ผมได้รับคำเชิญจากทาง Mozilla Foundation ให้ไปร่วมงาน Firefox Summit 2008 ซึ่งเป็นงานสัมมนาของนักพัฒนาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ Firefox และโครงการของ Mozilla ทั้งหลาย เท่าที่ลองค้นดู Mozilla ได้จัดงานนี้มาสองครั้งในปี 2005 และ 2006 ซึ่งจัดหลังจาก Firefox 1.5 และ Firefox 2.0 ออกตัวจริง สำหรับงานรอบนี้ก็อย่างที่เดากันได้ว่าสำหรับ Firefox 3.0 แต่ที่พิเศษหน่อยคือเป็นงานครั้งแรกที่ไม่ได้จัดในสำนักงานใหญ่ของ Mozilla ที่แคลิฟอร์เนีย แต่ข้ามไปจัดที่รีสอร์ทสกี Whistler ประเทศแคนาดา
รีสอร์ทสกี Whistler นี้อยู่ชายฝั่งตะวันตกของประเทศแคนาดา (แผนที่) ห่างจากเมืองใหญ่ที่สุดในแถบนั้นคือ Vancouver ประมาณสองชั่วโมงนั่งรถ ดังนั้นแทบทุกคนต้องบินไปลงที่ Vancouver ก่อน แล้วค่อยต่อรถบัสไปยัง Whistler
ถ้าใครคิดว่าชื่อ Whistler คุ้นๆ ก็ไม่ต้องแปลกใจครับ Whistler คือโค้ดเนมของ Windows XP นั่นเอง Whistler เป็นทั้งชื่อเมืองและชื่อภูเขา ซึ่งตรงนั้นมีเขาอีกลูกที่อยู่ติดกันชื่อว่า Blackcomb (ถ้าใครจำกันได้ มันเป็นโค้ดเนมของวินโดวส์รุ่นถัดไป ซึ่งตอนหลังเปลี่ยนมาเป็น Windows 7) โดยชื่อรีสอร์ทจะใช้ชื่อรวมว่า Whistler Blackcomb และระหว่างกระเช้าสำหรับขึ้นภูเขาทั้งสองลูก จะมีบาร์ชื่อดังตั้งอยู่ ซึ่งบาร์อันนี้มีชื่อว่า Longhorn Saloon (โค้ดเนมของ Vista) สาเหตุที่ไมโครซอฟท์ตั้งชื่อโค้ดเนมตามรีสอร์ทเหล่านี้ก็เป็นเพราะว่าสำนักงานใหญ่ของไมโครซอฟท์อยู่ที่เมือง Seattle ซึ่งใกล้กับ Vancouver มาก (นั่งรถ 3-4 ชม.) ในฤดูหนาวพนักงานของไมโครซอฟท์จึงมาเล่นสกีกันที่ Whistler นั่นเอง
งานสัมมนาครั้งนี้เค้าบอกว่าตัวเลขผู้ร่วมงานประมาณ 400 คน จะมาได้ต้องได้รับคำเชิญจาก Mozilla เท่านั้น และทาง Mozilla จะจ่ายค่าเดินทาง ที่พัก และอาหารให้ทั้งหมด (รวมแล้วน่าจะหลายตังค์ ทำให้เข้าใจได้ว่า Mozilla ได้เงินจากกูเกิลมาเยอะมากๆ) สำหรับคนดังๆ ที่ผมได้เจอ และคิดว่าน่าเขียนถึงก็มีรายนามดังต่อไปนี้ครับ
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าเป้าหมายของงานสัมมนาครั้งนี้คืออะไร เท่าที่ผมลองสังเกตดูจาก session ต่างๆ ก็พอสรุปได้ดังนี้
ส่วนที่น่าสนใจคือข้อสุดท้าย ซึ่งผมจะเขียนเล่าแยกความคืบหน้าเป็นโครงการๆ ไป
Firefox 3.1
พระเอกของงานคือ Firefox ตามชื่องาน สำหรับแผนระยะสั้นของ Firefox คือรุ่น 3.1 ซึ่งออกตัวอัลฟ่าแรกมาก่อนหน้างานจะเริ่มนิดหน่อย (รายละเอียดดูในเว็บ Mhafai) การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมี 2 อย่าง
