสนใจเข้าร่วมงานของเราลดลงไปพอสมควร

ให้ผู้เข้าร่วมงานนั่งรับประทานอาหารกับพื้น

เมื่อถึงวันงานกลับมีอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ผู้จัดงานน่าจะทำได้ดีกว่านี้ นั่นคือการให้ผู้เข้าร่วมงานนั่งรับประทานอาหารกับพื้น อย่าลืมว่ากว่าจะเข้าร่วมงานได้ต้องตอบคำถามแข่งกันก่อน ผู้สมัครมาจากหลากหลายอาชีพ บวกกับเก็บค่าเข้าร่วมงานสูงถึง 1,500 บาท จึงเป็นเรื่องของกาลเทศะที่ผู้จัดงานควรจัดหาสถานที่รับประทานอาหารให้เหมาะสมกว่านี้

ครั้งสุดท้ายที่ผู้เขียนนั่งกินข้าวกับพื้นน่าจะเป็นสมัยเข้าค่ายหรือไปทัศนศึกษาตอนมัธยมนะครับ หากสถานที่จัดงานไม่เอื้ออำนวยก็น่าจะหาสถานที่อื่นได้ไม่ยากนัก

โดยรวมแล้ว คุณพ่อผมชมผู้จัดว่าจัดงานได้ดี (ดีกว่าปีที่แล้วด้วย) ทีมงาน curator สรรหาผู้พูดมาได้น่าสนใจ ไม่ไหลไปกับกระแสสังคมที่มีคนจำนวนไม่น้อยเชิดชูคนเขียนคำคมที่เราก็รู้ว่าใคร และเชิญเขามาพูดในงาน รวมถึงก็ได้ข้อคิดและความรู้เพิ่มขึ้น (คนอื่นในงานจะสนใจเหมือนกันหรือไม่ก็ไม่ทราบ เพราะทุกคนก็ซื้อบัตรมาโดยไม่รู้อะไรเลย) ทำให้เหตุการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นกลายเป็นเพียง “เรื่องน่ารำคาญ” ไปแทน และไม่ใช่สิ่งที่จะนำมากล่าวโจมตีว่างานนี้จะแย่ไปเสียทุกอย่าง ซึ่งเรื่องน่ารำคาญเหล่านี้สามารถถูกปรับปรุงได้ในอนาคต (ทำไม่ยากด้วย) หากผู้จัดงานรับไปปฏิบัติ

สุดท้ายผู้เขียนขอชื่นชมอาสาสมัครทีมงาน TEDxBangkok ทุกคนที่ตั้งใจจัดงาน และขอให้นำปัญหาข้างต้นไปพิจารณาแก้ไขต่อไปครับ

อ้างอิง

Blognone Jobs Premium