รีวิว BlackBerry DTEK50 สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ตัวที่สองของ BlackBerry

by nrad6949
24 October 2016 - 10:15

หลังจากเปิดตัว PRIV ไปเมื่อปีที่แล้ว แต่ทำยอดขายไม่ได้ตามเป้า มาปีนี้ BlackBerry จึงเปิดตัว DTEK50 สมาร์ทโฟนที่จับตลาดระดับกลาง ออกมาเป็นตัวแรก และใช้วิธีการเอาท์ซอร์ส (คือจ้างคนอื่นออกแบบและผลิต ส่วนบริษัทยังคุมด้านซอฟต์แวร์และข้อกำหนดบางอย่าง) ให้กับ TCL ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแบรนด์ Alcatel แทนเป็นรุ่นแรก ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของบริษัทที่ประกาศเมื่อตอนช่วงสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ผมมีโอกาสได้ซื้อเครื่องมาใช้งานระยะหนึ่ง เลยขอถ่ายทอดเป็นรีวิวสั้นๆ ให้กับผู้อ่านครับ สเปกตามอ่านเอาจากข่าวเปิดตัวนะครับ

คำเตือน ภาพเยอะมาก

BlackBerry DTEK50

เครื่องที่ผมนำมารีวิวนี้ เป็นเครื่องที่เพิ่งวางจำหน่ายในประเทศสิงคโปร์ และมีรหัสรุ่นของเครื่องคือ STH100-2 ข้อมูลล่าสุดคืออัพเดตเดือนตุลาคมมาถึงแล้วสำหรับเครื่องรุ่น STH100-1 ที่วางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา ส่วนรุ่นนี้ยังมาไม่ถึง (ไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลกลใด) ราคาจำหน่ายอยู่ที่ 428 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 11,000 บาท)

แกะกล่องและตัวเครื่อง

กล่องของ DTEK50 ยังคงรูปร่างและหน้าตาทุกอย่างไม่ต่างจาก BlackBerry รุ่นก่อนหน้า อย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่สมัย Z10, Q10 ไม่ได้มีความแตกต่างไปจากรุ่นอื่นๆ เมื่อยกฝากล่องออกมาก็จะพบกับตัวเครื่องวางไว้อยู่ทันที

ในกล่องด้านในนอกจากตัวเครื่องแล้ว ด้านล่างยังประกอบไปด้วยเข็มจิ้มถาดซิม สติกเกอร์รหัสเลข IMEI (เข้าใจว่าจำเป็นเวลาซ่อม) คู่มือ ที่ชาร์จ สาย USB และหูฟัง (ไม่ได้ตรวจสอบว่าเป็นหูฟังแบบไหน) ไม่มีเคสหรือกันรอยหน้าจอมาให้แต่แรก เรียกว่าให้เท่าที่จำเป็นครับ

สำหรับตัวเครื่อง ต้องบอกว่า BlackBerry ใช้การออกแบบอ้างอิง (reference design) ของ TCL แล้วเอามาปรับแก้ไขรายละเอียดเล็กน้อย ผลก็คือหน้าตาที่แทบจะเหมือนและถอดแบบมาจาก Alcatel Idol 4

จุดแตกต่างที่สำคัญคงเป็นที่เรื่องกระจกด้านหน้าที่แบนราบชนเข้ากับขอบพลาสติก (Idol 4 กระจกจะโค้งจนลงไปชนกับขอบโลหะของเครื่อง) และฝาหลังที่เปลี่ยนเป็นพลาสติกแบบมีลายนูน เพื่อให้ถือได้กระชับมือมากขึ้นพร้อมติดตราบริษัทลงไป ส่วนความแตกต่างจาก BlackBerry รุ่นอื่นๆ ที่เคยผลิตมา อยู่ที่ว่าหน้าจอคราวนี้ไม่มีตราสัญลักษณ์ BlackBerry อีกแล้ว มีเพียงหลังเครื่อง หลายคนบอกว่าทำให้ดูดีขึ้น แต่โดยส่วนตัวไม่ใช่สารัตถะสำคัญแต่อย่างใด

