ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา เมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ตซิตี้ (Smart City) เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงกันมาก เพราะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล หรือ Digital Thailand ในเชิงพื้นที่ ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับเมืองเพื่อให้สามารถบริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความสะดวกคล่องตัวให้แก่วิถีชีวิตของประชาชนและธุรกิจมากขึ้น
สมาร์ตซิตี้ (Smart City) ถือเป็นโครงการที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Ministry of Digital Economy and Society : MDE) ได้เดินหน้าผลักดันให้เกิดขึ้นกับประเทศไทย โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถเติบโตและก้าวไปแข่งขันกับนานาประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยทำให้เมืองเชื่อมโยงกันด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยี และเพิ่มเติมความสะดวกให้แก่วิถีชีวิต เศรษฐกิจ เติบโตในภาพรวม
จึงเกิดแนวคิดในการเริ่มพัฒนาในเมืองที่มีการเดินทางของนักท่องเที่ยวและมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงก่อน ซึ่งเมื่อพิจารณาในหลาย ๆ องค์ประกอบ ทางภาครัฐจึงผลักดันให้ "ภูเก็ต" เป็นเมืองต้นแบบในการผลักดันให้กลายเป็นสมาร์ตซิตี้ โดยโครงการได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยรัฐบาลได้เข้ามาสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อทำให้เมืองภูเก็ตมุ่งไปสู่ “5 อี” ได้แก่ อีโซไซตี้, อีเลิร์นนิ่ง, อีซิติเซ่น, อีเอดูเคชัน และอีคอมเมิร์ซ ด้วยการวางโครงข่ายไฟเบอร์ออปติกให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
การที่ภาครัฐได้เริ่มโครงการเมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ตซิตี้ (Smart City) ที่เกาะภูเก็ตในครั้งนี้ เนื่องจากด้วยขนาดพื้นที่ของจังหวัดที่ไม่ใหญ่จนเกินไป และโครงสร้างประชากรในพื้นที่ที่มีอยู่เพียง 378,364 คน แต่มีนักท่องเที่ยวในปี 2557 สูงถึง 11,855,000 คน หรือคิดเป็น 3 เท่าของประชากรในพื้นที่ และในจำนวนนักท่องเที่ยวนี้เป็นชาวต่างชาติถึง 70% อีกทั้งกิจการส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในเมืองภูเก็ตเป็นของต่างชาติเกือบทั้งสิ้น ภูเก็ตจึงเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการดึงชาวต่างชาติที่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้ามาจัดตั้งบริษัทหรือสาขาที่ภูเก็ต ซึ่งจะผลักดันให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางธุรกิจดิจิทัล (Digital Hub)
ประชา อัศวธีระ ผู้จัดการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA สาขาภูเก็ต กล่าวว่า มีความร่วมมือระหว่าง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จังหวัดภูเก็ต SIPA รวมทั้งหน่วยงานพันธมิตร อาทิ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC ได้เริ่มจัดทำโครงการนำร่อง Phuket Smart City เมืองน่าอยู่ 2 แห่ง ประกอบด้วย เขตเทศบาลเมืองป่าตอง และ เขตเทศบาลเมืองภูเก็ต ซึ่งควบคุมบริเวณพื้นที่ประมาณ 28.4 ตารางกิโลเมตร จากพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดภูเก็ต 540 ตารางกิโลเมตร ในการดำเนินการโครงการ
