เว็บไซต์ Fast Company สัมภาษณ์ Blake Adickman อายุ 26 ปี เป็นออทิสติก ปัจจุบันทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ที่ไมโครซอฟท์ โดย Adickman เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่เป็นออทิสติก ที่ไมโครซอฟท์รับเข้าทำงานหลังจากสัมภาษณ์และทดสอบทักษะเรียบร้อยแล้ว
โครงการดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ ทำมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2015 และมีหลายบริษัทที่ริเริ่มโครงการแบบนี้มาก่อนแล้ว เช่น SAP บริษัทซอฟต์แวร์จากเยอรมัน เพียงแต่ไมโครซอฟท์เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดที่เปิดเผยสู่สังคมว่าทำโครงการแบบนี้อยู่
แม้ Adickman เป็นออทิสติก แต่ก็สนใจในคอมพิวเตอร์ และเกมมาก อย่างไรก็ตามเขาเข้ากับเพื่อนๆ ไม่ได้ ด้วยอาการของโรคมักทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าสบตาคน มีการแสดงออกแปลกๆ
Adickman เคยสัมภาษณ์งานที่ Amazon.com เป็นการสัมภาษณ์งานแบบหลายคนถามคนๆ เดียว เขาถูกรบเร้าให้อธิบายทักษะการเขียนโปรแกรมของเขา เขารู้สึกกดดัน และแล้วก็สัมภาษณ์ไม่ผ่าน ทั้งๆ ที่ความสามารถค่อนข้างจะเข้าตา Amazon.com ด้วยซ้ำ จากนั้นก็เข้าทำงานไอทีในบริษัทเล็กๆ มาเรื่อยๆ จนแม่ของเขามารู้ทีหลังว่าที่ไมโครซอฟท์มีโปรแกรมรับคนออทิสติกเข้าทำงาน
ไอเดียเรื่องความหลากหลายของพนักงานในองค์กรเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดโครงการนี้ เพราะตั้งอยู่บนหลักการเดียวกับให้มีการจ้างผู้หญิง หรือจ้างคนที่มีหลากหลายชาติพันธุ์ เข้ามาทำงานด้านไอที เพราะไม่เพียงจะสร้างความเปิดกว้างในความคิดสร้างสรรค์ แต่เป็นการนำมุมมองที่หลากหลายมาพัฒนางาน เพราะความหลากหลายเหล่านี้สะท้อนถึงลูกค้าที่มีหลายแบบทั่วโลก
แผนผังความสำเร็จด้านการสร้างความหลากหลายในองค์กรของไมโครซอฟท์
ที่มาภาพ Microsoft
อีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่ทำให้ไมโครซอฟท์กระโดดเข้ามาทำโครงการนี้ เพราะ CEO หรือ Satya Nadella มีเป้าหมายอยากทำให้วัฒนธรรมองค์กรมีความเปิดกว้าง และเขาเองก็มีลูกชายเป็นเด็กพิเศษเช่นกัน ประเด็นเรื่องประสบการณ์ร่วมของผู้บริหารระดับสูงที่มีคนในครอบครัวเป็นออทิสติกเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันสำคัญให้องค์กรสามารถออกนโยบายรับคนออทิสติกเข้าทำงานได้สำเร็จ
Sataya Nadella
ภาพจาก Microsoft
โครงการรับคนออทิสติกเข้าทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ของไมโครซอฟท์มีหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญคือ Jenny Lay-Flurrie เจ้าหน้าที่ด้านการเข้าถึง และ Neil Barnett ผู้อำนวยการด้านการจ้างงานของไมโครซอฟท์ โดย Lay-Flurrie ระบุว่า สิ่งที่ไมโครซอฟท์ทำ อาจช่วยกระตุ้นบริษัทอื่นๆที่กำลังมองข้ามประเด็นนี้ไป
