พาชมห้องเรียนในอนาคต โดยโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ และฟูจิตสึ

by littletail
31 August 2016 - 09:41

เมื่อวันพุธที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม “ห้องเรียนอนาคต” ของโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม โดยความร่วมมือของบริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด ในงาน “Pilot Project of Future Classroom’s Fujitsu Learning Project of Tomorrow” ซึ่งจัดขึ้นที่โรงเรียนนั่นเอง

อันที่จริง “ห้องเรียนอนาคต” แห่งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2558 แล้วครับ งานนี้ก็เลยจะพูดถึงความร่วมมือของทั้งสององค์กร ในการประยุกต์นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการเรียนการสอนรายวิชาต่างๆ การดำเนินโครงการ ความคืบหน้าตลอด 1 ปี จนไปถึงสาธิตบรรยากาศของชั่วโมงเรียนที่เกิดขึ้นในห้องเรียนดังกล่าวอีกด้วย

คุณ Atsushi Saeki ผู้อำนวยการฝ่าย Educational Business Promotion ของฟูจิตสึ กล่าวถึงการดำเนินงานของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านการศึกษาในช่วงเวลาที่ผ่านมา

จุดเริ่มต้นของโครงการ

จุดเริ่มต้น มาจากคณะครูของโรงเรียนได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่โรงเรียนนำร่องของโครงการ “Fujitsu Learning Project of Tomorrow” ในประเทศญี่ปุ่น ตามคำเชิญชวนของฟูจิตสึ โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับศตวรรษที่ 21 โดยฟูจิตสึจะสนับสนุนโซลูชันด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้ ทางคณะเองเมื่อได้ไปเห็นบรรยากาศของการเรียนการสอนที่เป็นลักษณะแบบสองทาง คือระหว่างครู นักเรียน และระหว่างกัน ก็รู้สึกว่าน่าจะเอามาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์กับโรงเรียนของตนได้ จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้ โดยได้รับการสนับสนุนจากทั้งฟูจิตสึเอง และสมาคมผู้ปกครองและครูของโรงเรียน และได้จัดงานแถลงข่าวขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 ถือเป็นโรงเรียนนำร่องแห่งแรกของประเทศไทยและเอเชีย

โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ Fujitsu Learning Project of Tomorrow

ระบบที่ติดตั้งใช้งานในโครงการเป็นระบบสำหรับ 1 ห้องเรียน ประกอบด้วยแท็บเล็ตฟูจิตสึรุ่น ARROWS Tab Q555, ARROWS Tab Q704/H, ARROWS Tab Q584/H (เป็นแท็บเล็ตที่ใช้ในองค์กร) ทำงานร่วมกับเซิร์ฟเวอร์ฟูจิตสึ PRIMERGY TX120 S3 PC (เซิร์ฟเวอร์เฉพาะ แยกออกมาต่างหากจากที่โรงเรียนใช้) ติดตั้งและแปลเป็นภาษาไทยสำหรับระบบ Fujitsu Opinion Sharing System ให้ครูแสดงความคิดเห็นและตอบคำถามนักเรียนที่เข้ามาจากแท็บเล็ตได้ทันที และระบบสนับสนุนบทเรียน Learning Management System (รายละเอียดเพิ่มเติมอ่านได้ในข่าวประชาสัมพันธ์โครงการของเว็บไซต์ฟูจิตสึ ประเทศไทย)

มโนทัศน์ “ห้องเรียนอนาคต” ของฟูจิตสึ ในสถานการณ์ที่ครูสั่งงานกลุ่มให้นักเรียนทำในห้อง

การดำเนินโครงการตลอดระยะเวลา 1 ปี

ทางโรงเรียนมีสถิติปริมาณการใช้งานห้องเรียนอนาคตสรุปออกมาเป็นตาราง พบว่ามีอาจารย์หลายๆ ท่านทดลองนำเอาระบบมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนรายวิชาของตนเอง อาทิ

  • จัดเกมตอบคำถามแบบเกมเศรษฐี (คล้ายๆ กับระบบ clicker ที่ใช้กันตามมหาวิทยาลัย)
  • การเรียนเย็บปักถักร้อยก็ใช้ลักษณะของการอัพโหลดคลิปขึ้นไปบนเซิร์ฟเวอร์ แล้วให้เด็กแต่ละคนศึกษาวิธีการเย็บจากคลิป สามารถเลื่อนย้อนหลังได้เมื่อตามไม่ทัน มีประโยชน์ตรงที่เด็กๆ สามารถเรียนรู้ตามสปีดของตนเองได้ ครูก็มีหน้าที่เดินดูและให้ความช่วยเหลือเด็กที่ตามไม่ทัน
  • วิชานวัตกรรม นักเรียนวาดภาพสิ่งประดิษฐ์ของตนเองบนแท็บเล็ต แล้วแชร์ขึ้นโปรเจกเตอร์เพื่อนำเสนอและแบ่งปันความคิดกับนักเรียนคนอื่นๆ ในห้อง
  • วิชาคณิตศาสตร์ เรียนการพิสูจน์ทฤษฎีปีทาโกรัส โดยใช้เว็บไซต์วาดภาพจากสมการทางคณิตศาสตร์ผ่าน และถ่ายภาพหน้าจอส่งไปให้อาจารย์

นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังมีการจัด workshop เพื่อแบ่งปันเทคนิคการเรียนการสอนระหว่างครู รวบรวมฟีดแบคจากครูและนักเรียนให้กับทางบริษัท รวมทั้งได้มีโอกาสไปสัมมนา แลกเปลี่ยนความเห็นการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศร่วมกับโรงเรียนนำร่องที่ประเทศญี่ปุ่นด้วยครับ

อาจารย์อุไร วิจิตร รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ออกมาพูดถึงการดำเนินโครงการ Learning Project of Tomorrow ตลอดระยะเวลา 1 ปี

ห้องเรียนอนาคต

นอกเหนือจากงานแถลงข่าวแล้ว ทางโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ได้เชิญผู้ร่วมงานไปเยี่ยมชมการเรียนการสอนในห้องเรียนอนาคตด้วยครับ โดยจะสาธิตการสอนวิชา Digital Art ให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียน ในวิชานี้ ผู้เรียนจะต้องวาดภาพเหมือนจากภาพถ่ายโดยใช้เทคนิคการซ้อนเลเยอร์ด้วยโปรแกรม Adobe Illustrator สำหรับการเรียนในคาบนี้เป็นการเรียนครั้งที่สองในหัวข้อการวาดคิ้วและตา หลังจากคาบที่แล้วเรียนเรื่องการวาดโครงหน้า

เมื่อเข้ามาในห้องจะมีนักเรียน ครู และเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคประจำห้องซึ่งมีหน้าที่ดูแลการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ และให้ความช่วยเหลือยามฉุกเฉินได้ นักเรียนและครูจะได้แท็บเล็ตไปใช้งานกันคนละ 1 เครื่อง (เมื่อใช้เสร็จต้องส่งคืนห้องเรียนตามเดิม) และมีโปรเจกเตอร์ให้ใช้ในห้อง

บรรยากาศภายใน “ห้องเรียนอนาคต” ครูกำลังคอมเมนต์เปรียบเทียบงานรอบที่แล้ว (การวาดโครงหน้า) ของนักเรียนแต่ละคน ก่อนที่จะสอนการวาดตาและคิ้ว

พอเริ่มคลาส ครูก็เริ่มสอนพลางสาธิตการใช้โปรแกรม Chietama (Learning Repository) ซึ่งเป็นโปรแกรมหนึ่งที่ทางฟูจิตสึพัฒนาขึ้นสำหรับอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอน ความสามารถโดยรวมคือช่วยให้ครูและนักเรียนสามารถแบ่งปันคอนเทนต์ระหว่างกันผ่านแท็บเล็ต ผมเห็นการใช้งานหลายๆ อย่างทั้งจากในเอกสารและการสาธิตจริงแล้วประทับใจมาก

  • นักเรียนนำงานของตัวเองมาทำต่อจากครั้งที่แล้ว และสามารถบันทึกงานที่ทำไว้เข้าสู่ระบบได้สะดวก
  • ส่วนแท็บเล็ตของครูเก็บงานของเด็ก และเอกสารการเรียนการสอนโดยแบ่งหมวดหมู่ตามรายวิชาที่ตนสอน สามารถแชร์เอกสารต่างๆ เข้าแท็บเล็ตของนักเรียนได้
  • ครูสามารถติดตามการทำงานของนักเรียนแต่ละคนแบบเรียลไทม์ โดยมอนิเตอร์หน้าจอของนักเรียนทั้งห้อง และสามารถเข้าไปดูหน้าจอของนักเรียนแต่ละคนได้เลย
  • ครูสามารถนำผลงานของนักเรียนขึ้นหน้าจอโปรเจกเตอร์ และให้คอมเมนต์ในงานนั้นๆ ได้ผ่านการใช้ปากกาสไตลัส รวมถึงสามารถเปรียบเทียบผลงานของนักเรียนระหว่างกัน และเทียบงานครั้งที่แล้วได้อีกด้วย

