Tesla ออกอัพเดตเวอร์ชัน 8.0 ปรับปรุงระบบเรดาร์ยกใหญ่, มองเห็นรถยนต์สองคันข้างหน้าแล้ว

by BlackMiracle
15 September 2016 - 03:25

สิ่งหนึ่งที่รถยนต์ไฟฟ้า Tesla แตกต่างจากรถยนต์ทั่วไป คือมันมีการอัพเดตซอฟต์แวร์ของตัวรถอยู่สม่ำเสมอ เมื่อผู้ใช้จอดรถในบริเวณบ้านก็จะเชื่อมต่อ Wi-Fi อัตโนมัติ ซึ่งอัพเดตใหญ่ครั้งสุดท้ายคือเวอร์ชัน 7.0 เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว มาพร้อมกับฟีเจอร์ Autopilot หลังจากนั้นก็ออกเวอร์ชัน 7.1 ที่ทำให้รถสามารถเข้าออกโรงจอดรถเองได้ ล่าสุด Tesla ประกาศเปิดตัวซอฟต์แวร์เวอร์ชัน 8.0 มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญคือการปรับปรุงระบบเรดาร์สำหรับ Autopilot ครั้งใหญ่

บนเว็บไซต์ Tesla เล่าเกี่ยวกับอัพเดตใหม่นี้ว่าจะใช้การประมวลผลสัญญาณจากเรดาร์ (signal processing) ที่ล้ำยิ่งขึ้นเพื่อสร้างแบบจำลองของพื้นที่รอบรถ โดยใช้ฮาร์ดแวร์เดิมได้เลย ซึ่งก่อนหน้านี้ระบบเรดาร์ดังกล่าวเป็นเพียงตัวเสริมให้กล้องหลักและระบบประมวลผลภาพ (image processing) เท่านั้น

วิศวกรของ Tesla ได้ตัดสินใจให้ข้อมูลจากระบบเรดาร์มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยก่อนหน้านี้ยึดการประมวลผลจากกล้องเป็นหลัก เหตุผลหนึ่งที่ Tesla ให้น้ำหนักกับข้อมูลจากกล้องมากกว่าเพราะเรดาร์มองเห็นวัตถุบางชนิดผิดไปจากความเป็นจริง เช่นเรดาร์จะมองเห็นโลหะเป็นกระจกเงา, มองเห็นบางส่วนของร่างกายมนุษย์เป็นวัตถุโปร่งแสง หรือมองเห็นวัสดุที่เป็นไม้หรือพลาสติกเป็นวัตถุที่เกือบจะโปร่งใสเหมือนกระจกเลยทีเดียว แต่ข้อดีคือมันสามารถมองทะลุหมอก, ฝุ่น, ฝน และหิมะได้สบายๆ

ยิ่งไปกว่านั้น เรดาร์มองเห็นโลหะที่มีลักษณะเป็นจานนูนผิดไปจากความเป็นจริงมาก ไม่เพียงแต่สะท้อนกลับเหมือนกระจกเงา แต่ยังขยายสัญญาณที่สะท้อนไปมาเนื่องจากความนูนอีกด้วย Tesla ยกตัวอย่าง "กระป๋องน้ำอัดลมบนถนน" ที่หันก้นกระป๋องเข้าหารถ ว่าเรดาร์จะเห็นกระป๋องเล็กๆ เป็นสิ่งกีดขวางขนาดใหญ่และอันตราย ซึ่งถ้ายึดข้อมูลจากเรดาร์เป็นหลัก รถก็จะเบรกอัตโนมัติเพื่อป้องกันการชน

ปัญหาใหญ่ของการใช้ข้อมูลจากเรดาร์คือต้องทำอย่างไรที่จะหลีกเลี่ยงสัญญาณเตือนที่ผิดพลาด (false alarm) คงไม่มีมนุษย์คนไหนอยากเบรกเพื่อหลบกระป๋องน้ำอัดลมแน่นอน อีกทั้งการเบรกเมื่อไม่มีเหตุจำเป็นยังก่อให้เกิดความรำคาญและอาจเป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุได้ด้วย