วันนี้การสร้าง Smart City ที่สมบูรณ์จะเกิดขึ้นได้ 3 ส่วน คือ 1. Smart Economy ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมที่ 2 ขึ้นในจังหวัดภูเก็ต โดยจะมุ่งเน้นไปทางด้านเทคโนโลยี ทั้งการเป็นแหล่งรวมนักพัฒนา ในลักษณะของ Research Center หรือ Innovation Center และส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหันมาใช้ Smart Technology ในการเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจมากขึ้น โดยการเปิดโอกาสให้ธุรกิจและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาตั้งและดำเนินธุรกิจ ด้วยการยกเว้นภาษี 8 ปี และได้รับสิทธิพิเศษจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อีก 5 ปี สำหรับนักพัฒนาและผู้ที่มีความเชี่ยวชาญระดับนานาชาติจะได้สิทธิผู้อาศัยถาวร (Permanent Resident) จะทำให้ภูเก็ตศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนา (Research Center) ตลอดจนเป็นศูนย์นวัตกรรม (Innovation Center) และเป็นศูนย์กลางแห่งความรู้ (Knowledge Center) และทำให้เกิดพัฒนาสินค้าออกจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปัจจุบันมีบริษัทที่เข้ามายื่นขอสนับสนุนกับโครงการ Phuket Smart City ประมาณ 20-30 บริษัทแล้ว โดยได้ส่งแบบฟอร์มไปที่ BOI ทั้งนี้เพื่อให้เกิด Ecosystem ในจังหวัดภูเก็ต และเพื่อรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศสู่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ท้องถิ่นด้วย ซึ่งจะขับเคลื่อนเข้าสู่แนวทางสร้างการเติบโตของธุรกิจดิจิทัลที่ยั่งยืนในอนาคต สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนที่อาศัยในจังหวัดภูเก็ตโดยรวม
นอกจากนี้ยังทำให้เกิด 2. Smart Living Community ที่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นทางบกหรือทางน้ำ โดยมีการนำระบบ CCTV เข้ามาช่วยเฝ้าระวังและทำงานร่วมกับโซลูชันตรวจจับใบหน้า เพื่อตรวจสอบและติดตามผู้กระทำผิด เพื่อส่งการแจ้งเตือนไปที่เจ้าหน้าที่ต่อไป และการปรับใช้เทคโนโลยีนี้ยังช่วยให้เมืองภูเก็ตสามารถสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับคนต่างด้าวที่เข้ามาในพื้นที่แบบออนไลน์เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และกฎระเบียบของกระทรวงมหาดไทยอีกด้วย ขณะที่ทางน้ำได้วางระบบรักษาความปลอดภัยทางน้ำหรือด้านการเดินเรือ จังหวัดภูเก็ตจะร่วมกับกรมเจ้าท่าในการนำเทคโนโลยีเข้ามาจัดการโดยใช้ Vessel Tracking Management System (VTMS) ซึ่งเป็นระบบติดตามเรือ ใช้เพื่อติดตามและรักษาความปลอดภัยทางน้ำให้กับนักท่องเที่ยว ระบบช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้โดยสารทางน้ำได้ดีมากขึ้น
อีกทั้งยังวางโครงการใช้ Smart Band กับนักท่องเที่ยว เพื่อเสริมด้านความปลอดภัยทั้งระบบ โดย Smart Band จะช่วยให้ทราบสถานะของนักท่องเที่ยว ตลอดจนระยะห่างจากเรือระหว่างทำกิจกรรม เช่น การดำน้ำ เป็นต้น เพื่อเฝ้าระวังเหตุสุดวิสัยที่อาจนำอันตรายมาสู่นักท่องเที่ยวได้ ซึ่งครอบคลุมไปยังเรื่องของ 3. Smart Sensor ซึ่งเป็นโครงการนำเอาเซนเซอร์ที่ผสมผสานเทคโนโลยี IoT ทำให้สามารถตรวจสอบสภาพอากาศ ตรวจเช็กสภาพของน้ำทะเล และตรวจสอบความผิดปกติ โดยเมื่อพบความผิดปกติ ระบบจะส่งข้อมูลกับมาที่ส่วนกลาง เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที
วันนี้โลกกำลังขับเคลื่อนเข้าสู่ยุค Internet of Things การพัฒนานวัตกรรมการควบคุมแบบ Machine to Machine รวมทั้งเทคโนโลยีล้ำสมัยต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องและมีบทบาทต่อชีวิตเราครอบคลุมไลฟ์สไตล์ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน เมื่อเทคโนโลยีเชื่อมต่อกับไลฟ์สไตล์มนุษย์ ก็จะเกิดการเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในสังคมในบริบทที่กว้างกว่าเดิม โดยเชื่อมโยงข้อมูล และใช้ประโยชน์จากข้อมูลให้มีประโยชน์มากที่สุด ซึ่งจะต้องครอบคลุมทั้งเรื่องของความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง เข้าออกเมือง หรือการเดินทางภายในเมือง การเข้าพักที่พักอาศัย รวมถึงการพัฒนารูปแบบของทำธุรกิจที่ตรงไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยสร้างระบบหรือวงจรในการตรวจสอบ ป้องกัน และพัฒนาระบบการขนส่งให้เป็นระบบขนส่งอัจฉริยะ เพื่อให้เกิดการใช้งานพลังงานอย่างคุ้มค่า และเป็นต้นแบบให้แก่เมืองอื่น ๆ ของประเทศต่อไป
