Facebook กับข้อกล่าวหา "ช่วยให้โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง"

by sunnywalker
14 November 2016 - 09:54

คนไทยคงยังสงสัยไม่หายว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งได้อย่างไร ในเมื่อโพลก่อนหน้านี้ ฮิลลารี คลินตัน มีคะแนนนำมาตลอด และที่เห็นชัดกว่านั้นคือนโยบายสุดโต่งของทรัมป์ (นี่ยังไม่นับการพูดจาของเขา)

เว็บไซต์ Brandinside วิเคราะห์ประเด็นนี้ไปแล้วว่า เป็นผลจากคนอเมริกันที่ได้รับผลกระทบจากทุนนิยม ที่สร้างสภาวะโลกาภิวัฒน์ให้เกิดขึ้นทั่วโลก คำถามคือ เป็นเพราะโลกาภิวัฒน์เท่านั้นหรือที่นำพาทรัมป์มาจุดนี้

สปอตไลท์โลกจับจ้องมาที่ Facebook อีกครั้ง เมื่อนักวิเคราะห์และสื่อต่างๆ บอกว่า Facebook มีส่วนสำคัญที่ทำให้ทรัมป์ชนะ เพราะเป็นแหล่งแพร่กระจายข่าวปลอมที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด และข่าวปลอมเหล่านี้เองที่ช่วยกระตุ้นให้คนไปลงคะแนนเลือกทรัมป์

ปัจจบุัน ชาวอเมริกัน 6 ใน 10 คนเสพข่าวผ่าน Facebook เป็นหลัก เปลี่ยนพฤติกรรมไปจากเดิมดูผ่านโทรทัศน์ ฟังวิทยุจากสำนักข่าวกระแสหลัก

ที่มาภาพ Pew Research Center

Facebook กับอัลกอริทึมการคัดเลือกข่าวปลอม

ประเด็นที่ Facebook โดนโจมตีคืออัลกอริทึมในการคัดเลือกข่าวมาแสดงบนหน้าฟีด ผู้อ่าน Blognone คงพอจำข่าวอัลกอริทึม Facebook Trending ที่โดนแฉว่ามีฝ่ายคัดกรองเนื้อหาเฉพาะ เอื้อพื้นที่ข่าวให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากกว่า ตามมาด้วยความพยายามปรับอัลกอริทึม และที่สำคัญคือหลังจากปรับแล้ว The Washington Post ลองทดสอบมอนิเตอร์ Facebook เป็นเวลา 1 เดือน ก็ยังพบข่าวปลอมบนหน้า Trending ถึง 5 ข่าว และข่าวที่ข้อมูลไม่ถูกต้อง 3 ข่าว

แต่ Facebook ดูเหมือนไม่ได้แก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง (หรือไม่ได้ระบุยุทธศาสตร์เชิงเทคนิคในการกำจัดข่าวปลอม) ข่าวปลอมจึงยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่ง Facebook มีอิทธิพลต่อการเสพข่าวของผู้ใช้เป็นพันล้านคนนี้ ถือเป็นเรื่องน่ากลัวมาก

ตัวอย่างข่าวปลอมส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเมืองสหรัฐฯ และอาจมีส่วนช่วยให้ทรัมป์ชนะ คือข่าวเชิงบวกว่า โป๊บฟรานซิสให้การรับรองทรัมป์ จากเว็บไซต์ WTOE 5 News ซึ่งอ้างอิงข่าวจากไหนไม่รู้ แต่ไม่มีเอกสารใดที่บอกว่าข่าวนี้เป็นเรื่องจริงเลย

ในอีกทางข่าวเชิงลบของคู่แข่ง มูลนิธิของฮิลลารีบริจาคเงิน 137 ล้านดอลลาร์ให้กลุ่มติดอาวุธ ตีพิมพ์โดยเว็บไซต์ WhatDoesItMean.com โดยบล็อกเกอร์คนหนึ่งชื่อ Sorcha Faal ที่มีชื่อเสียงไม่ดี หรือมีข่าวฮิลลารีซื้อบ้านราคา 200 ล้านดอลลาร์ในมัลดีฟส์ ล้วนแล้วแต่เป็นข่าวปลอม แต่มันก็ยังปรากฏในหน้าฟีด Facebook อยู่ดี

แล้ว "สื่อคุณภาพ" ที่นำเสนอความจริงหายไปไหน คำตอบคือสื่อหลักยังคงอยู่ แต่การเกิดขึ้นของข่าวปลอม ก็ไม่ได้มาจากการขาด "สื่อคุณภาพ" ที่นำเสนอและวิเคราะห์สถานการณ์ตามความจริง

Jim Rutenberg คอลัมนิสต์เขียนไว้ใน New York Times บอกว่าข่าวปลอมไม่ได้มาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความเชื่อภายในวันสองวัน แต่ข่าวปลอมช่วยสร้างความคิดเห็น ความเชื่อผิดๆ และสิ่งเหล่านี้ดำรงอยู่ได้ด้วย "เสรีภาพในการแสดงออก" ตามรัฐธรรมนูญสหรัฐ นี่เองที่ทำให้ข่าวปลอมเป็นปัญหา การพยายามสร้างสื่อดีๆ จึงไม่ช่วยอะไร มีแต่จะทำให้เกิดเสียงดังผสมปนเปกันวุ่นวาย (cacophony)