สำหรับช่องต่อและปุ่มรอบเครื่อง เหมือนกับ Alcatel Idol 4 ทุกประการ ไม่เว้นแม้แต่ปุ่มเรียกคุณสมบัติพิเศษที่มีชื่อว่า ‘Convenience Key’ (Idol 4 เรียกว่า Boom Key) เรียกว่าเหมือนเป็นฝาแฝดของ Idol 4 แทบจะทุกประการ

เมื่อเทียบกับ BlackBerry PRIV รุ่นพี่แล้ว ขนาดของ DTEK50 เล็กกว่าอยู่เล็กน้อย แต่เรื่องของน้ำหนักเรียกว่าแทบจะแตกต่างกันอย่างมหาศาล เพราะ DTEK50 มีน้ำหนักที่เบามาก และนี่ทำให้สามารถถือและจับถนัดกว่าด้วย อีกจุดหนึ่งคือเรื่องของหน้าจอที่สว่างกว่ามาก และสีที่ตรงโทนไม่เข้มและหนักแบบ PRIV ในฐานะที่ใช้ PRIV เป็นเครื่องหลัก ยอมรับว่า “เขว” พอเจอ DTEK50 ที่ทำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ได้ดีกว่ามาก

ส่วนตัวแล้วจากการใช้งานจริง ต้องบอกว่า DTEK50 ให้ความรู้สึกที่ดีกว่ามาก อย่างน้อยที่สุดในแง่ของน้ำหนักและการทำงานทั่วไป หน้าจอก็สว่างกว่ากันมาก อย่างไรก็ตามทั้ง PRIV และ DTEK50 ต่างมีข้อเสียตรงที่พอใช้งานหนักๆ นานๆ สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นเรื่องของ “ความร้อน” ของเครื่องที่ต้องถือว่าค่อนข้างร้อนจัดกันทั้งคู่ อันนี้ก็ไม่รู้ว่า BlackBerry ทำการปรับแต่งตัวซอฟต์แวร์อย่างไรกันแน่

เรื่องของลำโพงต้องถือว่าเสียงดังและดีมาก ลำโพงเสียงออกทั้งทางข้างหน้าและข้างหลัง หมดปัญหาเสียงบู้บี้ฟังไม่รู้เรื่อง เมื่อต้องวางไว้บนโต๊ะ ไม่ว่าจะวางคว่ำหรือวางหงาย (แต่ไม่กลับหัวและสลับเสียงให้หากจับใช้งานกลับหัวกลับหาง เข้าใจว่านี่เป็นเรื่องของซอฟต์แวร์ เพราะใน Idol 4 มีคุณสมบัตินี้)

สิ่งที่ชวนน่าผิดหวังในมิติของการเป็นสมาร์ทโฟนที่เน้นความปลอดภัยสูง คือการไม่มีตัวสแกนลายนิ้วมือ แม้อาจจะมีคนบอกได้ว่าเป็นการเพิ่มต้นทุน แต่สมาร์ทโฟนในระดับราคาเดียวกันนี้ เช่น Moto G4 Plus ก็มีที่สแกนลายนิ้วมือให้แล้ว เหตุผลเดียวที่พอจะนึกถึงได้หากไม่ใช่การลดต้นทุน ก็คือเรื่องของการปรับใช้ (implementation) เข้ากับ Android ของเครื่อง ซึ่งเราก็ได้แต่คาดการณ์กันในจุดนี้

ปิดท้ายในส่วนนี้ด้วยคะแนนวัดประสิทธิภาพ (benchmark) ซึ่งก็ทำได้อย่างที่คาด คือไม่ได้เร็วมาก และหน้าจอรองรับการสัมผัสที่ 5 นิ้วครับ

ซอฟต์แวร์

ซอฟต์แวร์ของ DTEK50 เป็น BlackBerry 10 Android 6.0.1 ตั้งแต่ต้น พอเปิดเครื่องตัวซอฟต์แวร์เครื่องทำการบังคับอัพเดตเครื่องทันทีเป็นอัพเดตล่าสุด (ณ วันที่เปิดใช้เครื่องยังเป็นอัพเดตล่าสุดของเดือนกันยายน) ตัวซอฟต์แวร์จริงๆ เช่น Launcher ยังคงลักษณะเดิมของ Android เอาไว้เป็นส่วนมาก แต่ก็มีบ้างที่ปรับแต่งให้มีหน้าตาเป็นของตนเองอยู่เล็กน้อย

