ล้ำกว่าลายนิ้วมือ, ม่านตา, รหัสผ่าน คืองานวิจัยการยืนยันตัวตนด้วยความคิด

by ตะโร่งโต้ง
3 September 2016 - 20:49

เพราะความคิดคือสิ่งที่ใครก็มีเป็นของตนเองและคนอื่นล่วงรู้ไม่ได้ จะแปลกตรงไหนหากจะมีคนวิจัยใช้มันเป็นหนทางเพื่อการยืนยันตัวตนแบบใหม่ วันนี้มีนักวิจัยจาก University of California at Berkeley ทดลองใช้แนวทางนี้โดยการใช้เครื่องจับสัญญาณคลื่นไฟฟ้าสมอง โดยไม่ต้องปลูกถ่ายอุปกรณ์ หรือติดเซ็นเซอร์ที่เต็มไปด้วยสายพะรุงพะรังเต็มศีรษะ

เหล่าวิศวกรนักวิจัยของ University of California at Berkeley ใช้เครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าสมองแบบสวมศีรษะสำหรับงานวิจัยนี้ ซึ่งอันที่จริงอุปกรณ์ประเภทนี้มีการใช้งานเพื่อการควบคุมคอมพิวเตอร์และใช้เพื่อตรวจวัดคุณภาพการนอนหลับอยู่ก่อนแล้วในปัจจุบันนี้ แต่นี่คือการทดลองใหม่ที่นำมันมาประยุกต์ใช้เพื่อการยืนยันตัวบุคคล งานวิจัยนี้มีชื่อว่า "I Think, Therefore I Am: Usability and Security of Authentication Using Brainwaves"

John Chuang คือหัวหอกผู้นำทีมวิจัยในเรื่องนี้ เขาได้วิจัยและพัฒนาเรื่องนี้มานานกว่า 3 ปีแล้ว Chuang ได้เริ่มจากการใช้อุปกรณ์อ่านคลื่นสมอง Neurosky MindSet ซึ่งมีจำหน่ายทั่วไปในราคาชิ้นละ 100 ดอลลาร์มาทำการทดลอง โดยอุปกรณ์ดังกล่าวมีเซ็นเซอร์อ่านคลื่นไฟฟ้าสมองที่จะสัมผัสกับส่วนหน้าผากของผู้สวมใส่ ซึ่งผลการทดลองใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อยืนยันตัวตนของผู้สวมใส่ได้ผลสำเร็จ 99%

การทดลองที่ว่านี้จะใช้วิธีการให้ผู้ร่วมการทดลองสวมใส่หูฟังแบบครอบศีรษะซึ่งติดก้านเซ็นเซอร์ของเครื่อง Neurosky MindWave เอาไว้ด้วย ผู้ร่วมการทดลองทำโจทย์ทางความคิด (mental task) 5 ข้อ จำนวน 2 ชุด โดยในระหว่างการทำโจทย์เหล่านี้ ความคิดของผู้ทดสอบแต่ละคนจะส่งผลให้มีการปล่อยคลื่นไฟฟ้าสมองแตกต่างกันไปตามรายบุคคลนั้น และด้วยการเปรียบเทียบรูปแบบคลื่นไฟฟ้าสมองซ้ำในภายหลัง ก็ได้ผลว่าอุปกรณ์สามารถแยกแยะความแตกต่างของแต่ละบุคคลได้อย่างถูกต้อง 99% นั่นเอง

หลังจากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนงานอีกขั้นหนึ่งที่ท้าทายสำหรับทีมวิจัย นั่นคือการพัฒนาอุปกรณ์สวมใส่ที่ดูเป็นไปได้จริงหากจะมีการผลิตออกมาใช้งานเพื่อการนี้ เพราะชุดหูฟังติดก้านเซ็นเซอร์แปะหน้าผากนั้นก็ยังดูเทอะทะเกินไป ซึ่งไอเดียของ Chuang และพรรคพวก ก็คือการถอดเอาเฉพาะตัวเซ็นเซอร์วัดคลื่นไฟฟ้าสมองของเครื่อง Neurosky รุ่นใหม่ ที่ชื่อ Neurosky MindWave เข้าไปใส่ไว้หูฟังแบบ in-ear ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ปกติที่ผู้คนสวมใส่กันโดยทั่วไปอยู่แล้ว โดยความยากของงานในส่วนนี้คือการปรับแต่งตำแหน่งการฝังเซ็นเซอร์ในจุดที่มันจะสามารถอ่านคลื่นไฟฟ้าสมองได้ดีพอ

ภายหลังจากการดัดแปลงอุปกรณ์ชุดหูฟัง in-ear ผลการทดสอบวัดคลื่นไฟฟ้าสมองเพื่อยืนยันตัวบุคคล โดยการทำโจทย์ทางความคิด ให้ผลการทดสอบที่ถูกต้อง 72-80% ซึ่งน่าจะดียิ่งขึ้นเมื่อปรับปรุงชุดอุปกรณ์และโจทย์ให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดประการหนึ่งของงานวิจัยใช้คลื่นไฟฟ้าสมอง (หรืออีกนัยหนึ่งคือใช้ความคิด) เพื่อยืนยันตัวตนนี้ คือความจริงที่ว่าคลื่นไฟฟ้าสมองมีความอ่อนไหว คลื่นสามารถแปรเปลี่ยนได้ง่ายกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลชีวมาตรอย่างลายนิ้วมือและรูม่านตาที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดชั่วชีวิตคน (ยกเว้นก็แค่บางกรณีเช่นเจ็บป่วยหรือรับการรักษาทางการแพทย์)

Chuang ให้ลูกชายของเขาเองมาช่วยทำการทดลองในงานวิจัยนี้ เด็กหนุ่มวัย 16 ปี ถือโอกาสร่วมงานวิจัยกับพ่อทำโครงงานทดลองสำหรับชั้นเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ของเขา โดยการให้เหล่านักเรียน 10 คน ทำชุดโจทย์ทางความคิด จากนั้นก็ไปออกกำลังกายด้วยการกระโดดตบ 1 นาที ผลคือต้องรอให้พักหลังการออกกำลังกายนานถึง 60 วินาที กว่าที่คลื่นไฟฟ้าสมองของเหล่านักเรียนเหล่านั้นจะกลับมาสู่สภาวะปกติเหมือนที่เครื่องอ่านสามารถอ่านได้ตอนทำโจทย์ทางความคิดในครั้งแรก นั่นจึงนำมาสู่ข้อสรุปว่าภายหลังการออกกำลังนั้น จะไม่สามารถใช้การอ่านความคิดเพื่อยืนยันตัวตนด้วยอุปกรณ์วัดคลื่นไฟฟ้าสมองได้ทันทีทันใด

งานของ Chuang และทีมวิจัยแห่ง University of California at Berkeley นั้นยังไม่จบ พวกเขายังต้องปรับปรุงอุปกรณ์ให้แน่ใจว่าเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งสัมผัสผู้ใช้ตรงหูนั้นจะอ่านค่าได้แน่นอนเชื่อถือได้ นอกจากนี้พวกเขาคงจะต้องศึกษากันเพิ่มเติมอีกว่านอกเหนือจากเรื่องสภาพร่างกายหลังการออกกำลังแล้ว ยังมีสถานการณ์ใดอีกบ้างที่จะส่งผลให้คลื่นไฟฟ้าสมองผิดเพี้ยนไปจากสภาวะปกติจนไม่อาจใช้เพื่อยืนยันตัวตนได้

ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเอกสารงานวิจัย ซึ่งเผยแพร่มาตั้งแต่ปี 2013 หรืออ่านเอกสารงานวิจัยล่าสุดได้ที่นี่

ที่มา - IEEE Spectrum, Berkeley School of Information

Blognone Jobs Premium