งานวิจัยพบ การสวมใส่อุปกรณ์เพื่อสุขภาพอาจไม่ทำให้น้ำหนักลดได้ดีเสมอไป

by pawinpawin
22 September 2016 - 09:46

อุปกรณ์สวมใส่เพื่อสุขภาพเป็นอุปกรณ์ที่มาแรงในช่วงหลังๆ จุดมุ่งหมายหลักๆ ของอุปกรณ์เหล่านี้คือนับปริมาณแคลอรี่ที่เผาผลาญไปในแต่ละวัน และเตือนผู้ใส่ว่าวันนี้เผาผลาญได้ตามเป้าหมายหรือไม่ จึงนิยมในผู้ที่พยายามที่จะลดความอ้วน แต่งานวิจัยชิ้นใหม่ชี้ให้เห็นว่าความคิดนี้อาจได้ผลไม่ดีอย่างที่เราเข้าใจกัน

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Pittsburgh สหรัฐอเมริกา ทดสอบอุปกรณ์สวมใส่ BodyMedia Fit Core ซึ่งเป็นปลอกแขนที่วัดกิจกรรมที่ผู้ใส่ทำและคิดออกมาเป็นพลังงานที่ใช้ โดยรวบรวมอาสาสมัครจำนวน 471 รายที่ต้องการจะลดความอ้วนที่มีอายุระหว่าง 18-35 ปี มีดัชนีมวลกาย (BMI) 25-40 กิโลกรัมต่อตารางเมตร อาสาสมัครจะเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มที่มีคำแนะนำเกี่ยวกับการลดน้ำหนักทุกสัปดาห์ระหว่างช่วงหกเดือนแรก และหลังจากนั้นอาสาสมัครจะถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มด้วยการสุ่ม กลุ่มหนึ่งจะได้รับอุปกรณ์สวมใส่ดังกล่าว ส่วนกลุ่มควบคุมไม่ได้รับอุปกรณ์

ทีมวิจัยพบว่าเมื่อเวลาผ่านไปสองปี อาสาสมัครที่เหลืออยู่จนจบนั้น (ซึ่งคิดเป็น 74.5% ของอาสาสมัครทั้งหมด) ในกลุ่มที่ได้รับอุปกรณ์นั้นน้ำหนักลดลงกว่าเดิม 3.5 กิโลกรัม ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้ใช้อุปกรณ์กลับมีน้ำหนักลดลงมากกว่า โดยลดได้ถึง 5.9 กิโลกรัม ความแตกต่างนี้ยังพบอยู่แม้กระทั่งใช้วิธีการทางสถิติเพื่อชดเชยข้อมูลของอาสาสมัครที่ไม่อยู่ร่วมงานวิจัยจนจบ ผู้วิจัยจึงสรุปว่าอุปกรณ์ดังกล่าวไม่น่าจะให้ผลอะไรมากไปกว่าเทคนิคในการลดน้ำหนักปกติ (กลุ่มที่ใช้นั้นใช้โดยเฉลี่ยเป็นจำนวน 170 วันตลอดการศึกษา วันละเฉลี่ย 241 นาที)

Dr. Jakicic ผู้วิจัยให้ความเห็นว่าเขาเองก็ไม่ทราบว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์ที่ตรงกันข้ามกันกับที่เราคิดแบบนี้ โดยมันอาจจะเกิดขึ้นจากผู้ที่ใส่นั้นพอใส่แล้วคิดว่าไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายเลยไม่มีอารมณ์ออกกำลังต่อ หรือคนที่ใส่มัวแต่สนในตัวอุปกรณ์จนไม่ได้ใส่ใจจริงๆ กับพฤติกรรมที่ส่งผลต่อน้ำหนักและอาจจะกินมากเกินกว่าปกติก็เป็นได้

ที่มา: Journal of American Medical Association, The New York Times

Blognone Jobs Premium