ช่วงหลังมีงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์สวมใส่เพื่อสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ล้วนแล้วแต่ยังไม่พบว่าอุปกรณ์เหล่านี้ช่วยทำให้สุขภาพดีขึ้นจริงเสียเท่าไหร่ มาวันนี้มีงานวิจัยอีกชิ้นเผยให้เห็นว่า อุปกรณ์ยี่ห้อดังอย่าง Fitbit นั้นมีไว้ใช้เฉยๆ ก็ไม่ได้ช่วยให้สุขภาพดีขึ้น
ทีมนักวิจัยจาก Duke-NUS Medical School ในสิงคโปร์ นำโดย Prof. Eric Finkelstein ได้ทำการรวบรวมอาสาสมัครอายุ 21-65 ปีจาก 13 บริษัทในสิงคโปร์จำนวน 800 คน ทำการสุ่มออกเป็นสี่กลุ่ม โดยมีกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับอะไรเลย, กลุ่มที่สองได้รับอุปกรณ์วัดก้าว Fitbit Zip, กลุ่มที่สามได้รับ Fitbit Zip พร้อมกับเงินรางวัลถ้าเดินได้ตามเป้าหมายแต่เงินรางวัลจะบริจาคให้องค์กรการกุศล, และกลุ่มสุดท้ายได้รับ Fitbit Zip พร้อมกับรางวัลให้กับอาสาสมัครเอง หลังจากนั้นทั้งสี่กลุ่มจะถูกวัดปริมาณเวลาที่ใช้ไปกับกิจกรรมการออกกำลังที่ใช้พลังงานสูง น้ำหนัก ความดันโลหิต และคุณภาพชีวิต
ผลการวิจัยเมื่อผ่านไปเป็นเวลาหกเดือนพบว่า กลุ่มที่มีเงินรางวัลเข้ามาเกี่ยวข้องนั้นใช้เวลาออกกำลังได้มากขึ้นกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งกลุ่มที่บริจาค (มากขึ้น 21 นาทีต่อสัปดาห์) และกลุ่มที่เก็บเข้ากระเป๋าตัวเอง (มากขึ้น 29 นาทีต่อสัปดาห์) ส่วนกลุ่มที่ได้ Fitbit ไปเฉยๆ นั้นไม่มีความแตกต่างจากกลุ่มควบคุมแต่อย่างใด นอกจากนี้เมื่อติดตามต่อหลังงานวิจัยจบที่หนึ่งปีเมื่อไม่ให้เงินแล้วพบว่าระยะเวลาลดลงกลับสู่สภาพเดิม ทั้งนี้ไม่พบความแตกต่างของน้ำหนัก ความดันโลหิต และคุณภาพชีวิตเลยของทั้ง 4 กลุ่ม
Prof. Finkelstein ได้ให้ความเห็นว่า อุปกรณ์แบบนี้นั้นเปรียบเสมือนแค่ "เครื่องมือวัด" ไม่ได้เป็นเครื่องช่วยกระตุ้นให้ไปออกกำลังมากเท่าไหร่นัก เพราะถึงแม้ช่วงแรกคนส่วนใหญ่จะตื่นเต้นและไปออกกำลัง แต่เมื่อใส่ไปหลายๆ วันเข้าความรู้สึกตื่นเต้นกับเครื่องมือใหม่ก็จะลดลงแล้วก็จะกลับเข้าสู่สภาพเดิม ส่วนการที่กลุ่มที่ได้เงินนั้นเป็นสิ่งกระตุ้นภายนอกที่่มีตลอดเวลาและ Fitbit ก็เป็นเครื่องมือวัดผลลัพท์ของความสำเร็จนี้เสียมากกว่า