การแก้ปัญหาข้างต้นในขั้นแรกคือเพิ่มรายละเอียดข้อมูลจากเรดาร์ให้ได้มากที่สุด โดยซอฟต์แวร์เวอร์ชัน 8.0 จะเปิดรับข้อมูลรอบตัวมากขึ้นอีก 6 เท่าด้วยฮาร์ดแวร์เดิม (ฮาร์ดแวร์ชุดนี้ใช้งานมาตั้งแต่ปี 2014 แปลว่า Tesla เลือกใช้อุปกรณ์ระดับดีมาก รองรับอนาคต)

ขั้นที่สองคือการนำข้อมูลจากเรดาร์แต่ละช็อตที่เก็บข้อมูลใหม่ทุก 100 มิลลิวินาที (แปลว่า 1 วินาที เก็บข้อมูลรอบตัวได้ 10 ครั้ง) มารวมเข้าด้วยกันแล้วจำลองภาพสามมิติของพื้นที่รอบตัวขึ้นมา โดย Tesla บอกว่าการอิงจากข้อมูลเพียงเฟรมเดียวไม่สามารถบอกได้ว่าวัตถุชิ้นใดๆ กำลังขยับหรือหยุดนิ่ง หรือสะท้อนสัญญาณมาปลอมๆ จึงต้องเปรียบเทียบเอาจากข้อมูลหลายๆ ชุดและนำความเร็วรถรวมถึงเส้นทางที่คาดว่ารถจะวิ่งไป มารวมกันเพื่อคำนวณว่าวัตถุนั้นเป็นสิ่งกีดขวางจริงหรือไม่ และมีความเป็นไปได้ที่จะเฉี่ยวชนมากน้อยแค่ไหน

ถ้าคิดว่าขั้นที่สองยากแล้ว Tesla บอกว่าขั้นที่สามยากกว่ามาก เพราะเมื่อรถยนต์มุ่งหน้าเข้าสู่ทางลอด เช่นลอดใต้สะพาน หรือมีป้ายบอกทางขนาดใหญ่อยู่ด้านบน รถมักจะมองเห็นเป็นเส้นทางที่เสี่ยงต่อการชน แม้ระบบนำทางและข้อมูลความสูงจาก GPS จะบอกว่าเป็นเส้นทางที่ขับไปได้ แต่รถก็ยังไม่ชัวร์ว่าจะลอดผ่านไปได้หรือไม่

Tesla จึงใช้การเรียนรู้แบบกลุ่มเข้ามาช่วย (fleet learning - รถสอนรถ) โดยเริ่มแรกรถจะไม่เบรกหรือเตือนใดๆ เวลาลอดใต้สะพาน แต่จะเก็บข้อมูลทุกอย่างไว้ก่อน หากเป็นสถานการณ์ที่รถคิดว่าควรเบรก แต่คนขับไม่เบรกหรือแสดงอาการใดๆ มันก็จะอัพโหลดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้นฐานข้อมูลของ Tesla จากนั้นหากมีรถหลายๆ คันขับผ่านจุดนั้นๆ ได้อย่างปลอดภัย พิกัดตรงนั้นก็จะถูกเก็บเข้า whitelist ว่าเป็นจุดที่ผ่านไปได้อย่างปลอดภัยนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม หากกลัว false alarm มากเกินไปแล้วไม่เบรกเลยก็ยังเสี่ยงอีก โดยเมื่อข้อมูลจากเรดาร์แสดงว่ามีความเสี่ยงที่จะชน รถจะเริ่มแตะเบรกนิดๆ แม้กล้องจะมองไม่เห็นสิ่งกีดขวางใดๆ จังหวะนั้นก็จะประมวลผลพื้นที่รอบตัวไปเรื่อยๆ และเมื่อความมั่นใจว่าจะชนเพิ่มสูงขึ้น รถจะเบรกหนักขึ้น และเมื่อมีโอกาสชน 99.99% ก็จะเบรกเต็มที่ทันที Tesla บอกว่าการทำแบบนี้อาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงการชนได้ 100% แต่ก็ช่วยลดความเสียหายไปได้เยอะพอสมควร

