สัมภาษณ์ Lenovo Thailand เตรียมลุยตลาดหนักในไตรมาสสี่, Yoga Book เข้าไทยแน่นอน

by mk
27 September 2016 - 16:00

Lenovo บริษัทพีซีอันดับหนึ่งของโลก อาจดูเงียบๆ ไปหน่อยในช่วงหลัง ทั้งยอดขายฝั่งพีซีที่ลดลงตามสภาพตลาดรวม และฝั่งสมาร์ทโฟน ที่กำลังอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างให้เข้าที่หลังซื้อ Motorola เข้ามา

อย่างไรก็ตาม ในงาน IFA 2016 เมื่อต้นเดือนนี้ Lenovo ก็กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง ด้วยผลิตภัณฑ์แนวคิดใหม่อย่าง Yoga Book พร้อมผลิตภัณฑ์อื่นอีกชุดใหญ่ทั้งโน้ตบุ๊กและแท็บเล็ต

Blognone มีโอกาสพูดคุยกับคุณจีรวุฒิ วงศ์พิมลพร กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยของ Lenovo Thailand ถึงแผนการตลาดของ Lenovo ในช่วงถัดจากนี้ไป (ไตรมาสสี่) ที่น่าจะกลับมาสร้างความโดดเด่นในตลาดอีกครั้ง

Lenovo มีอะไรใหม่บ้างในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ปี 2016 เป็นปีที่ form factor ของอุปกรณ์ไอทีเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน จากเดิมที่เราใช้โน้ตบุ๊กฝาพับ (calm shell) แบบเดิมๆ กันมานาน ก็มีอุปกรณ์รูปทรงใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่ง Lenovo ก็มีผลิตภัณฑ์ครบทุกแนว ทั้งโน้ตบุ๊กแบบหมุนจอ (Yoga) หรือโน้ตบุ๊กแบบแยกจอ (Miix) ฝั่งของแท็บเล็ตเองจะเห็นว่าตลาดรวมเริ่มตัน หลายเจ้าถอนตัวออกจากตลาดนี้ไปแล้ว แต่เรายังอยู่เพราะเรามี form factor ที่หลากหลายกว่า จับตลาดกว้างกว่า อย่างเช่น Yoga Tab 3 Plus ตัวใหม่

ทิศทางตลาดโน้ตบุ๊กเริ่มชัดเจนว่า โน้ตบุ๊ก clam shell แบบดั้งเดิมจะถูกลดความสำคัญลง จากการใช้งานทั่วไป (general purpose) มาเป็นอุปกรณ์เจาะเฉพาะกลุ่ม ถ้าให้เทียบก็เหมือนรถยนต์แบบ SUV ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นจนมาใกล้เคียงกับรถเก๋งซีดานแล้ว ฝั่งของ Lenovo เองก็จะเน้นที่ซีรีส์ Yoga ซึ่งถือเป็นสินค้าเรือธงของบริษัท

สินค้าทุกตัวที่เปิดตัวในงาน IFA จะเริ่มเปิดตัวในไทยไตรมาสหน้า (Q4)

Yoga Book จะเข้าไทยหรือเปล่า?

เปิดตัวไตรมาสหน้าอีกเหมือนกัน จะเอาเข้ามาทั้งรุ่น Android และ Windows ราคาก็บอกได้ว่าต่ำกว่า 20,000 บาททั้งคู่ ตัวนี้กลุ่มเป้าหมายจะเฉพาะหน่อย คงเป็นคนทำงานที่เน้น mobility มากๆ

ตรงนี้ คุณจีรวุฒิ มี Yoga Book มาโชว์ด้วย ผมมีโอกาสลองจับอยู่นิดหน่อยก็ต้องบอกว่าขนาดบางเบาสมคำร่ำลือ ปากกาเขียนได้จริงตามที่โฆษณาไว้ ส่วนคีย์บอร์ด พิมพ์แล้วยังไม่ค่อยคุ้นเท่าไร เทียบกับคีย์บอร์ดจริงๆ คงสู้ไม่ได้ และในช่วงแรก คีย์บอร์ดจะยังไม่มีภาษาไทยนะครับ

นอกจากสินค้าคอนซูเมอร์แล้วมีอะไรอีกบ้าง

ฝั่งของเดสก์ท็อปเองก็ชัดเจนว่าตลาดเกิดใหม่คือเกมมิ่ง ตรงนี้ทุกเจ้ามาทางนี้กันหมด เราเองก็มีผลิตภัณฑ์ฝั่งเกมมิ่งออกมาหลายตัว ในแง่การตลาดก็จับมือกับอินเทล ร่วมเป็นสปอนเซอร์ Arena ที่พันธุ์ทิพย์ แล้วก็จับมือกับเกมออนไลน์อย่าง WarCraft รวมถึง U-League ที่เป็นลีกแข่งขัน eSport ในระดับมหาวิทยาลัยด้วย

