นับเป็นเรื่องอื้อฉาวของเมื่อวาน หลังลูกค้า AIS โพสต์กระทู้ว่าถูกพนักงานนำข้อมูลการพูดคุยและตำแหน่งไปเปิดเผย ซึ่งถึงแม้ AIS จะระบุว่าไล่พนักงานออก พร้อมแจ้งดำเนินคดีแล้วก็ตาม แต่กสทช. ล่าสุดประกาศตั้งคณะกรรมการสอบแล้ว
ขณะเดียวกันทาง กสทช. ยังได้ส่งหนังสือกำชับไปยังโอเปอเรเตอร์เจ้าอื่นๆ ด้วยว่า การเปิดเผยข้อมูลลูกค้า มีความผิดตามมาตรา 74 แห่งพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มีโทษสูงสุดจำคุก 2 ปี และอาจมีความผิดฐานละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ตามประกาศมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการโทรคมนาคม ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงขั้นยึดใบอนุญาต
นอกจากนี้ กสทช. มีมติเห็นชอบต่อร่างประกาศเรื่อง ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง หรือกิจการโทรทัศน์ (ฉบับที่ 2) ซึ่งจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
ที่มา - อีเมลประชาสัมพันธ์
สำนักงาน กสทช. ตั้งคณะกรรมการสอบ AIS กรณีพนักงานนำข้อมูลลูกค้าไปขาย พร้อมมีหนังสือกำชับโอเปอเรเตอร์ทุกรายหากเปิดเผยข้อมูลลูกค้าจะมีความผิดตามกฎหมายโทษสูงสุดถึงขั้นยึดใบอนุญาตประกอบกิจการและ กสทช. อนุมัติประกาศค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์และให้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยช่วยเหลือผู้ประกอบการ พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ปี 2559 โดยอนุมัติเงินงบประมาณ 171.627 ล้านบาท
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีผู้โพสต์ข้อความลงเว็บไซต์พันทิปว่ามีพนักงาน AIS นำข้อมูลลูกค้าไปให้บุคคลภายนอก นั้น ในวันนี้ (14 ก.ย. 2559) สำนักงาน กสทช. ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวแล้ว พร้อมทั้งส่งหนังสือกำชับไปยังผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายหากเปิดเผยข้อมูลลูกค้าจะมีความผิดตามมาตรา 74 แห่งพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 โดยมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 2 ปี ในส่วนของผู้ประกอบการก็อาจมีความผิดในทางปกครองตามประกาศ มาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการโทรคมนาคมเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม ซึ่งโทษสูงสุดถึงขั้นยึดใบอนุญาตประกอบกิจการ
สำหรับผลการประชุม กสทช. ในวันนี้ ที่ประชุม กสทช. ได้มติเห็นชอบสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง หรือกิจการโทรทัศน์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. .... และได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศดังกล่าว และให้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบิกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศ กสทช. เรื่อง ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง หรือกิจการโทรทัศน์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. .... ได้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ดังนี้
- รายได้ 0-5 ล้านบาทแรก อัตราค่าธรรมเนียม ร้อยละ 0.50
- รายได้ส่วนที่เกินกว่า 5 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท อัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 0.75
- รายได้ส่วนที่เกินกว่า 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท อัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.00
- รายได้ส่วนที่เกินกว่า 500 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท อัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.75
- รายได้ส่วนที่เกินกว่า 1,000 ล้านบาท อัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 2.00
โดยการชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวต้องชำระเป็นรายปี กรณีที่ไม่ชำระเงินค่าธรรมเนียมภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือชำระไว้ไม่ครบถ้วน ผู้รับใบอนุญาตจะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีและเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.50 ต่อเดือนของจำนวนเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีที่ต้องชำระแต่ชำระไว้ไม่ครบ โดยเศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน นับตั้งแต่วันถัดจากวันครบกำหนดชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี จนกว่าจะชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีครบถ้วน
จากนั้น ที่ประชุม กสทช. ได้สนับสนุนการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ปี 2559 โดยอนุมัติค่าใช้จ่ายการขอรับจัดสรรงบประมาณแผนการขับเคลื่อนภารกิจของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี 2559 (มิ.ย.-ธ.ค. 2559) วงเงินงบประมาณ 171,627,941 บาท โดยแบ่งจัดสรรเงินงบประมาณเป็น 2 งวด คือ งวดแรก จำนวน 120,227,941 บาท ภายหลัง กสทช. มีมติเห็นชอบ งวดที่สอง จำนวน 51,400,000 บาท เมื่อกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้ดำเนินการจัดสรรทุนและมีการลงนามในสัญญารับทุนแล้ว ทั้งนี้วงเงินดังกล่าวถือเป็นกรอบวงเงินที่ได้รับตามมาตรา 6 (1) และจะต้องมีการใช้จ่ายเงินให้เป็นไปตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558