Jenny Lay-Flurrie
ภาพจาก Blog Microsoft
อย่างไรก็ตาม ภาวะออทิสติกต่างจากการสูญเสียอวัยวะอื่น เพราะอาการออทิสติกกระทบต่อสมองโดยตรง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญมากของการเป็นพนักงานบริษัทไอที
เรื่องนี้เป็นงานที่ท้าทายบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟต์มาก ความท้าทายอย่างแรก คือ ไม่เคยมีแบบแผนที่ชัดเจนในการจ้างงานผู้มีภาวะออทิสติกให้มาทำงานเฉพาะด้านแบบนี้ ในขณะที่การจ้างผู้หญิง คนผิวสีมาเขียนโปรแกรม เพียงไปร่วมพวกงานสัมมนาเกี่ยวกับผู้หญิงหรือผิวสี หรือติดต่อองค์กรทางด้านนี้ก็หาคนกลุ่มนี้เจอ แต่การจ้างงานคนออทิสติก ทำแค่นั้นไม่พอ เพราะคนกลุ่มนี้กระจายตัวอยู่ ไม่ได้รวมเป็นกลุ่มเป็นก้อนมากนัก
ความท้าทายอย่างที่สอง คือกระบวนไม่ได้จบแค่รับผู้มีภาวะออทิสติกเข้าทำงาน แต่ทำอย่างไรที่จะรักษาพนักงานเหล่านั้นไม่ให้ลาออกกลางคัน จากความรู้สึกแปลกแยกภายในบริษัท ทำอย่างไรจึงไม่เกิดปัญหาแบ่งแยกชนชั้น การกลั่นแกล้งในองค์กร
เมื่อผู้สัมภาษณ์งานผ่านการทดสอบรอบแรก กระบวนการจะเข้าสู่โครงการทดลองงานเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ขั้นตอนนี้ต่างจากการสัมภาษณ์งานทั่วไป คนผ่านการคัดเลือกจะได้พบกับว่าที่เจ้านายที่จะมาสังเกตการณ์ผู้สมัคร และตัดสินใจว่าจะรับเข้าทำงานหรือไม่
สำหรับคนที่ผ่านการคัดเลือกจนเข้ามาทำงานได้สำเร็จ ทางไมโครซอฟต์จะจัดให้มีพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือ ซึ่ง Adickman ได้รับความช่วยเหลือหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้การทำงานเป็นทีม เนื้องาน และเรื่องชีวิตประจำวันอื่นๆ เช่น การจอดรถ สาเหตุที่ต้องมีพี่เลี้ยงก็เพื่อป้องกันความรู้สึกแปลกแยก นอกจากนี้ หัวหน้างานและคนในทีมก็ต้องเข้าเทรนเพื่อให้มีความรู้เรื่องภาวะออทิสติกด้วย
เมื่อรู้ตัวว่าตัวเองได้ทำงานที่ไมโครซอฟต์ Adickman บอกกับพี่เลี้ยงของเขาตรงๆ ว่ามันดูขี้โกงที่ได้มาอยู่ที่นี่ในตำแหน่งนี้ แต่พี่เลี้ยงบอกเขาว่าไมโครซอฟต์ไม่เคยจ้างพนักงานเพื่อเอาบุญ แต่ Adickman มีความสามารถเหมาะสมที่จะอยู่ที่นี่ต่างหาก
ทีมของ Adickman มีบุคลิกค่อนข้างเสียงดัง อึกทึกครึกโครม ตอนแรกพี่เลี้ยงก็กลัวว่า Adickman จะไม่ชอบเสียงดังหรือไม่ แต่กลายเป็นว่าเขาเข้ากันด้วยดี ไม่กลัวเสียงดัง นอกจากนี้เขายังรู้สึกมีความสุขที่ได้ทำงานที่นี่
ผู้ที่ผ่านโครงการนี้ของไมโครซอฟท์ ยังไม่เคยมีใครลาออกกลางคันเลย แม้โครงการจะยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ไมโครซอฟต์ก็เล็งจะประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย องค์กรต่างๆ ที่ทำหน้าที่ในการสานรอยต่อระหว่างชีวิตการงาน ผู้พิการและคนออทิสติก เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อพยายามสร้างแบบแผนที่ดีต่อไป
ที่มา - Fast Company