แท็ก <video> เป็นเรื่องใหญ่มากครับ คือต้องย้อนไปถึงปัญหาของ HTML 4 ซึ่งสเปกออกมาตั้งแต่ปี 1997 (ถ้าเอาฉบับล่าสุดคือ 4.0.1 ในปี 1999) สมัยนั้นเว็บยังไม่ต้องการความหรูหราไฮโซมากนัก ทำให้ HTML 4 ไม่ได้รวมความสามารถด้านวิดีโอเข้ามาในตัว พอเว็บเริ่มพัฒนามากขึ้น ต้องการลูกเล่นด้านมัลติมีเดียมากขึ้น แต่ทาง W3C กลับไม่สามารถตอบสนองความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ทัน ทำให้วิธีการเล่นวิดีโอแบบอื่นๆ ด้วยปลั๊กอินและแท็ก <embed> หรือ <object> ได้รับความนิยมไป ถึงแม้ว่าปัจจุบันเราจะดู YouTube ผ่าน Flash Plugin ได้อย่างสะดวกสบาย แต่ปัญหาของมันก็คือตัว codec ของวิดีโอนั้นกลับไม่เป็น codec เสรีเหมือนกับข้อความหรือรูปภาพใน HTML โดยเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของ Adobe (หรือไมโครซอฟท์หรือแอปเปิล) ไปแทน ถ้าแพลตฟอร์มไหนที่ Adobe ไม่ทำปลั๊กอินให้ก็จอด คนที่ใช้ Linux x86-64 หรือ iPhone น่าจะเข้าใจปัญหานี้ดี
บรรดาผู้เกี่ยวข้องจึงผลักดันให้มี HTML 5 ซึ่งรวมเอาความสามารถด้านวิดีโอมาในตัว ปัจจุบัน HTML 5 ยังไม่ออกเป็นมาตรฐานอย่างเป็นทางการของ W3C ยังเป็นฉบับร่างอยู่ ใน HTML 5 มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง (ดู Wikipedia ประกอบ) สิ่งสำคัญอันหนึ่งคือเพิ่มแท็ก <audio> และ <video> เข้ามา โดยทาง Mozilla และ Opera เลือกใช้ codec ที่เป็นเสรีและไม่ต้องจ่ายค่าใช้งานคือ Ogg Vorbis และ Ogg Theora ซึ่งก่อนหน้านี้มีข้อขัดแย้งเรื่องฟอร์แมตพอสมควร
สรุปสั้นๆ เอาเป็นว่า Firefox 3.1 ตัว nightly (หลัง Alpha 1) สนับสนุน Ogg Theora ในตัวโดยไม่ต้องลงปลั๊กอินเพิ่มแล้ว รายละเอียดอ่านในบล็อกของนักพัฒนา Chris Double และถ้าอยากทดสอบก็เข้าไปที่หน้า Video Test ตอนประกาศข่าวนี้ในงานนั้นเท่มาก ทุกคนปรบมือให้ เผอิญผมมาเขียนถึงช้าไปหน่อยคนเลยรู้กันทั่วอินเทอร์เน็ตแล้ว
ทิศทางในระยะยาวของ Firefox
สำหรับทิศทางในระยะยาวของ Firefox ก็แบ่งเป็น 2 ส่วนอีกเช่นกัน ส่วนแรกคือประเด็นทางด้านเทคนิคซึ่งไม่มีอะไรใหม่ถูกประกาศ เพราะ Mozilla ได้ดำเนินการมาสักระยะแล้ว
แผนการทั้งหมดถูกเรียกว่า Mozilla 2 ซึ่งจะเป็นฐานสำคัญให้กับ Firefox 4 เป็นต้นไป ในหน้า Mozilla Wiki ได้อธิบาย Mozilla 2 ไว้ดังนี้
ในงานนี้มีพูดถึงประสิทธิภาพของตัวเอนจิน JavaScript ใหม่ด้วย ซึ่งผมไม่ได้เข้าฟัง แต่ดูจากข้อความใน Twitter แล้วคนฮือฮากันพอสมควร
ส่วนอีกประเด็นนอกเหนือจากเรื่องเทคนิคจ๋าๆ คือเรื่องส่วนติดต่อผู้ใช้ของเว็บเบราว์เซอร์ในอนาคต คนพูดเรื่องนี้คือ Alex Faaborg ซึ่งถ้าใครติดตามข่าวของ Firefox 3.0 มาอาจยังพอจำได้ว่า หมอนี่เป็นคนปล่อยภาพร่างไอเดียตัวอย่างของ Firefox 3.0 ออกมาเป็นระยะ