ฟีเจอร์ใหญ่สุดท้ายคือต่อไปนี้รถยนต์ Tesla จะมองเห็นรถยนต์ถึงสองคันข้างหน้าแล้ว จากเดิมที่มองแค่คันข้างหน้าเท่านั้น วิศวกรบอกว่าใช้สัญญาณเรดาร์สะท้อนลอดไปใต้ท้องรถยนต์คันข้างหน้า และแยกแยะสัญญาณที่สะท้อนกลับมาว่าเป็นคันข้างหน้า หรือสองคันข้างหน้าจากระยะเวลาที่โฟตอนถูกยิงออกไป หากรถคันที่ 2 เกิดชน รถ Tesla ก็ยังเบรกได้ทันเวลา แม้รถคันข้างหน้าจะบังกล้องอยู่ก็ตาม

ทีมงานยังเล่นมุกในช่วงท้ายของประกาศว่ารถยนต์ Tesla จะเบรกได้อย่างถูกต้องแม้ในสภาพอากาศที่หมอกลงจัด ทัศนวิสัยเป็นศูนย์ และมี UFO บินมาลงจอดขวางกลางไฮเวย์ก็ตาม

สรุปฟีเจอร์สำคัญ ที่มาพร้อมอัพเดตเวอร์ชัน 8.0 มีดังนี้

  • ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติจะเบรกเร็วขึ้นและลดความหน่วงลง 5 ส่วน
  • เรดาร์มองเห็นรถยนต์สองคันข้างหน้าแล้ว
  • รถจะออกจากไฮเวย์หากผู้ใช้เปิดสัญญาณไฟเลี้ยว
  • เวลาแซงจะเว้นระยะห่างด้านข้างจากรถที่เราแซงมากขึ้น หากคันนั้นขับเหยียบเส้น
  • การแจ้งเตือนต่างๆ บนหน้าปัดจะเด่นมากขึ้น
  • ตรวจจับการถูกตัดหน้าจากรถคันอื่นได้ดียิ่งขึ้น โดยดูจากสัญญาณไฟเลี้ยวของคันที่ตัดหน้าประกอบ
  • ลดความเป็นไปได้ที่จะแซงในเลนขวาที่ยุโรป
  • เพิ่มความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนเลนอัตโนมัติ
  • รถจะไม่อนุญาตให้เปิดระบบรักษารถให้อยู่ในเลน (ส่วนหนึ่งของ Autopilot) หากผู้ขับไม่สนใจคำเตือนของรถ และไม่เอามือจับพวงมาลัยไว้ โดยต้องจอดสนิทก่อนถึงจะเปิดได้
  • เมื่อผู้ขับเบรกกะทันหัน รถจะช่วยเบรกให้แรงขึ้นอีก
  • เตือนผู้ขับเมื่อรถกำลังจะออกนอกเลน และระบบ Autosteer ไม่ได้เปิดใช้งานอยู่
  • เมื่อมีข้อมูลมากพอ รถจะเปิดระบบ Autopilot อัตโนมัติเพื่อหลีกเลี่ยงการชน เมื่อโอกาสอยู่ที่ราว 100%
  • รถจะปรับความเร็วเวลาเข้าโค้งอัตโนมัติโดยใช้ข้อมูลองศาความโค้งจากรถคันอื่น (ส่วนหนึ่งของ fleet learning)
  • การปรับแต่งอย่างอื่นอีกราว 200 อย่าง

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่อัพเดตนี้ออกมาไม่ทันเหตุการณ์อุบัติเหตุของนาย Joshua Brown ที่เสียชีวิตเป็นคนแรกจากการใช้ระบบ Autopilot ซึ่งถ้าเขาได้ใช้ซอฟต์แวร์ตัวนี้ อาจสามารถหลีกเลี่ยงการชนสำเร็จก็เป็นได้

อัพเดตนี้จะทยอยปล่อยให้ผู้ใช้ Tesla ภายในสองสัปดาห์ข้างหน้า

ที่มา - Tesla

Blognone Jobs Premium