ประชาชนในมาเก๊ามากกว่า 300 คน ได้ออกมาเดินประท้วงเมื่อวานนี้ เรียกร้องให้ทางการปรับเปลี่ยนแก้ไขข้อกฎหมาย เพื่อให้ Uber และบริการเรียกรถอื่นๆ มีสภาพเป็นธุรกิจบริการที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยผู้ประท้วงได้เดินตามถนนจากจัตุรัส Tap Seac ไปยังสำนักงานรัฐของมาเก๊าที่ Avenida da Praia Grande
การประท้วงครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่ Uber ประกาศเตรียมปิดบริการในมาเก๊าหลังวันที่ 9 กันยายนที่จะถึงนี้ หลังประสบปัญหามากมายในการทำธุรกิจ ซึ่งมีทั้งเรื่องบทลงโทษต่อผู้ขับขี่, ปัญหาการคุกคามลูกค้าผู้ใช้บริการ ตลอดจนความหละหลวมของภาครัฐที่ควรจะบังคับใช้กฎหมายควบคุมบริการรถโดยสารอย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ
Jeremy Lei Man-chao โฆษกของ Macao Community Development Initiative องค์กรพัฒนาชุมชนของมาเก๊า เล่าถึงสภาพปัญหาบริการรถโดยสารของมาเก๊าว่ามีรถแท็กซี่ให้บริการไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งานของผู้คน โดยทุกวันนี้มีรถแท็กซี่ให้บริการในมาเก๊าราว 1,300 คัน ในขณะที่มาเก๊ามีประชากร 650,000 คน ยังไม่นับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมามากถึงปีละ 30 ล้านคน สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้คนขับแท็กซี่จำนวนมากเลือกรับแต่ผู้โดยสารที่เป็นนักท่องเที่ยวและปฏิเสธผู้โดยสารที่เป็นผู้พำนักในท้องถิ่น ทั้งยังมีปัญหาคนขับเรียกค่าโดยสารเกินอัตราปกติ (เหตุการณ์คุ้นๆ นะ)
Lei มองว่าการเข้ามาของ Uber ช่วยเติมจำนวนรถโดยสารบนท้องถนนให้มารองรับความต้องการใช้งานของผู้คนจำนวนมากได้ และที่สำคัญคือการเข้ามาของ Uber น่าจะทำให้เกิดการแข่งขันด้านการให้บริการซึ่งจะส่งผลให้คนขับแท็กซี่กลุ่มเดิมต้องหันมาปรับปรุงการทำงานให้เป็นที่ยอมรับและแข่งขันได้มากขึ้น
Au Kam-san นักกฎหมายรายหนึ่งในมาเก๊าเล่าว่าจนถึงขณะนี้ ทางราชการก็ยังคงอุบเงียบไม่มีการตอบกลับใดๆ ต่อข้อเรียกร้องของประชาชนเรื่องพิจารณาการแก้กฎหมายเกี่ยวกับระบบรถโดยสารนี้ Au ให้ความเห็นว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นแรงกดดันจากทางผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มเจ้าของรถแท็กซี่ที่ไม่ต้องการให้มีรถมาวิ่งบนถนนมากกว่าที่เป็นอยู่นี้ เนื่องจากว่ากันว่าในปัจจุบันใบอนุญาตรถแท็กซี่ของมาเก๊าแต่ละฉบับนั้นมีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านปาตากาส์ (ราว 43 ล้านบาท) หากทางการตัดสินใจเพิ่มจำนวนใบอนุญาตรถแท็กซี่ก็จะส่งผลต่อมูลค่าใบอนุญาตเดิมของบรรดาเจ้าของรถเหล่านั้น (เรื่องราวคุ้นๆ อีกแล้ว)
คนขับ Uber รายหนึ่งซึ่งเคยโดนทางการมาเก๊าสั่งปรับเงินถึง 6 ครั้ง บอกว่าเขามีรายได้จากการขับรถให้ Uber ตกเดือนละ 30,000 ปาตากาส์ (ราว 130,000 บาท) เขาบอกว่างานนี้เป็นงานที่รายได้ดีและมีเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น มันเป็นเรื่องยากมากที่จะหางานอื่นที่ดีแบบนี้ได้
สำหรับ Uber นั้น ได้เริ่มเข้ามาให้บริการในมาเก๊าตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ที่ผ่านมามีการฟ้องร้องดำเนินคดีเกี่ยวกับ Uber ถึง 379 ครั้ง มีคนขับกว่า 300 คนจากทั้งหมดมากกว่า 2,000 คน ที่เคยถูกทางการสั่งปรับเงินรวมแล้วมูลค่า 10 ล้านปาตากาส์ (ราว 43 ล้านบาท) ซึ่งค่าปรับทั้งหมด Uber เป็นผู้ออกให้แทนคนขับรถที่โดนสั่งปรับ ทั้งนี้ Uber ประเมินว่าได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ท้องถิ่นเป็นมูลค่าถึง 21 ล้านปาตากาส์ (ราว 91 ล้านบาท) นับตั้งแต่ทำธุรกิจมาเกือบ 1 ปี
ที่มา - South China Morning Post