นอกจากนี้ ยังต้องขยายการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้กับประชาชน เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในเทคโนโลยีมากขึ้น ด้วยการสร้าง Public Free Wi-Fi ความเร็วแบบ Hi-Speed อย่างน้อย 20Mbps จะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจรวมไปถึงประชาชนสามารถสร้างโอกาสในการนำเสนอสินค้าและบริการได้ดีมากขึ้น และจะส่งผลให้เศรษฐกิจของเมืองเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งโครงการดังกล่าวคาดว่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อให้ทันกับช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต
ด้วยเหตุผลดังกล่าวจังหวัดภูเก็ตจึงได้ถูกกำหนดให้เป็น 1 ใน 9 ของซูเปอร์ คลัสเตอร์ (Super Cluster) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคตสําหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งด้านอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นได้ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จากการรวมกลุ่มอยู่ในพื้นที่เดียวกัน จะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเสริมศักยภาพในกลุ่มอุตสาหกรรมได้มากขึ้น และก้าวสู่การเป็นคลัสเตอร์ดิจิทัลอย่างแท้จริง
วันนี้โลกกำลังขับเคลื่อนเข้าสู่ยุค Internet of Things การพัฒนานวัตกรรมการควบคุมแบบ Machine to Machine รวมทั้งเทคโนโลยีล้ำสมัยต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องและมีบทบาทต่อชีวิตเราครอบคลุมไลฟ์สไตล์ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน เมื่อเทคโนโลยีเชื่อมต่อกับไลฟ์สไตล์มนุษย์ ก็จะเกิดเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของคนสังคมในบริบทที่กว้างกว่าเดิม โดยเชื่อมโยงข้อมูล และใช้งานประโยชน์จากข้อมูลได้มีประโยชน์มากที่สุด ซึ่งจะต้องครอบคลุมทั้งเรื่องของความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง เข้าออกเมือง หรือการเดินทางภายในเมือง การเข้าพักที่พักอาศัย รวมถึงการพัฒนารูปแบบของทำธุรกิจที่ตรงไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยสร้างระบบ หรือวงจร ในการตรวจสอบ ป้องกัน และสร้างพัฒนาระบบการขนส่งให้เป็นระบบขนส่งอัจฉริยะ เพื่อให้เกิดการใช้งานพลังงานอย่างคุ้มค่า และเป็นต้นแบบให้แก่เมืองอื่น ๆ ของประเทศต่อไป
การทำ Smart City มีได้นั้นมีหลายรูปแบบ แต่ที่สำคัญคือต้องเข้าใจปัญหาและความต้องการของคนในพื้นที่ แล้วร่วมกันออกแบบระบบที่เหมาะสมที่สุดกับคุณสมบัติของเมืองนั้น ๆ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งการบูรณาการให้จังหวัดภูเก็ตกลายเป็นสมาร์ต ซิตี้ในครั้งนี้ จะเกิดขึ้นได้ยากหากขาดความร่วมมือของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม (MDE) และ SIPA ในการเข้ามาพัฒนาจังหวัดภูเก็ต โดยเบื้องต้นใช้เงินงบประมาณราว 200 ล้านบาทในการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานสมาร์ต ซิตี้ในเมืองภูเก็ต และเมื่อสามารถพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยได้สมบูรณ์ ก็คาดว่าจะทำให้มีนักลงทุน นักท่องเที่ยวบินตรงไปยังภูเก็ตมากขึ้น ทั้งหมดเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของคนไทยในอนาคต