อนาคตของด่านตรวจ? นักวิจัย Stanford คิดประดิษฐ์เครื่องตรวจสอบผู้ขับขี่ที่แอบพี้กัญชา

by ตะโร่งโต้ง
11 September 2016 - 12:58

สำหรับประเทศไทยที่จัดให้กัญชาเป็นสิ่งเสพติดผิดกฎหมายนั้นคงไม่ต้องพูดถึง แต่ในบางประเทศที่กำลังพิจารณา (หรืออาจกำหนดไว้แล้ว) อนุญาตให้ประชาชนสูบกัญชาได้นั้น ต้องขบคิดกันถึงการควบคุมระดับการเสพที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ขับขี่รถราซึ่งเป็นเรื่องของความปลอดภัยต่อส่วนรวม นั่นคือเหตุผลในการพยายามพัฒนาการตรวจสอบผู้ขับขี่ยวดยานว่าไม่เพียงแต่ปราศจากอาการมึนเมาอันเนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว ยังจะต้องไม่มีอาการเมาเคลิ้มจากการสูบกัญชาด้วย ซึ่งตอนนี้นักวิจัยจาก Stanford ก็ได้พัฒนาอุปกรณ์เพื่อตรวจเรื่องนี้แล้ว

การที่จะตรวจว่าคนสูบกัญชามีอาการเมาเคลิ้มจนส่งผลต่อการขับขี่ยานพาหนะมากเพียงใดนั้น ก็ใช้แนวคิดเดียวกันกับการตรวจคนดื่มแอลกอฮอล์ นั่นคืออ้างอิงจากปริมาณสารเคมีจากสิ่งที่เสพที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในร่างกาย กรณีของการตรวจเรื่องแอลกอฮอล์นั้นก็ตรงไปตรงมาคือมุ่งหาระดับแอลกอฮอล์ในกระแสเลือด แต่สำหรับการตรวจผู้สูบกัญชานั้น สารที่จะต้องมุ่งตรวจหาคือสารที่เรียกว่า THC (Tetrahydrocannabinol) ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อสภาพจิตใจมากที่สุด

ปัญหาของการตรวจหาสาร THC นั้นคือกรรมวิธีในการตรวจ ในขณะที่การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดนั้นทำได้โดยการวัดค่าจากลมหายใจของผู้ถูกตรวจ แต่ THC นั้นต้องใช้การตรวจโดยเก็บตัวอย่างปัสสาวะหรือเลือด ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาและอาศัยเครื่องมือในห้องปฏิบัติการมากมาย ทำให้การตรวจหา THC ในตัวผู้ขับขี่ยานพาหนะนั้นไม่อาจทำได้ในทางปฏิบัติ

จนกระทั่งตอนนี้

นักวิจัยจาก Stanford ซึ่งนำทีมโดย Shan Wang ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุศาสตร์ และเป็นศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าด้วย ได้คิดประดิษฐ์อุปกรณ์พกพาเพื่อใช้ตรวจหาปริมาณสาร THC ในร่างกายคน โดยอุปกรณ์ตัวนี้จะไม่ใช่การตรวจตัวอย่างปัสสาวะหรือเลือด หากแต่จะทำการตรวจหาปริมาณ THC ในน้ำลายแทน

ในการใช้งานจริง เจ้าหน้าที่เพียงเก็บตัวอย่างน้ำลายของผู้ถูกตรวจมาเล็กน้อยแล้วนำไปเข้าเครื่องตรวจแบบมือถือ ซึ่งจะใช้เวลาแค่ 3 นาที เพื่อวัดปริมาณ THC ในน้ำลาย โดยสามารถวัดค่าปริมาณความเข้มข้นของ THC ได้ 0-50 นาโนกรัมต่อน้ำลาย 1 มิลลิลิตร

เครื่องวัด THC ในน้ำลายแบบพกพาได้นี้ อาศัยประโยชน์จากพฤติกรรมด้านการดึงดูดทางแม่เหล็กของอนุภาคนาโน โดยการใช้เทคนิค immunoassay อันเป็นเทคนิคการทดสอบด้านชีวเคมี ซึ่งจะใช้สารแอนติบอดี้ไปเกาะติดกับโมเลกุลของสารเป้าหมายเพื่อประโยชน์ในการตรวจวัดปริมาณ