ครูคอมเมนต์การวาดของนักเรียน อันนี้ผมเข้าใจว่าครูมอนิเตอร์หน้าจอนักเรียนขณะที่กำลังวาดรูปอยู่ แล้วคงไปเห็นการทำงานของเด็ก เลยเข้าไปดูงานและถ่ายภาพหน้าจอออกมาโชว์พร้อมกับให้คอมเมนต์

ประเด็นด้านอื่นๆ

ทางโรงเรียนและฟูจิตสึยังเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานซักถามเพิ่มเติมได้ โดยต่อไปนี้จะเป็นการสรุปรวบยอดประเด็นจากบางส่วนของการถาม-ตอบที่ผมสนใจ และจากที่ผมได้ไปสัมภาษณ์ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชัยศักดิ์ ชั่งใจ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม เพิ่มเติม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชัยศักดิ์ ชั่งใจ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

เตรียมแผนการสอนเพื่อใช้งานสารสนเทศอย่างไร และทำอย่างไรให้เด็กเข้าใจวิธีการใช้งาน

ในส่วนของนักเรียน ทางผู้บริหารให้ความเห็นว่าครูจะต้องมีความพร้อมในการใช้งานก่อน เมื่อครูพร้อมแล้ว การสอนเทคนิคเหล่านี้ให้นักเรียนก็ไม่ใช่เรื่องยาก

การเตรียมความพร้อมให้ครูในช่วงแรกๆ จะเป็นไปตามความสมัครใจ ส่วนใหญ่แล้วคนวัยหนุ่มสาวจะให้ความสนใจขอทดลองใช้ระบบก่อน หลังจากนั้นจะเป็นการอบรมการใช้งานในด้านเทคนิคต่างๆ โดยมีทีมงานคอยให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคให้ ซึ่งจะอบรมเฉพาะกระบวนการใช้งานเท่านั้น ครูมีอิสระในการนำเอาเทคนิคที่ได้เรียนรู้มาปรับใช้ในการเรียนการสอนของตนเอง

ในส่วนของแผนการสอนนั้นก็ใช้เป็นแผนการสอนตามปกติ อุปกรณ์แท็บเล็ตต่างๆ เป็นเพียงส่วนเสริมเพื่อเพิ่มเติมความสนุกสนานและอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอน

อุปสรรคในการใช้งานระบบ

  • ครูไม่รู้ว่าจะใช้งานระบบให้เข้ากับการเรียนการสอนได้อย่างไร ตรงนี้ท่านผู้อำนวยการโรงเรียนได้ยกเคสของวิชาคณิตศาสตร์ที่ครูในรายวิชาไม่กล้าใช้ ทาง ผอ. ซึ่งสอนวิชาคณิตศาสตร์อยู่แล้ว ท่านเลยเอามาใช้เป็นคนแรกด้วยการวาดเขียนบนกระดาษ แล้วใช้แท็บเล็ตถ่ายภาพและแชร์ให้เด็กๆ ดูเลย (ตรงนี้ท่าน ผอ. บอกเพิ่มเติมว่า เมื่อได้ไปคุยกับทางฟูจิตสึ จึงรู้ว่าเขามีโปรแกรม Chietama เพื่อใช้งานในลักษณะนี้ด้วย)
  • ครูหลายๆ ท่านกลัวการใช้งานเทคโนโลยี ในส่วนนี้ท่านอาจารย์อุไร ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าตอนแรกท่านเองก็ไม่กล้าใช้เหมือนกัน แต่เมื่อได้ลองใช้จริงๆ ก็ติดใจมาก
  • ตัว wireless network ในระบบเซิร์ฟเวอร์ยังจำกัดระยะทางอยู่ ผมถามเพิ่มเติมว่ามีอุปสรรคด้านการใช้งานเทคนิคอย่างไร ท่านก็ตอบว่าส่วนใหญ่แล้วจะมีปัญหาเน็ตล่ม แต่ทางโรงเรียนมีระบบเน็ตเวิร์คสำรองอยู่แล้วเลยไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่

โรงเรียนฝั่งประถมมีปัญหาในการใช้ห้องเรียนอนาคตหรือไม่

ท่าน ผอ. อธิบายว่าการบริหารงานของโรงเรียนในฝ่ายประถมและมัธยมนั้นแยกออกจากกัน เลยไม่สามารถให้คำตอบได้ชัดเจน แต่ท่านก็พอทราบมาว่าในเคสของเด็กประถมศึกษานั้นไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเด็กเคยชินกับการใช้แท็บเล็ตมาจากที่บ้านอยู่แล้ว และการทดลองใช้งานก็จำกัดอยู่ในช่วงประถมศึกษาตอนปลาย (ป.4 – 6) เท่านั้น

