คงจะเคยดูหนังหรือละครต่างประเทศแนวสืบสวนสอบสวนกันมาบ้าง หลายครั้งที่เราเห็นฉากการตามหาคนแล้วดึงภาพมาจากกล้องวงจรปิด หรือกล้องมือถือที่ไหนสักแห่งแล้วเห็นภาพบุคคลเป้าหมายเบลอๆ เห็นแค่เม็ดพิกเซลเหมือนภาพโมเสค จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ซูมภาพ ซูมแล้วซูมอีก แล้วใช้ซอฟต์แวร์ปรับแต่งภาพให้มีความคมชัดขึ้น จากภาพเบลอๆ เหลี่ยมๆ ก็กลายเป็นภาพใบหน้าคนที่มีความคมชัดขึ้น วันนี้อยากบอกให้รู้ว่าเรื่องพวกนี้มันไม่ได้ขี้โม้เกินจริงสักเท่าไหร่เลย ตัวอย่างโปรแกรมของชายที่ชื่อ David Garcia พิสูจน์เรื่องนี้ให้เห็นได้อย่างดี
สิ่งที่ Garcia ทำคือการสร้างปัญญาประดิษฐ์ที่มีการเรียนรู้ได้แบบ deep learning ซึ่งทำการเรียนรู้ใบหน้ามนุษย์มากกว่า 130,000 ภาพ หลังจากนั้นเมื่อใช้ข้อมูลภาพใบหน้าบุคคลมาลดขนาดลงเหลือ 16x16 พิกเซล ซึ่งได้จะภาพเบลอๆ แบบโมเสคที่มองไม่ออกว่าเป็นใบหน้าของใคร แล้วป้อนภาพที่ลดขนาดแล้วให้โปรแกรมทำการวิเคราะห์ มันจะทำการสร้างภาพใบหน้าที่คมชัดขึ้นเป็นขนาด 64x64 พิกเซลได้ ซึ่งแม้ใบหน้าที่โปรแกรมสร้างขึ้นนี้จะไม่ใช่ภาพใบหน้าเดียวกันกับภาพต้นฉบับ แต่ก็มีความใกล้เคียงอยู่มาก
จากภาพตัวอย่างการวิเคราะห์และสร้างภาพโดยโปรแกรม 8 ชุดด้านบน แม้ว่าภาพที่ได้ในแถว C จะไม่เหมือนกับภาพต้นฉบับในแถว D แต่ภาพจากการสร้างสรรค์โดยคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ก็ดูเป็นภาพใบหน้าคนและใกล้เคียงกับภาพจริงอยู่ไม่น้อย ยิ่งเมื่อคิดว่านี่เป็นผลจากการศึกษาภาพใบหน้าแค่ 130,000 ภาพเท่านั้น หากมีการพัฒนาอย่างจริงจังและใช้ฐานข้อมูลภาพระดับร้อยล้านหรือพันล้านภาพ ก็อาจได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้นไปอีก
Garcia ได้เผยแพร่งานชิ้นนี้บน Github ใครสนใจจะนำมาลองเล่นหรือค้นคว้าพัฒนาต่อก็ตามสะดวก ซึ่งก็น่าสนใจว่านอกเหนือจากภาพใบหน้าคนแล้ว มันจะสามารถเรียนรู้ภาพสิ่งอื่นและทำการเปลี่ยนภาพเบลอหรือภาพโมเสคของสิ่งนั้นให้กลายเป็นภาพที่ชัดเจนขึ้นได้เช่นเดียวกันหรือไม่
ที่มา - Ubergizmo