รายงาน Firefox Summit 2008 ตอนที่ 2

by mk
12 August 2008 - 20:45

ซีรีย์นี้มีสามตอนนะครับ ตอนแรกเป็นเกริ่นกับเรื่องของ Firefox ส่วนตอนที่สามจะเป็นของโชว์จากทาง Mozilla Labs ดังนั้นตอนนี้จะเป็นโครงการอื่นๆ ทั้งหมดของ Mozilla

Fennec

ถ้าไม่นับ Firefox แล้ว ลูกรักเบอร์สองของ Mozilla ที่หมายมั่นปั้นมือกันเต็มที่ไม่ใช่ Thunderbird แต่เป็นเบราว์เซอร์บนมือถือรหัส Fennec ซึ่งยังไม่ออก และจะยังไม่ออกในเร็ววันนี้

Fennec เป็นชื่อพันธุ์ของจิ้งจอกน้อยหูยาว (Wikipedia) หน้าตาดังภาพ อาศัยอยู่ในแอฟริกา เนื่องจากว่าตัวมันน้อย ทาง Mozilla เลยเอามาทำเป็นโค้ดเนมของเบราว์เซอร์บนมือถือ ให้เข้าชุดจิ้งจอกกับ Firefox

โลโก้ของ Fennec ออกมาหน้าตาแบบนี้

ผมเคยเขียนข่าวเก่า Mozilla Fennec เบราว์เซอร์สำหรับมือถือ ไปแล้ว แต่ถ้าให้เล่าใหม่ก็ต้องบอกว่า นี่เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าตลาดคอมพิวเตอร์ในร่างมือถือกำลังมาแรง และความสำเร็จของ Safari บน iPhone ทำให้ Mozilla หันมาจับตลาดนี้บ้าง เพราะถึงแม้ว่า Safari บน iPhone จะออกแบบมาดีมาก แต่ข้อจำกัดของมันคือมีให้ใช้บน iPhone เท่านั้น และแอปเปิลไม่น่าจะยอมออก Safari บนมือถือรุ่นอื่นที่ไม่ใช่ของตัวเองในเร็ววันนี้ ในขณะที่เบราว์เซอร์บนแพลตฟอร์มสมาร์ทโฟนตัวอื่นๆ ก็ยังไม่สามารถเทียบชั้น Safari ได้ นี่จึงเป็นช่องว่างทางการตลาดที่ Mozilla ต้องการจะฉกฉวยมา

เว็บไซต์ของ Fennec ยังมีข้อมูลไม่มากนัก และมีเฉพาะข้อมูลสำหรับนักพัฒนาเท่านั้น เท่าที่ประกาศ Fennec รุ่นแรกจะมีบน Nokia Internet Tablet (Maemo) ซึ่งพอร์ตได้ง่ายที่สุดเพราะว่าข้างในเป็นลินุกซ์ (และมีเบราว์เซอร์ที่ใช้เอนจิน Gecko อย่าง MicroB อยู่แล้ว) กับ Windows Mobile ที่ประกาศออกมาแล้วว่าจะทำ ทางทีมงานตอบคำถามจากผู้ร่วมสัมมนาว่าสำหรับ Symbian จะเป็นเป้าหมายต่อไป แต่อาจจะไม่ใช่เวอร์ชันแรก

หน้าตาของ Fennec ที่รันบน Nokia N810 ก็เป็นดังนี้

ที่เห็นในภาพเป็นเดโมจริงไม่ใช่ screenshot ตรง URL Bar ด้านบนจะแสดงเฉพาะชื่อเว็บเท่านั้น ส่วนตัว URL จะปรากฎเมื่อเข้าโหมดป้อนข้อความ ส่วนปุ่ม Back Forward Stop จะซ่อนอยู่ในทูลบาร์ด้านขวามือ ซึ่งเราจะต้องลากปากกาบนหน้าจอจากซ้ายไปขวา ทูลบาร์จะปรากฎขึ้นมา

ผมเชื่อว่าหลายคนคงดูวิดีโอ Mobile Browser Concept กันไปแล้ว อันนั้นคือวิสัยทัศน์ของ Fennec ในอนาคต แต่ปัจจุบันยังไม่ได้ขนาดนั้น เท่าที่ผมดูเดโม Fennec ยังทำงานได้ช้าอยู่ เวลา scroll หน้าจอยังกระตุกๆ เผอิญว่าไม่มี Nokia Tablet เลยไม่สามารถลองเองได้ ถ้าใครสนใจและมีอุปกรณ์สามารถดาวน์โหลดมาลองได้จาก Fennec Releases จริงๆ ตอนอยู่ในงานฝากคุณ @panuta ซึ่งมี N810 ลองไปแล้ว เดี๋ยวรอเจ้าตัวมาเล่าละกันว่าผลเป็นอย่างไร

สรุปว่า Mozilla เอาจริงกับ Fennec แน่ มากกว่า Thunderbird อีก เผอิญโครงการเพิ่งเริ่มทำไม่นานให้เวลาเขาสักหน่อย ไว้ถึงอนาคตอันใกล้ที่เราทุกคนมี Smartphone กันถ้วนหน้า (เหมือนกับที่ตอนนี้มีโน้ตบุ๊ก) คงได้ใช้ Fennec กัน

