กรณีศึกษา GrabGas สตาร์ทอัพดาวรุ่งมาเลเซีย สะดุดขาเพราะปัญหาแบ่งหุ้นส่วนไม่ลงตัว

by sunnywalker
11 September 2016 - 04:03

GrabGas สตาร์ทอัพสัญชาติมาเลเซีย บริการส่งแก๊สหุงต้มผ่านแอพพลิเคชั่น ที่ได้รับรางวัลสตาร์ทอัพจาก Digi Accelerate (Digi เป็นบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายในมาเลเซีย ภายในเครือ Telenor) และได้รับเม็ดเงินลงทุนจาก Digi กว่า 62,000 ดอลลาร์

ล่าสุดทาง Digi ออกมาประกาศว่าจะไม่ลงทุนให้ GrabGas แล้ว ส่วนเหตุผลที่ Digi ขอหยุดไว้กลางทางนั้นไม่ใช่อะไรอื่น แต่เป็นปัญหาภายในของตัว GrabGas เอง

ย้อนเรื่องราวไปช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Julian Ee หนึ่งในทีมงาน GrabGas เขียนบล็อกเปิดเผยถึงความคับข้องใจต่อผู้ก่อตั้ง และยังมีเรื่องความไม่โปร่งใสที่ทำให้มีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับสตาร์ทอัพเจ้านี้ เรื่องราวดังกล่าวมีคนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะ GrabGas ค่อนข้างจะมีคนใช้บริการเยอะ จึงไม่แปลกที่ลูกค้าอยากจะรู้ว่าบริษัทที่ใช้บริการอยู่มีเรื่องราวปัญหาอะไรบ้าง

เนื้อหาในบล็อกของ Julian Ee พอจะสรุปคร่าวๆได้ว่า เขามาทำงานเพราะเป็นเพื่อนกับผู้ก่อตั้ง งานที่ทำคือด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสิ่งที่ GrabGas ยังไม่มีในตอนแรกๆ ทำให้กิจการไปไม่สวยเท่าที่ควร คนสั่งออร์เดอร์น้อย โดยสถานะของเขาไม่ได้มาทำงานอย่างเดียวแต่ถูกชักชวนให้เป็นผู้ถือหุ้นด้วย คำชวนคือให้มาเป็น “one of the shareholders”

พอเขาเข้ามาทำงานในฐานะ CTO ก็พัฒนาเว็บไซต์, API และแอพพลิเคชั่น GrabGas จนเป็นรูปเป็นร่าง มีหน้าตาดูเป็นสตาร์ทอัพมากขึ้น เริ่มมีลูกค้าเข้ามาใช้งาน

หลังจากนั้น GrabGas ก็ดีลกับผู้ค้าแก๊สรายใหญ่ และผ่านการคัดเลือกเข้าโครงการบูธแคมป์ของ Digi จนได้รับรางวัล และได้รับเม็ดเงินลงทุนจาก Digi ด้วย

หลังจากงานด้านไอทีเข้าที่แล้ว ผู้ก่อตั้งทั้งสาม คือ Sean, Jeson และ Gabriel ก็จดทะเบียน GrabGas เป็นบริษัท แต่กลับไม่มีชื่อของ Julian Ee ในรายชื่อผู้ถือหุ้น เมื่อถามเหตุว่าทำไมไม่มีชื่อเขา คำตอบที่ได้รับคือเขาเป็นแค่พนักงานรุ่นแรกๆ แต่ทึกทักไปเองว่ามีส่วนในกรรมสิทธิ์บริษัท

สัดส่วนผู้ถือหุ้นของ GrabGas ที่ไม่มีส่วนของ Julian มีดังนี้

  • Sean - 40%
  • Jeson - 33%
  • Gabriel - 22%
  • ผู้ค้าแก๊สที่ตกลงกันไว้ - 5%

เมื่อ Julian พบความจริงดังกล่าว เขาจึงไม่พอใจและออกจากบริษัทมา โดยนำระบบไอทีที่เขาพัฒนาขึ้นออกมาด้วย

เรื่องราวดังกล่าวเป็น Talk of the Town มีคนเข้ามาอ่านมาก จน GrabGas ออกมาโพสต์ Facebook เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม เชิงว่ากำลังหาทางคุยกับ Julian และหวังว่าจะได้ข้อสรุปที่เขาพึงพอใจ

หลังจากนั้นช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา GrabGas ก็โพสต์ Facebook ขนาดยาวออกมาสู้ ใช้หัวข้ออย่างดุเดือดว่า "The Julian fiasco: Our side of story" พูดถึงว่า บริษัทก่อตั้งมาอย่างไร และ Julian เข้ามาทำงานที่ GrabGas ได้อย่างไร