ส่วนที่เห็นได้ชัดเจนอันแรกคือ App Drawer ที่สามารถตั้งค่าได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเรียงตามตัวอักษร เรียงตามลำดับการใช้งาน แต่ที่ถือเป็นค่าเริ่มต้น (และผมก็ไม่ได้เปลี่ยน) คือเรียงตามตัวอักษรแล้วแสดงแอพที่เราใช้บ่อยที่สุด 10 อันดับแรก แม้วิธีนี้จะไม่ใช่วิธีแสดงผลใหม่ (Google Now Launcher ก็มี) แต่ของ BlackBerry หน้าแอพ Drawer แสดงรายละเอียดได้ดีกว่า และว่ากันแล้ว การแสดงแอพ 10 อันดับแรกก็ดีกว่า 5 อันดับแถวเดียวของ Google Now Launcher ด้วย เพราะบางแอพถ้าหลุด 5 อันดับไปแล้ว ก็เลื่อนหากันตาเหลือก ขณะที่ 10 อันดับ แอพที่ใช้น้อยแต่ใช่ว่าไม่ใช้เลย ยังมีโอกาสปรากฎตัวให้เห็นมากกว่า

อีกส่วนที่เห็นได้ชัดๆ คือเรื่องของ shortcut หรือทางลัดเอาไว้สำหรับงานต่างๆ ที่เรียกใช้ในระบบได้ในบางจุด ถือว่าสะดวกอยู่พอสมควรสำหรับการเรียกใช้งานเช่น เขียนอีเมลใหม่ เป็นต้น ส่วนปุ่มด้านล่างที่เป็นปุ่ม home ผู้ใช้สามารถลากขึ้นมาแล้วเรียกใช้ทางลัด (shortcut) ที่กำหนดได้ พื้นฐานจะเป็นโทรศัพท์ การค้นหาในเครื่อง และ BlackBerry Hub ครับ

เช่นเดียวกับการตั้งค่า shortcut ผู้ใช้สามารถปรับแต่งปุ่ม Convenience Key ข้างเครื่องได้ด้วย (ไม่ใช่ปุ่มเปิดและปิดเครื่อง) ส่วนตัวผมตั้งไว้เป็น BlackBerry Hub สำหรับการเรียกดู Notification ต่างๆ แต่ถ้าถามว่าประโยชน์อะไรนอกจากการเป็นทางลัดในการเข้าแอพหรือทำงานต่างๆ มีหรือไม่ คำตอบคือไม่มี ทำให้ convenience key กลายเป็นเหมือนส่วนเกินมากกว่า เพราะการเรียกใช้ทางลัดต่างๆ ก็มีข้อจำกัดอยู่ด้วย คือให้เฉพาะแอพหลักหรือไม่ก็บางอย่างเท่านั้น

BlackBerry เองยังมาพร้อมกับวิธีเรียงแอพแบบใหม่ในหน้า Recent Apps ที่เรียกว่า Masonry โดยแสดงผลให้แอพที่ใช้บ่อยที่สุด มีขนาดใหญ่ที่สุด แต่ถ้าใครไม่ชอบอยากปรับเป็น Tile แบบใน BlackBerry 10 ก็ได้ (เอามาเรียงกันเป็นผืน) หรือถ้าอยากปรับให้เป็น Android ปกติที่มาแนวตั้งซ้อนกันเป็นการ์ดแบบ stock ก็ทำได้เพียงแค่เลือก Rolodex

ซ้ายไปขวา: Masonry, Tile, Rolodex

นอกจากตัว launcher จะมีการปรับแต่งไปบ้างแล้ว ยังมีการเพิ่มคุณสมบัติเพิ่มเติมขึ้นมาจาก PRIV อย่างเช่นเสียงที่ปรับแต่งโดย WAVES MaxxAudio แบบอัตโนมัติ หรือคุณสมบัติฟังวิทยุที่ทำได้เพียงแค่เสียบหูฟัง เป็นต้น อันนี้ก็ไม่ใช่สารัตถะสำคัญอะไรเท่าใดนักครับ