Thunderbird

จากข่าวที่ Blognone เคยรายงานมาตลอด Thunderbird เมื่อเทียบกับ Firefox ถือว่าเป็นลูกเมียน้อยมากๆ ถึงแม้ว่าเมื่อต้นปีทาง Mozilla ได้ตั้งองค์กร Mozilla Messaging เพื่อมาดูแล Thunderbird แต่แผนการอื่นๆ นอกเหนือไปจากออก Thunderbird 3.0 ซึ่งเป็นแค่การเพิ่มฟีเจอร์ธรรมดาก็ยังไม่ชัดเจนนัก

ปัญหาของ Thunderbird ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะว่าคู่แข่งตัวจริงของ Thunderbird ไม่ใช่ Outlook หรืออีเมลไคลเอนต์อื่นๆ แต่เป็นเว็บเมล (ขนาดคนของ Mozilla เองยังใช้ Gmail แถมขอโทษทีม Thunderbird ล่วงหน้า) และวิธีการสื่อสารแนวใหม่ เช่น ระบบส่งข้อความใน social network ต่างๆ (เช่น Flickr หรือ Facebook) หรือ Twitter ทางทีมของ Thunderbird โดยเฉพาะซีอีโอ David Asher จึงหวังจะมาหาไอเดียจากผู้ร่วมงานนี้ซึ่งเป็นผู้ใช้กลุ่มที่คุ้นเคยกับ Thunderbird ดี และน่าจะมีข้อเสนอที่น่าสนใจต่อทิศทางในอนาคตของ Thunderbird

ผมเข้าฟังวงสนทนาของ Thunderbird ไม่เยอะ ที่จำได้ประเด็นหลักอันหนึ่งคือ เอาจริงแล้ว เวลาเราส่งข้อความผ่านอินเทอร์เน็ตไปหาเพื่อนสักคนหนึ่ง เราไม่ได้สนใจว่าเราส่งสารด้วยวิธีไหน (อีเมล, IM หรือ Twitter) แต่สิ่งที่เราสนใจคือ ข้อความนั้นจะถึงเพื่อนของเราหรือไม่ ดังนั้นมีวิธีไหนบ้างที่เราจะสามารถรวมเอาอีเมลทุกอันของเพื่อนเรา IM และบัญชีการติดต่ออื่นๆ ไว้ในที่เดียวกัน เวลาอยากส่งข้อความก็แค่เลือกชื่อเพื่อน (เช่น Sugree) เท่านั้น ส่วนวิธีการส่งข้อความ ตัวโปรแกรม (ในที่นี้คือ Thunderbird) จะเป็นคนตัดสินใจให้เราเอง เช่น ถ้าออนไลน์อยู่ทั้งคู่ ก็ใช้ IM หรือถ้าเพื่อนตั้งสถานะเป็นกำลังยุ่งอยู่ ก็อาจจะส่งผ่าน Twitter (@sugree) หรืออีเมล (sugree@sugree.com) แทน เป็นต้น

อีกประเด็นของ Thunderbird คือการรวมเอาโปรแกรมปฏิทิน Lightning ซึ่งมาจากโครงการ Sunbird เข้ามาในชุด เรื่องนี้ผมไม่ได้เข้าฟัง เลยไม่แน่ใจว่าสถานะเป็นอย่างไรนะครับ คาดว่ายังไง Thunderbird 3.0 จะรอ Lightning ส่วนจะได้ใช้กันเมื่อไรนั้นไม่ทราบ แต่ฟันธงว่านานแน่นอน

สรุปของ Thunderbird คือยังเป็นลูกเมียน้อยต่อไป และต้องตามหาอนาคตของตัวเองต่อไปเช่นกัน

การตลาด

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ Mozilla โดดเด่นเหนือโครงการโอเพนซอร์สอื่นๆ คือใช้การตลาดเข้าช่วยโปรโมทอย่างจริงจัง เราคงต้องยอมรับว่าไอเดียอย่าง SpreadFirefox หรือดาวน์โหลดทำสถิติกินเนสบุ๊กนั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ในงาน Firefox Summit รอบนี้มีห้องที่พูดเรื่องการตลาดเยอะมาก (ประมาณ 4-5 อัน) ผมเข้าฟังแค่ 2 อันเท่านั้น

อันแรกคือทิศทางของ SpreadFirefox ซึ่งมีทีมงานที่เกี่ยวข้องเยอะมากผิดคาด (ดูรูปประกอบ ประมาณ 7-8 คนในนั้นเป็นเด็กฝึกงาน)

