Sharing Economy พลิกโฉมธุรกิจดิจิทัล

by sponsored
30 September 2016 - 09:32

การก้าวสู่สังคมยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงทุกสิ่งเข้าหากัน ทำให้เกิดกระแสเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) และกำลังถูกพูดถึงในวงกว้าง และทำให้เกิดปัจจัยต่อการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัลเป็นอย่างยิ่ง และยังส่งผลให้มีการเปิดตัวของแอพพลิเคชันและซอฟต์แวร์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น Airbnb, Spotify, Uber และ Grab Taxi เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ ซึ่งหากมองไปข้างหน้า สังคมไทยคงหลีกหนีแนวโน้มนี้ไม่พ้น Tech Startup ต้องเกิดขึ้น เอสเอ็มอีต้องปรับตัว…

จากการเปลี่ยนแปลงนี้ ส่งผลให้ธุรกิจต่างจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหันมามองในเรื่องของการแชร์ทรัพยากรผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคยุคใหม่สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการด้วยการเช่า-ยืม แทนการซื้อไว้เพื่อครอบครอง และจะสร้างการผลักดันให้เกิดการเจริญทางธุรกิจของประเทศในภาพรวม ซึ่งจะทำให้เกิดการบริโภคชนิดร่วมมือกัน (Collaborative Consumption) และการทำธุรกิจจากเพื่อนสู่เพื่อน (Peer to Peer : P2P) เป็นการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ และช่วยให้บุคคลหรือองค์กรสามารถสร้างรายได้จากสิ่งของหรือทรัพย์สินที่ตนมีมากเกินความจำเป็นหรือไม่ได้ใช้แล้ว (Excess Capacity) ผ่านการให้บริการบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ตโฟน ทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการในการเข้าถึงสินค้าหรือบริการ โดยอาศัยข้อมูลบนเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นพื้นฐานที่ช่วยในการตัดสินใจ ตั้งแต่รถยนต์ ห้องพัก ไปจนถึงเสื้อผ้า ของมือสอง และกระเป๋าแบรนด์เนม ฯลฯ ในระดับกว้างขวาง ซึ่งทั้งหมดเป็นไปได้เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่

แนวโน้มนี้สอดคล้องกับผลสำรวจ The Sharing Economy ที่ทาง บริษัท PwC Consulting ได้ทำการสำรวจผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาจำนวน 1,000 ราย พบว่าปัจจุบันกระแสเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) กำลังถูกพูดถึงในวงกว้าง และมีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2568 ที่จะถึงในอนาคต ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (Travel) ธุรกิจให้บริการโดยสารทางรถยนต์ รถเช่า และแบ่งปันรถยนต์กันใช้ (Car sharing) ธุรกิจการเงิน (Finance) ธุรกิจจัดหาบุคคลเข้าทำงาน (Staffing) และธุรกิจบริการเพลงหรือวิดีโอแบบสตรีมมิ่ง (Music and Video Streaming) จะมีการนำแนวคิดเศรษฐกิจแบบแบ่งปันนี้มาปรับใช้กับธุรกิจของตนเอง ซึ่งจะช่วยผลักดันให้มูลค่าของตลาด Sharing Economy เติบโตถึง 11 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 3.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 5 แสนล้านบาทเลยทีเดียว

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ได้ผลส่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ อุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาแล้ว เช่น ตลาดของธุรกิจโรงแรมและที่พักอาศัย ซึ่งบริษัท Airbnb ได้เล็งเห็นโอกาส และโดดเข้าเป็นคนกลางให้ผู้คนที่มีบ้านหรือห้องที่ว่างอยู่ในทำเลต่าง ๆ ของโลกมาโพสต์ให้ข้อมูล และปล่อยเช่า ทำให้ผู้ที่กำลังมองหาห้องพักหรือบ้านเช่าต่าง ๆ สามารถจองที่พักจากเจ้าของที่พักได้อย่างง่ายดาย โดยจากแนวคิดง่าย ๆ เพียงเท่านี้ก็สามารถเชื่อมโยงคนที่มีที่พักว่างกับคนที่กำลังมองหาที่พักเข้าหากันได้อย่างลงตัว โดยปัจจุบันมีผู้ใช้บริการของ Airbnb คิดเป็นจำนวนเฉลี่ยกว่า 425,000 รายต่อคืน และปัจจุบัน Airbnb มีเครือข่ายการให้บริการใน 190 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นหนึ่งในบริษัท Startup ที่เติบโตและประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วที่สุดบริษัทหนึ่ง