GrabGas ก่อตั้งช่วงกลางปี 2015 เปิดตัวเบต้าสั่งแก๊สช่วงเดือนสิงหาคม 2015 ผู้ร่วมก่อตั้งมี

  • Sean - CEO
  • Jeson - COO/CMO
  • Gabriel - CFO
  • Mr. S - Designer
  • Ms. K - Driver management

ในตอนนั้นมี Mr.T เข้ามาดูแลเรื่องไอที ปรากฏว่าไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ กำหนดการเปิดตัวดีเลย์

ช่วงปลายปี 2015 GrabGas ก็ค่อยๆ ฟื้นขึ้น มีโลโก้ใหม่ แอพพลิเคชั่น เว็บไซต์ใหม่ที่ออกแบบโดย Mr.S ซึ่งทุกอย่างสมบูรณ์แบบ ยกเว้นช่องทางออนไลน์แพลตฟอร์มที่ยังมีปัญหา ทาง GrabGas จึงอยากได้ CTO เก่งๆ สักคน ซึ่งก็มารู้จักกับ Julian ที่เป็นเพื่อนของ CTO คนเก่า ผลงาน Julian เป็นที่พึงพอใจ จึงเสนอกรรมสิทธิ์บริษัทให้ 10% จะได้หุ้นเมื่อทำงานครบ 3 ปี และ Julian ก็ตกลง

ช่วงต้นปี 2016 ผลประกอบการดี มีนักลงทุนร่วมลงทุน 60,000 ดอลลาร์ กำลังใจทีมงานก็มีมากขึ้น หลังจากนั้นเข้าโปรแกรมบูธแคมป์โดย Digi Accelerate และติด 1 ใน 3 ทีมสุดท้าย

บริษัทคิดว่าเวลาของเรากำลังมาถึงแล้ว และระหว่างที่กำลังจะจดทะเบียน GrabGas เป็นบริษัท Julian ก็เดินเข้ามาถามถึงส่วนกรรมสิทธิ์ ทั้งที่เคยตกลงกันไว้แล้วว่า 10% 3 ปี แต่ Julian คิดว่าเขาควรได้เท่าๆ กันกับผู้ก่อตั้งคนอื่นๆ เพราะงานด้านเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญมากในบริษัท

ทางผู้ก่อตั้ง GrabGas ไม่ได้มีแค่ Julian ที่อุทิศเพื่อ GrabGas แต่ยังมีอีกหลายคน ทั้งคนทำการตลาด หุ้นส่วนอื่นๆ การที่ Julian ต้องการได้ส่วนแบ่งเท่าๆ กับผู้ก่อตั้งจึงเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก แต่ไม่อยากเสียคนเก่งไอทีอย่าง Julian ไป บริษัทจึงยอมทบทวนส่วนแบ่งเดิมที่เคยตกลงกันไว้

ผลการทบทวนคือ Julian ได้ข้อเสนอที่ดีขึ้น คือลดระยะเวลาในกรรมสิทธิ์เป็น 2 ปี จาก 3 ปี เงินเดือน1800 ริงกิต มีการสนับสนุน Julian ในกรณีที่ออกไปเปิดบริษัทเองในอนาคต ให้อิสระในการทำงานกับสตาร์ทอัพเจ้าอื่นไปพร้อมๆ กัน แต่ Julian ต้องการติดต่อกับที่ปรึกษาหรือพี่เลี้ยงของ GrabGas และต่อรองผลประโยชน์เพิ่มขึ้นจนเกินกว่าบริษัทจะให้ได้ สุดท้าย การต่อรองก้ไม่เป็นผล นำไปสู่การออกจากบริษัทของ Julian

เรื่องราวของทั้งสองฝั่งมีคนให้ความสนใจและเข้ามาคอมเมนท์กันมากมาย และไม่เพียงคนทั่วไป ผู้ลงทุนอย่าง Digi ก็ให้ความสนใจด้วย

ล่าสุด Digi ประกาศจะไม่ลงทุนให้ GrabGas โดยให้เหตุผลว่า ทาง GrabGas เปิดเผยข้อมูลสำคัญให้ Digi ไม่หมด และข้อมูลในการเปิดเผยแต่ละครั้งก็ไม่เหมือนกัน ซึ่ง ความซื่อสัตย์และความโปร่งใส เป็นพื้นฐานสำคัญที่ Digi จะตัดสินใจทำธุรกิจด้วย และมันก็สะท้อนถึงหลักการเดียวกันถึงความคาดหวังของคู่ค้า

ที่มา - Tech in Asia

Blognone Jobs Premium