Faaborg พาย้อนอดีตส่วนติดต่อผู้ใช้ของเว็บเบราว์เซอร์ตั้งแต่ช่วงปลายยุค 80s มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเขาสรุปว่าหน้าตาของเว็บเบราว์เซอร์เปลี่ยนแปลงน้อยมาก
กรณีใกล้เคียงที่เขายกมาเปรียบเทียบคือ จอยของเกมคอนโซล ซึ่งไม่ต่างอะไรกับจอยของเครื่อง Famicom มากนัก เขาเล่าว่าเคยคุยกับทีมดีไซเนอร์ของ Xbox 360 ซึ่งทดลองจอยล้ำยุคหลายแบบมาก แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาใช้รูปแบบเดิมๆ ด้วยเหตุผลว่า "เป็นรูปแบบที่ผู้เล่นเกมคาดหวัง"
แต่กรุงศรีอยุธยาไม่เคยสิ้นคนดี โลกก็ได้พบกับนวัตกรรมแห่งวงการเกมจากนินเทนโด
Faaborg จึงบอกว่า ถ้านินเทนโดสามารถฉีกตัวเองออกจากขนบธรรมเนียมแบบเดิมๆ ได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้บ้าง พร้อมกับนำเสนอส่วนติดต่อผู้ใช้แบบใหม่ๆ หลายอย่าง
ที่ผมถ่ายรูปมาทันคือ เอาปุ่มของเบราว์เซอร์ไปฝังลงในเว็บเพจ ซึ่งจะเปลี่ยนไปตามแต่ละเพจ ดังภาพ
เบราว์เซอร์ในอนาคตไม่จำเป็นต้องอยู่บนคอมพิวเตอร์แบบเดิมๆ อีกต่อไป เบราว์เซอร์อาจไปอยู่บนมือถือ หรือบนอุปกรณ์ใหม่ๆ อย่าง Internet Tablet ของ TechCrunch ก็ได้ (ข่าวเก่า: จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อบล็อกเกอร์เริ่มสร้างสินค้าใช้เอง?)
พอเบราว์เซอร์ไปอยู่บน Internet Tablet หรือตู้ Kiosk มันส่งผลให้เงื่อนไขในการผสานเบราว์เซอร์เข้ากับระบบปฏิบัติการ (เช่น การลากไอคอนจากเดสก์ท็อปมาใส่ในเบราว์เซอร์ หรือไอคอนใน system tray) เปลี่ยนไปทันที เพราะว่าบน Tablet นั้น เบราว์เซอร์คือระบบปฎิบัติการ
อีกตัวอย่างหนึ่งคือระบบ History แบบแสดงเป็นภาพ (Lifestream) ที่หลายคนอาจดูวิดีโอกันไปแล้ว (หมายเหตุ: คนออกแบบเป็นสาวจีนน่ารัก เป็นเด็กฝึกงานของ Mozilla ครับ ไม่มีภาพประกอบ)
แบบสรุปคือทาง Mozilla ต้องการทดสอบความเป็นไปได้ของอินเทอร์เฟซในอนาคตแบบต่างๆ จึงเปิดโครงการใหม่ขึ้นมาชื่อว่า Mozilla Labs Concept Series ซึ่งใครก็ได้ที่มีไอเดียสร้างสรรค์สามารถเสนออินเทอร์เฟซแบบใหม่ๆ เข้าไปได้ จะเป็นภาพวาด วิดีโอ mockup เอาหมด ไม่จำเป็นต้องเป็นโค้ดที่รันได้จริง จุดมุ่งหมายของงานนี้คือทดสอบไอเดีย และชักชวนให้กลุ่มศิลปินหรือนักออกแบบเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น หนึ่งในพันธมิตรของโครงการนี้คือบริษัท Adaptive Path ได้ส่งวิดีโอ Aurora เข้าประกวดตามข่าวเก่าที่ลง Blognone ไปแล้ว
ชักยาวแล้ว เอาไว้ต่อตอนหน้า