เปรียบเทียบกับโครงการ OTPC ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

เคยทดลองใช้แท็บเล็ตตามนโยบายแล้วพบปัญหาหลักๆ 2 ประการ คือในส่วนของของฮาร์ดแวร์ที่ยังไม่ตอบโจทย์การใช้งานในห้องเรียน และในส่วนของซอฟต์แวร์ที่ตายตัว ไม่สามารถแก้ไขหรือปรับแต่งเพิ่มเติมได้ เห็นว่าการใช้งานควรจะเป็นไปตามกับความต้องการของแต่ละโรงเรียน ซึ่งโครงการความร่วมมือกับฟูจิตสึตอบโจทย์ตรงส่วนนี้

แผนในอนาคตเกี่ยวกับการขยายโครงการไปยังโรงเรียนอื่นๆ

แผนในอนาคตอันใกล้จะเป็นการขยายการใช้งานให้ครอบคลุมในทุกรายวิชา และให้ใช้ระบบได้ทั่วทั้งโรงเรียนก่อน (ปัจจุบันมีให้ใช้งานได้ 1 ห้อง) หลังจากนั้นจะเริ่มขยายไปยังเครือข่ายกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งประเทศ และเมื่อขยายโครงการไปในระดับนั้นได้แล้ว แต่ละโรงเรียนจะขยายโครงการไปยังส่วนภูมิภาคต่อไป

แท็บเล็ตของฟูจิตสึ

ผมได้เข้าไปดูแท็บเล็ตฟูจิตสึที่ใช้ในโครงการหลังจากที่งานจบแล้ว แต่ไม่ได้ทดลองใช้งานโปรแกรมต่างๆ นะครับ แท็บเล็ตที่ได้ไปดูเป็นรุ่น Stylistic Q506 รันด้วยระบบปฏิบัติการ Windows ของไมโครซอฟท์ หน้าจอสามารถแยกออกจากเคสแป้นพิมพ์ได้ ตัวเครื่องแข็งแรงสามารถกันการกระแทกได้ มีปากกาสไตลัสให้ใช้งาน กล้องถ่ายภาพถูกย้ายมาอยู่บริเวณกึ่งกลางของแท็บเล็ตเพื่อให้นักเรียนสามารถถือถ่ายภาพบนกระดานได้สะดวก ไมโครโฟนอยู่ด้านบนของแท็บเล็ตเพื่อให้ตรงกับทิศทางการสอนหน้าชั้นของครู ทำให้สามารถบันทึกการสอนได้อย่างสะดวก เรียกได้ว่าออกแบบมาอย่างดี ส่วนสเปกภายในเพิ่มเติมคือ

  • หน้าจอขนาด 10.1 นิ้ว
  • โปรเซสเซอร์ Intel Atom x5-Z8550
  • RAM 4GB
  • ฮาร์ดดิสก์ความจุ 64GB หรือ 128GB
  • กล้องหลังความละเอียด 8 ล้านพิกเซล, กล้องหน้า 2 ล้านพิกเซล

สรุป

ในช่วงหนึ่งของการถาม-ตอบ ท่าน ผอ. โรงเรียนได้ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันเด็กๆ สามารถหาข้อมูลต่างๆ จากที่ไหนก็ได้ในโลก ดังนั้น โจทย์ที่สำคัญที่สุดของโรงเรียนอย่างหนึ่งคือจะทำอย่างไรให้เด็กรักการมาโรงเรียนมากขึ้น

ผมมองว่าโครงการที่นำเอาแท็บเล็ตเข้ามาใช้ในโรงเรียนนั้น ถือเป็นการปรับตัวของสถานศึกษา เพื่อให้ทันกับยุคสมัยที่โลกหมุนรอบด้วยอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยี และเพื่อให้เข้าใจ เข้าถึงการใช้ชีวิตของเด็กในสังคมดิจิตอล ซึ่งในท้ายที่สุด โรงเรียนจะต้องใส่ใจและหันมาออกแบบ “ห้องเรียนอนาคต” ของตนเองกันเสียใหม่ ให้เข้ากับพฤติกรรมการบริโภคสื่อของเด็กที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มิเช่นนั้น ในวันหนึ่งที่พวกเขาหาความรู้เพิ่มเติมได้เองโดยไม่รอให้โรงเรียนมาป้อนความรู้ให้ บทบาทของโรงเรียนในส่วนของการให้บริการด้านการศึกษาอาจเลือนหายไป เพราะตามพัฒนาการของเด็กไม่ทัน

ทีมงานของฟูจิตสึและโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ในงานแถลงข่าว

ที่มา - ภาพบางส่วนจากทีมงานฟูจิตสึและโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

แก้ไข: รุ่นของแท็บเล็ตที่ไปดูกับเพิ่มรายละเอียดสเปค

Blognone Jobs Premium