อย่างไรก็ตาม ในการนำเครื่องตรวจวัด THC ในน้ำลายของ Stanford ไปใช้งานจริง ยังมีเรื่องของกฎที่จะออกมาควบคู่กัน ปัจจุบันนี้ในบางรัฐของสหรัฐอเมริกากำหนดเกณฑ์การสูบกัญชาโดยอิงจากปริมาณ THC ในกระแสเลือด ไม่ให้เกิน 5 นาโนกรัมต่อเลือด 1 มิลลิลิตร แต่ทว่าเครื่องตรวจของ THC นั้น เป็นการตรวจหาสารในน้ำลาย นั่นจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาและประเมินเพิ่มเติมว่าหากจะนำเครื่องมือตัวนี้มาใช้งานแล้ว ควรออกกฎเรื่องเกณฑ์ปริมาณ THC ในน้ำลายที่ยอมรับได้ไว้ที่เท่าใด ซึ่งตอนนี้ก็มีการประเมินกันว่าเกณฑ์ดังกล่าวควรอยู่ในช่วง 2-25 นาโนกรัมต่อน้ำลาย 1 มิลลิลิตร ทว่ายังไม่มีการสรุปตัวเลขที่ชัดเจนออกมา

จากนี้ไปเป็นรายละเอียดที่ลึกยิ่งขึ้น เพื่อให้เห็นภาพการทำงานของเครื่องวัดระดับการเมากัญชาของ Stanford

ในการใช้งานเครื่องวัดนี้ ผู้ตรวจจะต้องเอาน้ำลายของผู้ถูกตรวจมาผสมกับแอนติบอดี้ของสาร THC แล้วใส่ในถาดเก็บตัวอย่างที่มีเซ็นเซอร์ (เซ็นเซอร์ที่ว่านี้สามารถตรวจวัดปริมาณอนุภาคแม่เหล็กที่อยู่ใกล้กับมัน) ทั้งนี้ที่ผิวหน้าของเซ็นเซอร์ดังกล่าวจะถูกเคลือบสาร THC ไว้ก่อนแล้วส่วนหนึ่งด้วย

เมื่อน้ำลายที่ผสมแอนติบอดี้มาสัมผัสกับเซ็นเซอร์ บรรดาแอนติบอดี้จะพยายามเกาะติดกับโมเลกุลของ THC ซึ่งหากในน้ำลายของผู้ถูกตรวจมีปริมาณ THC มากอยู่แล้ว (หมายถึงสูบกัญชามาหนัก) แอนติบอดี้ก็จะไปเกาะติดกับ THC ที่เคลือบบนเซ็นเซอร์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่หากในน้ำลายของผู้ถูกตรวจไม่มีสาร THC เลย (ไม่ได้สูบกัญชา) เหล่าแอนติบอดี้ก็จะพยายามไปเกาะติดกับโมเลกุล THC ที่เคลื่อบอยู่บนเซ็นเซอร์แทบทั้งหมด ซึ่งกระบวนการเหล่านี้คือเทคนิคด้านการทดสอบทางชีวเคมีที่เรียกว่า immunoassay นั่นเอง

ขั้นตอนหลังจากนั้นผู้ตรวจจะเติมสารอนุภาคแม่เหล็กระดับนาโน ซึ่งเจ้าอนุภาคที่ว่านี้จะถูกสร้างเพื่อให้ไปเกาะจับกับสารแอนติบอดี้เท่านั้น ซึ่งในเมื่อสารแอนติบอดี้กำลังเกาะติดอยู่กับโมเลกุลสาร THC อยู่ก่อนแล้ว นั่นเท่ากับว่าอนุภาคแม่เหล็กระดับนาโนนี้จะไปเกาะติดอยู่ในที่เดียวกันกับโมเลกุลของ THC นั่นเอง หากในน้ำลายนั้นมีสาร THC อยู่น้อยหรือไม่มีเลย อนุภาคแม่เหล็กเหล่านี้ก็จะถูกดูดไปหาแอนติบอดี้ซึ่งเกาะติดกับ THC บนผิวหน้าเซ็นเซอร์เสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เซ็นเซอร์ตรวจหาจำนวนอนุภาคแม่เหล็กและบอกได้ว่าในน้ำลายมีสาร THC อยู่น้อย แต่ในทางกลับกันหากผู้ถูกตรวจสูบกัญชามาหนัก ปริมาณอนุภาคแม่เหล็กก็จะไปเกาะที่เซ็นเซอร์แค่เล็กน้อย ทำให้เซ็นเซอร์รู้ได้ว่าในน้ำลายนั้นมี THC อยู่อย่างเข้มข้น

แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าเรื่องการที่จะนำผลงานของ Stanford มาใช้ตรวจหาผู้สูบกัญชาได้ในอีกไม่ช้านี้ คือเรื่องที่ว่าอุปกรณ์นี้สามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อตรวจสอบการเสพโคเคน, เฮโรอีน, มอร์ฟีน และสารเสพติดอื่นๆ ได้อีก ซึ่งนั่นอาจหมายถึงอนาคตของเครื่องมือตรวจหาสารเสพติดแบบพกพาได้ที่จะทำให้งานตรวจผู้ต้องสงสัยเสพสารเสพติดทำได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้นมาก

ที่มา - Stanford News

Blognone Jobs Premium