ปี 2016 เป็นปีแห่งการเริ่มต้นของแว่น VR ในกระแสหลัก เราเห็นการวางขายสินค้าจริงของทั้ง Oculus Rift, HTC Vive และ PlayStation VR แต่ข้อจำกัดของแว่นสมรรถนะสูง (ที่ไม่ใช้จอมือถือเป็นจอแสดงผลแบบ Gear VR) คือเรื่อง "สาย" ที่ต้องเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ ส่งผลให้เกะกะ ไม่สะดวกในการใช้งาน
ทิศทางของตลาด VR จึงเริ่มหมุนไปยังเทคโนโลยีที่ช่วยให้แว่น VR ทำงานแบบไร้สายได้ ฝั่งของ HTC Vive จึงเปิดตัวอุปกรณ์เสริม TPCAST ที่เสียบเข้ากับแว่น HTC Vive ของเดิม เพื่อส่งข้อมูลไร้สายไปยังพีซีได้ ตัวอุปกรณ์ทำงานได้นาน 90 นาที และจะเริ่มวางขายในไตรมาสแรกของปี 2017 ในราคา 220 ดอลลาร์
ฝั่งของ Oculus ก็มีอุปกรณ์ไร้สายอยู่ระหว่างการพัฒนา โดยใช้โค้ดเนมว่า Santa Cruz และมีหลักการทำงานเหมือนกันคือเป็นอุปกรณ์ส่งสัญญาณไร้สายจากแว่นไปยังพีซี เพียงแต่กรณีของ Oculus จะไม่ต้องใช้เซ็นเซอร์ภายนอกช่วยติดตามตำแหน่งของแว่น การเซ็ตค่าก่อนเริ่มใช้งานจึงง่ายกว่า และแว่นจะสามารถรันในโหมด AR ได้ด้วยเพราะแว่นรู้ว่าตัวเองอยู่ตำแหน่งไหนในห้อง
ปัญหาของแว่น VR ไร้สายในตอนนี้คือต้องส่งข้อมูลปริมาณมากๆ ไปกลับระหว่างแว่นกับพีซี ส่งผลให้มีปัญหาข้อมูลดีเลย์ได้ง่าย ซึ่งจะกระทบต่อภาพที่ปรากฏบนแว่น ตอนนี้จึงมีอีกบริษัทชื่อ Sulon Q ที่ใช้แนวคิดต่างออกไป นั่นคือยัดพีซีทั้งตัวลงในแว่นเลย ตอนนี้สินค้ายังไม่วางขาย แต่บริษัทก็โฆษณาว่าแบตเตอรี่จะสามารถอยู่ได้หลายชั่วโมงด้วย
ที่มา - The Register, Ars Technica