SpreadFirefox ประสบความสำเร็จค่อนข้างดีในสหรัฐอเมริกา แต่ว่าในยุโรปและเอเชียสถานการณ์ต่างออกไป รูปแบบของชุมชน Firefox ในยุโรปและเอเชียจะไม่ใช้วิธีกระจายงานตามเว็บเหมือนกับสหรัฐ เช่น ถ้าอยากทำการตลาดไปที่ SpreadFirefox ถ้าอยากหาความช่วยเหลือไปที่ SUMO (http://support.mozilla.com) แต่ว่าจะเป็นเว็บเดียวรวมทุกอย่างของภาษานั้นๆ เช่น Mozilla Europe หรือ Mozilla Japan ที่แยกตัวเองเป็นเอกเทศ ซึ่งปัญหานี้ทำให้ทีมงาน SpreadFirefox ที่หวังจะกระจายการตลาดแบบกองโจรไปยังประเทศต่างๆ นอกสหรัฐต้องหาวิธีแก้ไขต่อไป

อีก session นึงที่เข้าคือ Media Training ซึ่งคนของทีมประชาสัมพันธ์ Mozilla จะมาสอนว่าถ้าอยากเป็นทูต Firefox ในประเทศต่างๆ ควรตอบคำถามนักข่าวอย่างไร มีเทคนิคการประชาสัมพันธ์แบบใดบ้าง session นี้มีเวิร์คช็อปให้ลองทำจริงต่อด้วย เผอิญว่าผมไปเข้า session อื่นเลยไม่ทราบรายละเอียด

Localization

กลุ่มคนที่มาร่วมงาน Firefox Summit เยอะที่สุดคือ Localizer จากประเทศต่างๆ สำหรับประเทศนอกเอเชียที่ผมได้คุยด้วยก็มีอิสราเอล อิตาลี บราซิล โปแลนด์ ส่วนประเทศในเอเชียนั้นมี session เฉพาะคือ Mozilla in Asia ซึ่งจะพูดถึงสถานการณ์ของ Firefox ในเอเชียยกเว้นญี่ปุ่นกับจีนที่มี Mozilla Japan กับ Mozilla China ดูแลอยู่แล้ว

คนดูแลเรื่อง Firefox ในเอเชียคือคุณ Gen Kanai จาก Mozilla Japan หน้าตาดังภาพ เดี๋ยวมาพูดงาน Barcamp Bangkok 2 ด้วยอย่าลืมไปฟังกัน

แต่ละประเทศก็มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจต่างกันไป ที่จำได้มีดังนี้ครับ

  • เกาหลีใต้ คนใช้ Firefox น้อยมากๆ เพราะว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีบรอดแบนด์ก่อนใครเพื่อน ทำให้ทางรัฐบาลพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยของตัวเองขึ้นมาแทนที่จะใช้ SSL เหมือนชาวโลกเขา และที่ไม่ธรรมดากว่าคือระบบที่ว่านี้มันต้องใช้ผ่าน ActiveX ซึ่งเป็นการบีบให้ใช้ IE ไปโดยปริยาย สถานการณ์ Firefox ในเกาหลีจึงค่อนข้างแย่ เท่าที่ทราบได้มีอาจารย์ด้านกฎหมายรายหนึ่งของเกาหลี ฟ้องร้องหน่วยงานรัฐบาลว่าละเมิดสิทธิ์ของเขาในการเลือกใช้เบราว์เซอร์ ซึ่งไม่ทราบว่าผลของคดีเป็นอย่างไร
  • อินโดนีเซีย มีรายงานว่าส่วนแบ่งตลาด Firefox ในอินโดนีเซียสูงถึง 50% ซึ่งผมคุยกับตัวแทนจากอินโดนีเซียแล้ว เขาก็ยังงงๆ ว่าทำไมสูงขนาดนั้น (แต่ก็บอกว่าเยอะ เพียงแต่ไม่คิดว่าจะถึง 50%) ส่วนสาเหตุที่ทุกคนคาใจมาก เขาเล่าว่าอินเทอร์เน็ตในอินโดนีเซียไม่นับชั่วโมง แต่นับเป็นจำนวนข้อมูลที่ดาวน์โหลด ทำให้คนหันมาใช้ Firefox + AdBlock เพื่อประหยัดแบนด์วิธ โดยเฉพาะร้านเน็ตที่ใช้กันเป็นมาตรฐานไปแล้ว เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจและคาดไม่ถึงเป็นอย่างมาก
  • ไต้หวัน กรณีของไต้หวันจะดำเนินรอยตามญี่ปุ่นที่สร้างมาสค็อต Foxkeh ของตัวเอง ของไต้หวันชื่อว่า Fox Mosa (รูปสาวด้านล่าง ผมดึงมาจากเว็บของ Mozilla Taiwan) ซึ่งดูจะเป็นแนวทางของเอเชียว่าถ้ามีมาสค็อตที่ถูกใจคอเอเชียอาจจะเข้าท่ากว่า (ผมแอบกระซิบคุณ Gen ว่าให้เอา Foxkeh มาโปรโมทในไทยเยอะๆ ซึ่งได้ข่าวว่าพี่แกจะเอาตุ๊กตา Foxkeh มาเป็นรางวัลใน BarCamp ด้วย)

รูปนี้จากผู้ใช้ชื่อ bobchao ใน Flickr

Blognone Jobs Premium