ในขณะที่อุตสาหกรรมบังเทิงเองก็ได้ บริษัท Spotify เป็นผู้คิดแอพพลิเคชันที่เข้ามาช่วยวงการเพลงจากการขายเพลงใต้ดินแบบผิดกฎหมาย ทำให้เหมือนว่าผู้ใช้บริการสามารถซื้อทุกเพลงในโลกไว้กับตัว โดยไม่ใช่การขายเพลง แต่เป็นการขายการเข้าถึง (Sell Access) โดยมีรายได้จากโฆษณา หรือจ่ายค่าบริการประมาณ 460 บาทต่อเดือน (15 ดอลลาร์สหรัฐ) โดยปัจจุบัน Spotify มีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 40 ล้านราย ขณะที่อุตสาหกรรมบริการสาธารณะเองก็เกิด Uber ขึ้นมาเขย่าวงการด้วยแอพพลิเคชันที่ช่วยให้ผู้ใช้บริการรถแท็กซี่ที่เคยมีประสบการณ์ไม่ดีกับบริการของแท็กซี่ หรือไม่สามาถหาแท็กซี่ได้ ได้รับความสะดวกมากขึ้น โดยสามารถใช้บริการได้จากทุกที่ และสามารถติดตามได้ผ่านตัวแอพพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน ทั้งยังตอบโจทย์ความต้องการใช้รถหรู เนื่องจากสามารถใช้บริการรถลีมูซีนได้อีกด้วย

ขณะที่ในประเทศไทยเอง Sharing Economy เติบโตอย่างมีนัยสำคัญไม่แพ้ชาติอื่น ๆ เห็นได้จากการที่คนไทยเข้าไปแชร์ที่พักหรือใช้บริการที่พักผ่านแอพฯ มากขึ้น หรือแม้แต่การใช้บริการแท็กซี่ผ่านแอพฯ ก็มีมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการให้เลือกอยู่หลายรายด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น Easy Taxi, Grab Taxi, Uber หรือ All Thai Taxi ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นในวงการแท็กซี่ไทย และไม่เพียงแต่ภาคเอกชนที่มีการตื่นตัว ปัจจุบันการส่งเสริม Tech Startup เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญของภาครัฐ ที่ดำเนินการส่งเสริมผ่านสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA โดยถือเป็นโจทย์สำคัญเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ทางด้านดิจิทัล (Tech Startup) ให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศผ่านทางผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ให้สามารถก้าวไปแข่งขันในระดับโลก

โดยปัจจุบัน SIPA ได้ผลักดัน Tech Startup ผ่านโครงการหลากหลายเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เช่น การบ่มเพาะ อบรม และการประกวดผลงานนวัตกรรม การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์บนพื้นฐานของนวัตกรรมธุรกิจ และการเร่งพัฒนาศักยภาพสู่ระดับสากล ตลอดจนถึงการสร้างโอกาสทางการตลาด การขยายตลาด และการผลักดันการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดขึ้นของ Tech Startup โดยดำเนินการไปพร้อมกับการสร้างกำลังคนทางด้านดิจิทัลไปควบคู่กัน เพื่อให้สามารถสร้างวงจรต่อยอดในอนาคตได้ดีมากขึ้น

นับเป็นความท้าทายที่ภาคธุรกิจและเอสเอ็มอีต้องปรับตัว ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ เราจะเห็นธุรกิจไทยเป็นแบบ Sharing Economy มากยิ่งขึ้น และผลักดันให้เกิดธุรกิจจากเทคโนโลยีใหม่ พร้อมทั้งบริการที่เข้าถึงผู้บริโภค โดยเชื่อมโยงภาคส่วนต่าง ๆ เข้าหากัน ด้วยการแบ่งปันหรือใช้ทรัพยากรร่วมกันเพิ่มมากขึ้น

Blognone Jobs Premium