Mystic Messenger เกมจีบหนุ่มจากเกาหลีเล่นได้บนสมาร์ทโฟน มีให้ดาวน์โหลดทั้ง iOS และ Android ตัวเกมมีลักษณะเป็นฮาเร็มหนุ่มหล่อสำหรับสาวๆ โดยหนุ่มๆจะแสดงความเอาอกเอาใจออดอ้อนสาวๆ จึงไม่ยากที่เกมจะได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยขณะนี้มีคนดาวน์โหลดไปเล่นแล้วกว่า 1 ล้านคนทั่วโลก
เกม Mystic Messenger มีพื้นฐานมาจากการ์ตูนแนวโชโจ หรือแนวตาหวานรักหวานแหววซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในป๊อปคัลเจอร์ญี่ปุานมาหลายสิบปีแล้ว เกมเริ่มจากให้ผู้เล่นแชทคุยกับใครบางคนที่จะพาผู้เล่นเข้าไปในอีกห้องแชทหนึ่งที่เต็มไปด้วยชายหนุ่มหล่อ พูดคุยวางแผนจะจัดปาร์ตี้โดยผู้เล่นวางแผนการเองได้ หลังจากนั้นผู้เล่นก็สามารถเลือกได้ว่าอยากจะเดทกับใคร ชายหนุ่มเหล่านั้นมีอาชีพหลากหลาย เช่น นักแสดงหนุ่มผู้หลงตัวเอง หนุ่มเกมเมอร์ ช่างภาพ เป็นต้น
ผู้เล่นจะยิ่งได้คะแนนหัวใจเยอะเมื่อเอาอกเอาใจคู่เดทมากพอ และจะนำไปสู่จุดจบที่ดีหรือแฮปปี้เอนดิ้งได้ ซึ่งถือว่าชนะเกมนั้น ฟังดูเป็นเกมที่เล่นไม่ยาก การเอาอกเอาใจคู่เดท และคอยชมเขาก็ดูเป็นอะไรที่ผู้หญิงหลายๆ คนทำได้ แต่ตัวเกมมีข้อบังคับบางอย่างที่อาจฝืนใจผู้เล่นมากไปหน่อย เช่น หากมีคู่เดทเป็นแฮกเกอร์ หมายเลข 707 ผู้เล่นก็ต้องเรียกชายหนุ่มคนนี้ว่า god และต้องออกปากชมเขาตลอดเวลา ถึงจะได้หัวใจมาเป็นคะแนนเยอะๆ ผู้เล่นจึงตกเป็นทาสทางอารมณ์กลายๆ (Emotional labor)
คำว่า Emotional labor เป็นคำบัญญัติมาตั้งแต่ปี 1979 โดย Arlie Hochschild นักสังคมวิทยา ให้ความหมายไว้ว่า เป็นการแสดงออกหรือระงับยับยั้งอารมณ์ หรือแสดงออกทางสีหน้า เพื่อให้ผู้อื่นสบายใจหรือได้ในสิ่งที่ต้องการ โดยเราต้องแลกกับความรู้สึกของเรา ตัวตนของเรา คำนี้เห็นได้ทั่วไปในงานบริการ เช่นพนักงานสตาร์บัคต้องยิ้มตลอดเวลา และยังแสดงนัยยะถึงผู้หญิงที่ละเอียดอ่นกว่าผู้ชายด้วย
ในเกม Mystic Messenger ก็เช่นกัน ในแง่ของเกมจีบหนุ่ม Mystic Messenger ประสบความสำเร็จอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง เกมเป็นภาระทางใจของผู้เล่นไม่น้อย เพราะผู้เล่นต้องออกปากชมและเอาอกเอาใจคู่เดทจนเกินพอดีตลอดเวลา เพราะถ้าไม่ทำก็จะจบแบบไม่ดี คือสูญเสียคู่เดทคนนั้นไปหรือแพ้นั่นเอง ซึ่งในบทความต้นทางมีเรื่องเล่าของผู้หญิงคนหนึ่งที่เล่นเกมนี้บอกว่า "แทนที่จะรู้สึกดี กลับรู้สึกเศร้า ฉันพิถีพิถันในการเอาอกเอาใจคู่เดทมาก แม้ฉันจะไม่ชอบตัวเองที่ทำแบบนี้ แต่สุดท้าย ฉันก็แพ้เกม"
ที่มา - Kotaku