"รอยนิ้วมือจะอยู่กับเราไปตลอดเวลาจนชั่วชีวิต" ประโยคนี้อาจไม่จริงสำหรับบางคน

by ตะโร่งโต้ง
2 September 2016 - 19:02

ด้วยรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละคนที่ไม่ซ้ำกัน (แม้แต่ฝาแฝดที่หน้าตาเหมือนกันก็ตาม) ลายนิ้วมือจึงกลายมาเป็นข้อมูลชีวมาตรที่นิยมใช้เพื่อการระบุตัวตนของบุคคล ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นที่รู้กันว่าลายนิ้วมือของคนเราจะคงเดิมอยู่เช่นนั้นตราบจนชั่วชีวิต แต่นั่นหมายถึงเฉพาะในบุคคลที่มีสุขภาวะร่างกายตามปกติเท่านั้น เพราะล่าสุดมีงานวิจัยออกมาว่าในบางกรณีผลข้างเคียงจากการรักษาทางการแพทย์ อาจทำให้ลายนิ้วมือคนเราหายไปได้

จากผลการวิจัยในประเทศเนเธอร์แลนด์พบว่า กระบวนการรักษาทางการแพทย์แบบเคมีบำบัดที่ใช้สาร capecitabine (ซึ่งนิยมใช้ในการรักษาโรคมะเร็งหลายประเภท) อาจส่งผลให้ลายนิ้วมือของผู้ป่วยเลือนหายไปแทบสิ้นเชิงเป็นระยะเวลาชั่วคราวราว 2-4 สัปดาห์

ก่อนหน้านี้ทีมวิจัยเชื่อกันว่าการที่ลายนิ้วมือของผู้ป่วยเลือนหายไปนั้น เป็นผลส่วนหนึ่งของอาการข้างเคียงจากการใช้เคมีบำบัดที่เรียกโดยรวมว่า HFS (Hand-Foot Syndrome) ซึ่งจะมีอาการเห็นเด่นชัดคือฝ่ามือของผู้ป่วยเปลี่ยนเป็นสีแดง และมีตุ่มปรากฏขึ้นตามผิวหนังกินพื้นที่ประมาณ 60% ของร่างกาย แต่ภายหลังการเก็บข้อมูลสำรวจตามขั้นตอนการวิจัยก็ได้ข้อสรุปว่าความเชื่อนี้ไม่ถูกต้อง

ทีมวิจัยได้ร่วมมือกับหน่วยงานตำรวจในเมือง Hague ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยทำการเก็บรอยพิมพ์ลายนิ้วมือของกลุ่มผู้ป่วย 112 รายที่เตรียมรับการทำเคมีบำบัด ซึ่งในกลุ่มตัวอย่างที่ว่านี้ มีผู้ป่วย 66 คนที่การทำเคมีบำบัดด้วย capecitabine เพียงอย่างเดียว ส่วนที่เหลือเป็นผู้รับทำเคมีบำบัดด้วยสาร TKI (Tyrosine-kinase inhibitor ) ทั้งนี้การเก็บข้อมูลพิมพ์ลายนิ้วมือทั้ง 10 นิ้วของผู้ป่วยกลุ่มตัวอย่างนั้นทำด้วยกัน 3 ครั้ง คือครั้งแรกก่อนเริ่มทำการรักษา ครั้งที่ 2 หลังเริ่มทำเคมีบำบัดผ่านไปแล้ว 6-10 สัปดาห์ และครั้งที่ 3 คือพิมพ์ลายนิ้วมือหลังการบำบัดเสร็จสิ้น

ผลจากการเปรียบเทียบข้อมูลภาพพิมพ์ลายนิ้วมือ พบว่ากลุ่มผู้ที่รับการบำบัดด้วย capecitabine จำนวน 9 คนจาก 66 คน (คิดเป็น 14%) มีอาการลายนิ้วมือเลือนหายไปเกือบหมด ส่วนกลุ่มที่รับการบำบัดด้วย TKI มีอาการลายนิ้วมือเลือนหายไปเพียงคนเดียวจาก 46 คน (คิดเป็น 2%) โดยจากผู้ป่วยที่รับการทำเคมีบำบัดทั้งหมดนี้มีผู้ที่เกิดอาการ HFS รวม 67 คนโดยไม่มีความเกี่ยวพันกับผู้ที่มีอาการลายนิ้วมือเลือนหาย

Ron Mathijssen ศาสตราจารย์จาก Erasmus MC Cancer Institute, Rotteram หนึ่งในทีมวิจัยผู้คนพบเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการทำเคมีบำบัดด้วย capecitabine กับอาการลายนิ้วมือเลือนหายนี้ ให้ความเห็นว่านับจากนี้เจ้าหน้าที่ผู้ให้การรักษาจะต้องแจ้งเรื่องความเสี่ยงของผลข้างเคียงจากการบำบัดว่าอาจทำให้ลายนิ้วมือของผู้ป่วยเลือนหายไปชั่วคราว โดยเฉพาะกับผู้ที่กำลังจะเดินทางข้ามประเทศ และผู้ที่จะต้องติดต่อหน่วยงานรัฐซึ่งอาจมีปัญหากับระบบการยืนยันตัวตนด้วยลายนิ้วมือได้ (และสำหรับบางคนอาจมีปัญหากับการใช้โทรศัพท์ หรือกระทั่งการเข้า-ออกบางสถานที่)

ใครมีคนรู้จักที่ทำเคมีบำบัดกับ capecitabine ก็บอกกล่าวแจ้งเตือนกันได้

ที่มา - Medscape

Blognone Jobs Premium