ฝั่งลูกค้าธุรกิจ สินค้าตัวที่โดดเด่นคือ Tiny-in-One หรือ TiO มันคือพีซีขนาดเล็กที่แขวนไว้หลังจอภาพได้ กลุ่มลูกค้าคือตลาดองค์กรที่เปลี่ยนมาใช้พีซีออลอินวัน (AiO) อยู่แล้ว แต่อยากลดพื้นที่ลงอีก (แต่มีพื้นที่สำหรับจอภาพที่ใหญ่ขึ้น) ประโยชน์สำคัญอีกอย่างคือลดค่าไฟลงได้เยอะ เฉลี่ยแล้วพีซีเดสก์ท็อปเครื่องหนึ่งมีต้นทุนค่าไฟตก 500-1,000 บาทต่อเดือน ถ้าเปลี่ยนมาใช้ TiO อาจลดค่าไฟลงได้ถึงครึ่ง สำหรับองค์กรที่มีคอมพิวเตอร์เยอะๆ ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก

สินค้ากลุ่มเซิร์ฟเวอร์ ที่เน้นช่วงนี้คงเป็นสตอเรจกลุ่ม hyperconverge ที่เราใช้เทคโนโลยีซอฟต์แวร์ของ Nutanix เพราะทิศทางตลาดชัดเจนว่า ถัดจาก virtualization การประมวลผล ก็มุ่งมาสู่การทำ virtualization สตอเรจและเครือข่าย ในแง่ความร่วมมือกับคู่ค้าอื่นๆ เราก็เป็นพันธมิตรกับ Red Hat และ SAP จับกลุ่มลูกค้าศูนย์ข้อมูล

แฟนพันธุ์แท้ ThinkPad หลายคนเริ่มปันใจ

ต้องยอมรับว่าในช่วงหลัง เราจัดสินค้า ThinkPad ไปอยู่ในสายผลิตภัณฑ์คอนซูเมอร์ การจัดการอาจไม่ต่อเนื่องนัก การเลือกคอนฟิกสเปกฮาร์ดแวร์จึงไม่หลากหลายเหมือนในอดีต แต่ในไตรมาสหน้า (Q4) จะย้ายส่วน ThinkPad กลับมาอยู่ในฝั่งธุรกิจเหมือนเดิม หลายอย่างก็จะดีขึ้น จำนวนรุ่นย่อย (SKU) ก็จะมีให้เลือกเยอะขึ้น ช่องทางการขายก็จะเพิ่มมากขึ้น

สมาร์ทโฟน หลายคนรอคอย Moto กันอยู่

Moto Z จะเปิดตัวในไทยช่วงเดือนตุลาคม ระหว่างนี้ก็มีของมาโชว์ที่งาน TME จุดเด่นของตัวโมดูลาร์ MotoMods ที่เป็นอุปกรณ์เสริมก็คงเอาเข้ามาบางตัว ที่อาจไม่ได้เอาเข้ามาคงเป็นตัวโปรเจคเตอร์ขนาดเล็ก ที่ตลาดบ้านเรายังไม่สนใจเท่าไร

หมายเหตุ: คุณจีรวุฒิไม่ได้ดูแลสินค้ากลุ่มสมาร์ทโฟนโดยตรง ไว้มีโอกาสจะสัมภาษณ์คนที่ดูแล Moto ในไทยนะครับ

ช่องทางการขายสินค้า จะมีออนไลน์บ้างหรือเปล่า

ต้องยอมรับว่าผู้บริโภคในเอเชียไม่นิยมซื้อฮาร์ดแวร์อิเล็กทรอนิกส์ผ่านร้านออนไลน์เหมือนอย่างในสหรัฐ เพราะรู้สึกว่ายังต้องลองจับสินค้าจริงก่อนซื้อ ข้อมูลจาก Lazada ก็บอกว่าขายฮาร์ดแวร์ที่เป็นเครื่องไม่ได้ แม้จะเป็นอุปกรณ์ชิ้นเล็กอย่างแท็บเล็ตก็ตาม แต่ขายอุปกรณ์เสริมพวก accessory กลับมีคนซื้อ พฤติกรรมของผู้บริโภคมักซื้อของออนไลน์ที่มูลค่าไม่เกิน 2-3 พันบาท ถ้าแพงกว่านี้แล้วยังขายได้ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องสำอาง

แต่ Lenovo ก็อยากขายออนไลน์เหมือนกันถ้าตลาดพร้อม เพราะระบบก็พร้อมหมดแล้ว อย่างที่ญี่ปุ่นหรือเกาหลีก็เริ่มมีบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นสินค้าระดับไฮเอนด์เท่านั้น

ช่องทางการขายอื่นๆ ของ Lenovo ก็จะหลากหลายมากขึ้น อย่างตอนนี้เริ่มมีห้างเชนสโตร์บางราย สนใจนำสินค้าของเราไปขาย และยุทธศาสตร์ของ Lenovo จากเดิมที่สินค้าทุกประเภทขายผ่านช่องทางเดียวกันหมด จะปรับแต่งให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์มากขึ้น เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น

Blognone Jobs Premium