เหนือไปจากนี้ BlackBerry ได้ติดตั้งแอพหลายตัวที่เป็นของตัวเองเข้ามาด้วย ผมขอยกตัวอย่างสามอันที่โดดเด่นที่สุดคือ DTEK, Productivity Tab และ BlackBerry Hub ครับ

DTEK

แอพนี้ซึ่งกลายมาเป็นชื่อรุ่นด้วย เป็นแอพที่ให้คำแนะนำและระบุการตั้งค่าของเครื่อง โดยจะระบุว่ามีความปลอดภัยเพียงใด และสถานะของเครื่องในเวลานี้มีความปลอดภัยอยู่ในระดับไหน นอกจากนั้นแล้วยังสามารถแจ้งเตือนเวลาที่มีแอพใดร้องขอเข้าใช้สิทธิต่างๆ ของเครื่องด้วยเช่นกัน

ข้อเสียก็คือ แอพนี้ทำหน้าที่ได้เฉพาะแค่แจ้งเตือน ไม่สามารถเข้าไปกำหนดสิทธิหรือยกเลิกอะไรได้เลย ถ้าอยากทำก็ต้องไปค่ากันเองกันในระบบครับ ว่าง่ายๆ คือมีหน้าที่ในการให้ rating แต่ไม่มีบทบาทในการควบคุม ซึ่งเป็นที่น่าผิดหวังพอสมควร

Productivity Tab

Productivity tab นี้จะติดไว้อยู่ที่ข้างจอฝั่งขวา (ที่เห็นเป็นแท่งขาวๆ นั่นแหละครับ) ผู้ใช้สามารถปาดอย่างรวดเร็วจากตำแหน่งนั้นขึ้นมา แล้วสามารถเรียกดูปฏิทิน การติดต่อ และอื่นๆ ได้ โดยสามารถเรียกขึ้นมาได้เหนือทุกแอพตามต้องการ (ยกเว้นตอนล็อคหน้าจอ) คุณสมบัตินี้มาตั้งแต่ตอน PRIV และผมพบว่ามันใช้งานดีมากในกรณีของ PRIV แต่เมื่อพอเป็น DTEK50 ที่หน้าจอแบนเสมอกันแล้วก็ไม่ค่อยจะเวิร์คเท่าไหร่ ต้องฝึกให้ชิน

ประโยชน์ที่เห็นหลักๆ คือเวลามีงานเร็วๆ ก็ปาดขึ้นมาดูได้ครับ แต่เอาเข้าจริงผมกลับใช้ประโยชน์ในส่วนนี้น้อยถึงน้อยมาก เพราะพบว่าการกดเรียกแอพอย่าง BlackBerry Hub สะดวกกว่ากันมากอยู่

BlackBerry Hub

ใครที่เคยใช้คุณสมบัติ BlackBerry Hub บน BlackBerry 10 อยู่ อาจจะคุ้นเคยกับแอพนี้เป็นอย่างดี ในเชิงคุณสมบัติมันคือการยกเอา Hub บน BlackBerry 10 มาทั้งหมด แล้วก็แก้ไขให้เข้ากับ Android รวมถึงรองรับแอพต่างๆ ที่อยู่บนแอนดรอยด์ด้วย อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย มันคือศูนย์กลางของการแจ้งเตือน (notifications) ของเราทั้งหมดซึ่งแสดงอยู่ในที่เดียว (กำหนดได้แม้แต่อีเมล เพียงแต่ผมไม่ได้กำหนดไว้) และสามารถมีปฏิสัมพันธ์ ทั้งการสำรวจข้อความ หรือแม้กระทั่งตอบกลับได้ทันที รวมถึงจะจัดว่าอันไหนที่ดูแล้ว หรือยังไม่ได้ดูก็ได้เช่นกัน

ท่าที่ผมชอบเป็นพิเศษ และน่าจะเป็นของใหม่ที่เพิ่มมาจากรุ่นใน BlackBerry 10 คือการลากลงมาแล้วแสดงปฏิทินงานหรือตารางของเราได้ด้วยเช่นกัน อันนี้ถือว่าเป็นคุณสมบัติที่ดีมากๆ เพราะเวลาต้องดูงานหรือนัดสำคัญในเวลารวดเร็ว แค่ลากลงมาก็เห็นตารางนัดหมายแล้ว

ข้อเสียเพียงประการเดียวของ BlackBerry Hub คือมันไม่ได้รวมการแจ้งเตือนของทุกแอพในเครื่อง เน้นแจ้งเตือนแอพที่มักใช้ติดต่อสื่อสาร อย่างเช่น Slack, Facebook Messenger เป็นต้น (LINE และ Telegram ยังไม่ได้ในตอนนี้)

ทั้งหมดที่ผมกล่าวถึงซอฟต์แวร์มา สิ่งที่ทุกคนอาจสงสัยคือ นอกจาก DTEK แล้ว อะไรคือเรื่องของความปลอดภัยของเครื่อง? คำตอบก็คือมิติด้านความปลอดภัยของเครื่อง จะไปอยู่ในมิติที่เรามองไม่เห็นเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งประกอบไปด้วย การเปิดใช้งาน Factory Reset Protection (สำหรับเครื่องที่เปิดใช้รหัสผ่านหรือ PIN), การเปิดใช้งาน Device Encryption ตั้งแต่ต้น, การทำ Secure และ Verified Boot, การกำหนดค่าให้รีเซ็ตเครื่องและลบข้อมูลทันทีที่พิมพ์รหัสเปิดเครื่องผิด 10 ครั้ง เป็นค่ามาตรฐาน หรือแม้กระทั่งการทำ hardening ตัวระบบปฏิบัติการเพื่อให้มีความปลอดภัยสูงขึ้น นอกจากนั้นแล้วก็เป็นเรื่องของอัพเดตที่มาเร็วกว่าเจ้าอื่น ซึ่งในฐานะที่ใช้ PRIV มาก่อน ต้องบอกว่าอัพเดตปล่อยออกมารวดเร็วมากหลังจากอยู่ในสถานะ Beta ได้ไม่นาน และ DTEK50 ก็ได้สถานะเดียวกัน (จะยกเว้นก็อัพเดตล่าสุด ที่ STH100-2 ยังไม่ได้อัพเดต)

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าคุณสมบัติต่างๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Verified Boot หรือคุณสมบัติอื่นๆ หลายตัว มีอยู่แล้วใน Android รุ่นปัจจุบัน และรุ่นล่าสุดคือ Android 7 Nougat ครับ ดังนั้นแล้วถ้าใครเตรียมที่จะซื้อสมาร์ทโฟนที่ใช้ Nougat มาตั้งแต่ต้น ก็จะได้ความสามารถไม่หนีจากนี้ (ถ้าผู้ผลิตไม่ไปปรับแต่งแล้วไล่ปิดคุณสมบัตินี้เองนะครับ อันนี้ก็ต้องลุ้นกัน อย่าง Galaxy Note 4 ของผม คุณสมบัติการเข้ารหัส microSD card ถูกปิดมาตั้งแต่แรก แม้จะอัพเดตขึ้น Marshmallow แล้วก็ตาม)

ผังอธิบายโครงสร้างการทำงานของ Android บน BlackBerry (ภาพจาก BlackBerry)

กล้อง

ตัวซอฟต์แวร์กล้องของ DTEK50 ต้องถือว่าปรับปรุงดีมาก หลังจากที่ตกอยู่สถานภาพ “กึ่งง่อย” (ขออภัยที่ต้องใช้คำนี้) ตั้งแต่ยุค BlackBerry 10 มานาน สามารถปรับแต่งค่าต่างๆ ได้ สิ่งที่ชอบที่สุดคงเป็นเรื่องการปิดตำแหน่ง (geotag) ของภาพมาให้โดยอัตโนมัติ (ถือว่าดีมาก!) และยังสามารถตั้งค่าต่างๆ รวมถึงมีฟิลเตอร์ต่างๆ มาให้เสร็จสรรพ