อีกความเห็นหนึ่งจาก Zeynep Tufekci นักสังคมวิทยา และ Clay Shirky ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชน ระบุว่า ไม่แน่ใจว่าข่าวปลอมบน Facebook จะกระจายความเชื่อผิดๆ ได้ขนาดนั้นหรือไม่ แต่มันช่วยเปิดพื้นที่การยอมรับให้ความเชื่อที่มาจากข้อมูลผิดนั้นมาอาศัยอยู่ได้ พูดอีกแง่คือ Facebook ไม่เพียงจะทำให้การเมืองแย่ลง แต่จะเปลี่ยนการเมืองไปทั้งหมดเลยด้วยซ้ำ

Facebook โต้ข้อกล่าวหา ข่าวปลอมมีจริงแต่อิทธิพลไม่ได้เยอะขนาดนั้น

กระแสวิจาร์ณว่า Facebook อาจเป็นสาเหตุหนึ่งให้ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง เริ่มมีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ร้อนถึงบรรดาคนทำงานใน Facebook ต้องออกมาชี้แจง

โฆษก Facebook รายหนึ่งออกมาบอกว่า Facebook ไม่ได้เป็นแค่พื้นที่รับข่าวสาร แต่ยังมีบทบาทเป็นพื้นที่ให้ประชาชนสามารถเชื่อมต่อกับผู้แทนของเขา มีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง และแชร์มุมมองของพวกเขา

Andrew Bosworth ผู้มีประสบการณ์ในการสร้าง News Feed ของ Facebook บอกว่าแม้ News Feed มันไม่สมบูรณ์แบบ แต่มันก็มีความหลากหลายในการแสดงความคิดเห็น มากกว่าสังคมการเมืองที่เป็นในช่วงศตวรรษที่ 19

ด้าน Adam Mosseri หัวหน้างานด้าน News Feed เคยให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg เมื่อเดือนสิงหาคมว่า เราไม่สามารถอ่านและตรวจสอบทุกสิ่งทุกอย่างบนหน้าฟีดได้ ดังนั้นจึงมีการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้รายงานว่าสิ่งนี้มันผิด

กระแสแรงขึ้นเรื่อยๆ จนล่าสุด Mark Zuckerberg ต้องออกมาโพสต์ถึงเรื่องนี้ เขายังยืนกรานว่าพื้นที่ใน Facebook มีข้อมูลจริงจากสื่อจริง 99% เขาไม่ปฏิเสธว่า News Feed มีข่าวปลอม แต่ไม่น่าจะอยู่ในระดับที่จะเปลี่ยนผลการเลือกตั้งได้ และรู้สึกภูมิใจที่ Facebook เป็นพื้นที่ให้คนเชื่อมต่อ รับข้อมูล โต้ตอบกับนักการเมือง ซึ่งเป็นการรับสารโดยตรง

แต่อย่างไรก็ตาม เขาก็สัญญาว่าจะพยายามหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ท่าทีของ Zuckerberg สอดคล้องกับข่าวลือว่าเรื่องทีมหัวหน้าระดับท็อปของ Facebook นำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมลับ พร้อมผู้รับผิดชอบด้านนโยบายอีก 2-3 คน พูดคุยกันว่า Facebook ต้องทบทวนบทบาทและอิทธิพลของตัวเองในเรื่องนี้หรือไม่

ตกลงแล้ว Facebook คือบริษัทสื่อหรือไม่?

ในความเห็นของคนวงการสื่อ บทบาทของ Facebook ไม่ได้เป็นแค่โซเชียลมีเดีย แต่เป็นบริษัทสื่อเลยก็ว่าได้ การมีข่าวปลอม แพร่กระจายอยู่บนแพลตฟอร์มจึงเป็นเรื่องที่บรรดาสื่อเป็นห่วง

แน่นอนว่าการสาดโคลนเป็นเรื่องปกติทางการเมือง เพียงแต่ Facebook เป็นตัวช่วยให้มันแพร่กระจายไปกว้างมากขึ้น ที่สำคัญคือผู้ใช้ Facebook เองก็มีอคติ และความเชื่อส่วนตนในการรับข่าวสารเช่นกัน บางครั้งถ้าข่าวนั้นสนับสนุนความเชื่อที่มีอยู่เดิม ก็พร้อมเชื่อทันทีแม้จะเป็นข่าวปลอมก็ตาม

ตอนนี้ก็ยังพิสูจน์ได้ยากว่า Facebook มีผลต่อการตัดสินใจเลือกประธานาธิบดีจริงหรือไม่ เราจึงขอปิดท้ายบทความด้วยผลสำรวจจาก Pew Research Center สำรวจความคิดเห็นประชาชนว่าโซเชียลมีเดียสามารถเปลี่ยนใจผู้ใช้ในประเด็นต่างๆ ได้แค่ไหน ผลคือ มี 20% ของผู้ให้สำรวจ เปลี่ยนมุมมองการเมืองของตัวเองจากสิ่งที่ได้เห็นในโซเชียลมีเดีย และ 17% บอกว่า โซเชียลมีเดียยังเปลี่ยนมุมมองของพวกเขาที่มีต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนอีกด้วย

อย่างน้อยก็ยังมีคนส่วนใหญ่ 80% ที่โซเชียลมีเดียไม่มีผลต่อมุมมองการเมืองของพวกเขา

ที่มา - Techcrunch, New York Magazine, The New York Times

Blognone Jobs Premium