คุยกับสมาคมธนาคารเรื่อง PromptPay: ยังใช้หมายเลขบัญชีไม่ได้, การโอนส่วนตัวไม่เกี่ยวกับภาษี

by lew
18 September 2016 - 16:21

บริการ PromptPay เตรียมเปิดใช้งานจริงวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ตอนนี้มีการประชาสัมพันธ์ออกมาหลายช่องทาง (บางช่องทางก็ดูจะ "พยายาม" มากเกินไปสักหน่อย) แต่ด้วยความที่โครงการ Nation e-Payment เป็นโครงการขนาดใหญ่ และมีข้อมูลที่หลายครั้งสับสน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางสมาคมธนาคารจึงเชิญบล็อกเกอร์และสื่อหลายคนไปพูดคุยกัน ผมเองได้เข้าร่วมด้วย จึงสรุปประเด็นที่พูดคุยกันไว้มาให้

ใช้อะไรโอนได้บ้าง

บริการ PromptPay ถูกวางให้รับข้อมูลระบุตัวผู้รับได้ 5 ประเภท ได้แก่ เลขบัตรประชาชน, เลขโทรศัพท์มือถือ, เลขบัญชีธนาคาร, กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์, และอีเมล อย่างไรก็ดี ช่วงแรกจะเปิดให้บริการเฉพาะ เลขบัตรประชาชนและเลขโทรศัพท์มือถือ เท่านั้น

PromptPay กับภาษี?

ประเด็นแรกๆ หนึ่งที่มีการพูดกันมากคือ การเก็บภาษีกับ National e-Payment ที่ทำให้คนสงสัยว่าการสมัคร PromptPay จะเกี่ยวกับภาษีหรือไม่ บางคนอาจจะกลัวไปถึงว่ารับเงินผ่าน PromptPay แล้วรัฐจะตามมาตรวจภาษีได้ง่ายขึ้น

ที่จริงแล้วกระบวนการด้านภาษีเป็นเฟสที่สามของโครงการ National e-Payment ในภาพใหญ่ ที่ในอนาคต เมื่อมีการจ่ายเงินระหว่างองค์กรธุรกิจ จะไม่ต้องเก็บใบกำกับภาษีและใบหักภาษี ณ ที่จ่ายกันให้ยุ่งยากเหมือนทุกวันนี้อีกต่อไป แต่หักกันและยื่นแบบต่างๆ ได้ทางอิเล็กทรอนิกส์เลย

สำหรับกระบวนการโอนเงิน PromptPay ทุกวันนี้ความเป็นส่วนตัวก็ยังอยู่ระดับเดียวกับการโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เราใช้งานกัน มีหน่วยงานบางหน่วยงานมีอำนาจตามกฎหมายเข้าตรวจสอบตามกระบวนการเหมือนๆ กัน

พร้อมเพย์กับการจ่ายเงิน

แม้ว่าจะชื่อว่าพร้อมเพย์ แต่โครงการ National e-Payment จะเริ่มเป็นโครงการจ่ายเงินอย่างจริงจังในขั้นที่สอง การขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ที่อาศัยโครงสร้างพื้นฐานเดียวกับพร้อมเพย์

ทุกวันนี้คนไทยมีบัตรอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก เป็นบัตรเดบิต 48 ล้านใบ และบัตรเอทีเอ็มถึง 20 ล้านใบ แต่ปริมาณการใช้เงินสดก็ยังสูงมาก เป็นต้นทุนของทั้งผู้ใช้ (คนซื้อของต้องถือเงินสด ร้านค้าต้องเก็บเงินสดมากๆ ไว้ในร้าน) และธนาคารเองที่ต้องขนส่งเงินไปมา

เมื่อโครงการ National e-Payment ถึงขั้นที่สอง จะมีการออกเครื่องรับจ่ายเงิน (Electronic Data Capture - EDC) เพื่อรับจ่ายเงินกันเป็นวงกว้าง แม้จะยังไม่มีรายละเอียดออกมา แต่ทางสมาคมธนาคารก็ระบุว่าต้นทุนการติดตั้ง EDC ในอนาคตจะถูกลงมาก ร้านค้ารายย่อยจะรับจ่ายกันได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการพัฒนา mobile EDC ที่ติดตั้งกับโทรศัพท์มือถือออกมา

โครงการ EDC จะเริ่มเห็นรายละเอียดกันช่วงต้นปีหน้า

ตัวอย่างหน้าจอ PromptPay เป็นเมนูแยกออกจากเมนูการโอนต่างธนาคารตามปกติ สังเกตว่าไม่ต้องมีกระบวนการ "เพิ่มบัญชีบุคคลอื่น" เหมือนการโอนทุกวันนี้แล้ว

ประโยชน์ของ PromptPay ในระยะยาว

ตัว PromptPay เอง แม้จะเป็นเพียงระบบโอนเงินใหม่ และต้องรอโครงการเฟสต่อๆ ไปจึงเห็นกระบวนการรับจ่ายอิเล็กทรอนิกส์ในวงกว้าง แต่ตัวระบบ PromptPay เองก็จะมีการปรับปรุงตามมาในอนาคต ที่น่าเราน่าจะเห็นผลกันได้แก่

  • รับจ่ายเงินเดือน ระบบ payroll ทุกวันนี้แยกตามธนาคาร ย้ายงานแต่ละครั้งจำเป็นต้องเปิดบัญชีตามที่ทำงานกำหนด แต่ในอนาคต PromptPay จะใช้จ่ายเงินเดือนได้ด้วย ถึงตอนนั้นก็เลือกใช้ธนาคารตามใจชอบได้
  • บันทึกช่วยจำ อันนี้ร้านค้าออนไลน์คงพบปัญหากันเป็นประจำคือยอดโอนเงินเข้ามาแล้วไม่รู้ว่าของใคร ลำบากว่าต้องให้โอนเศษสตางค์เพื่อให้อ้างอิงได้ เนื่องจาก PromptPay มีการปรับปรุงระบบศูนย์กลางโอนเงิน ในอนาคตก็จะมีข้อความแนบไปกับการโอนเงินได้ (แต่ยังไม่ประกาศว่าจะเสร็จเมื่อใด)
Blognone Jobs Premium