อย่างไรก็ตาม เรื่องของคุณภาพของภาพที่ถ่ายออกมานั้น อยู่ในระดับที่พอใช้ได้สมกับค่าตัว พอเข้าที่มืดก็มีการรบกวน (noise) เป็นธรรมดา กล่าวโดยสั้นคือถ้าเอาไปถ่ายรูปในสภาวะปกติก็ใช้ได้ แต่ถ้าเอาไปใช้ในสภาวะแสงที่ลำบากหน่อยก็คงถ่ายออกมาไม่ดี ลองดูภาพจากด้านล่างนี้ครับ

สรุป

ในเชิงความสามารถ DTEK50 แทบไม่ต่างจากสมาร์ทโฟนสาย Android ในระดับตลาดกลางทั่วไปที่มีอยู่ในตลาด สิ่งที่ได้เพิ่มขึ้นมาคือเรื่องของความปลอดภัยกับการปรับปรุงด้านซอฟต์แวร์ให้เข้ากับการทำงานมากยิ่งขึ้น กับการอัพเดตที่ส่งตรงมาจาก BlackBerry ไม่ต้องรอนานแบบผู้ผลิตรายอื่น

ในเรื่องของการใช้งานทั่วไปก็แทบไม่ต่างจากเครื่องรุ่นอื่นๆ ยกเว้นเรื่องของความร้อนที่เห็นได้อย่างชัดเจน กล้องก็ไม่ได้โดดเด่นอย่างเด่นชัดเมื่อเทียบกับรุ่นอื่นๆ จะมีข้อดีสำหรับผู้ใช้ทั่วไปตรงที่เรื่องของเสียงลำโพงที่ดังและชัด ส่วนเรื่องของแอพ ถ้าตัดแอพเฉพาะอย่าง DTEK และ Productivity Tab แล้ว แอพอื่นๆ อย่าง Launcher หรือแม้กระทั่ง BlackBerry Hub ก็สามารถดาวน์โหลดได้จาก Play store โดยตรง แม้อาจจะต้องทนโฆษณาที่แสดงมาหลังช่วงทดลองใช้ 30 วันก็ตาม

ผมนึกไม่ออกว่ากลุ่มลูกค้าหรือผู้ใช้ของ DTEK50 จะเป็นใครอื่น นอกจากคนที่สนใจเรื่องความปลอดภัยอย่างเต็มที่ หรือไม่ก็องค์กรที่ต้องการสมาร์ทโฟนในการปกป้องข้อมูลของบริษัทอย่างเต็มที่เท่านั้น ซึ่งถ้าผู้อ่านเป็นหนึ่งในนั้น DTEK50 ก็ย่อมจะตอบโจทย์ แต่ถ้าหากเป็นผู้ใช้ทั่วไป ผมคิดว่ายังมีโทรศัพท์อื่นๆ ในตลาดอีกมาก ที่น่าจะตอบโจทย์ได้ดีกว่านี้ครับ

ถ้าให้บอกว่าคู่แข่งที่สำคัญของ DTEK50 คือสมาร์ทโฟนรุ่นใด อาจจะตอบได้ว่าคู่แข่งสำคัญของ DTEK50 แท้ที่จริงแล้วคือ PRIV เพราะราคาในปัจจุบันถือว่าลงมามากแล้ว โดยเฉพาะรุ่นของ AT&T ที่จำหน่ายแบบปลดล็อคเครือข่าย (ได้อัพเดตตรงแล้วไม่ต้องผ่าน AT&T อีก) ที่มีราคาใกล้เคียงกันมาก แถมมีแป้นพิมพ์อีกด้วย

ข้อดี

  • ความปลอดภัยที่มากกว่าสมาร์ทโฟนปกติ
  • อัพเดตตรงจากบริษัทและรวดเร็ว
  • เครื่องเบาและเสียงลำโพงดี
  • เน้นคนทำงาน

ข้อเสีย

  • ดีไซน์ไม่โดดเด่นแบบอดีต
  • เครื่องร้อน, กล้องพอใช้, Convenience Key ไม่ค่อยมีประโยชน์
  • ไม่มีที่สแกนลายนิ้วมือทั้งที่บอกว่าเป็นเครื่องเน้นความปลอดภัย
  • ซอฟต์แวร์ไม่มีลูกเล่นอะไรสำหรับผู้ใช้ทั่วไป
Blognone Jobs Premium