ทิศทางในการออกแล็บท็อปของ Acer ในปีนี้เห็นได้ชัดถึงความเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่เน้นตลาดแมส ก็เริ่มหันมาจับตลาดบนระดับพรีเมียมมากยิ่งขึ้น อย่างการออก Acer Spin 7 และที่เรียกความสนใจได้มากที่สุดคงหนีไม่พ้น Acer Swift 7 ที่ถูกเปิดตัว ภายในงาน IFA 2016 ที่ผ่านไปไม่นาน
จุดเด่นของ Swift 7 คือเป็นแล็ปท็อปที่บางที่สุดในโลก ด้วยความบางเพียง 9.98 มิลลิเมตร บางกว่าแล็ปท็อปของคู่แข่งหลายเจ้าที่มีความหนาเกิน 10 มิลลิเมตรทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมาพร้อมความบาง แต่ความสามารถและประสิทธิภาพในการใช้งานของ Swift 7 ไม่ได้บอบบางหรือด้อยไปกว่ากันเลย โดยเฉพาะคีย์บอร์ดและแทร็คแพ็ด ที่มักเป็นปัญหากับแล็ปท็อปรุ่นบาง แต่ไม่ใช่สำหรับ Swift 7 รุ่นนี้
กล่องของ Acer Swift 7 มาในสีดำ พร้อมตัวหนังสือสีทองตามธีมของตัวเครื่อง ให้ความรู้สึกพรีเมียมตั้งแต่ยังไม่เปิดกล่อง
เมื่อเปิดฝากล่องออกมา จะพบ Swift 7 นอนรอให้เราสัมผัส
ภายในกล่องจะมาพร้อมกับคู่มือ ใบประกัน และที่ชาร์จหัว USB-C พร้อมพอร์ต USB-C to USB-A 3.1 ที่ Acer แถมมาให้ด้วย 1 อัน
ฝาหลังของ Swift 7 เป็นพลาสติกสีดำมัน อาจทำให้มีรอยนิ้วมือติดบ้างประปราย ส่วนตัวเครื่องด้านในเป็นอะลูมิเนียมสีทอง ซึ่งค่อนข้างเข้ากับสีดำได้อย่างลงตัวและให้ความรู้สึกพรีเมียม โทนสีดำ-ทองจึงดูแตกต่างจากสีเงิน ซึ่งเป็นสียอดนิยมอย่างชัดเจน
ด้านขวาของตัวเครื่องเป็นพอร์ต USB-C 2 พอร์ต (ชาร์จได้พอร์ตเดียว) พร้อมพอร์ต 3.5 มม. สำหรับหูฟัง
ด้านซ้ายของเครื่องมีเพียงช่องสำหรับคล้องสายหรือพวงกุญแจเล็กๆ เท่านั้น
ส่วนฝาหลังของเครื่องเป็นแบบ unibody เนื่องจากไม่มีพัดลมระบายอากาศ (fanless) มีลำโพงมาให้ บริเวณที่เยื้องไปทางด้านล่างของตัวเครื่อง ทั้งซ้ายและขวา
สำหรับสเปค Acer Swift 7 จะมีอยู่สเปคเดียวคือใช้ซีพียู Intel Core i5-7Y54 Kaby Lake (Core M) แรม LPDDR 3 ขนาด 8GB ชิปกราฟิคเป็น Intel HD Graphic 615 สตอเรจ SSD SATA-III ความจุ 256GB
หน้าจอ IPS ขนาด 13.3 นิ้ว ความละเอียด Full HD (1920x1080) รองรับ Wi-Fi มาตรฐาน 802.11ac แบตเตอรี่ Li-ion ขนาด 2,770 mAh มาพร้อมกับ Windows 10 Home ติดตั้งมาให้จากโรงงาน
ส่วนการเบนช์มาร์คซีพียูผมทดสอบมาให้ดูคร่าวๆ 2 เจ้า ซึ่งผลที่ออกมาก็ตามสมรรถนะของ Core M
Geekbench
รายละเอียดอื่นๆ ดูได้ที่นี่
Cinebench R15
ทดสอบความเร็ว SSD ด้วย AS SSD
ความบางของ Swift 7 อาจจะง่ายและสะดวกในแง่ของการพกพา แต่อาจจะลำบากเล็กน้อยเวลาเปิดหน้าจอใช้งานและต้องหยิบเครื่องยกเครื่องไปมา เพราะต้องหามุมเพื่อสอดนิ้วและยกเครื่องขึ้น รวมถึงเวลาถอดหูฟังจากพอร์ต 3.5 มม. ที่ไม่สามารถถอดมือเดียวได้ ต้องใช้อีกมือยกเครื่องขึ้นก่อน จึงจะถอดออกมาได้สะดวกขึ้น ต้องใช้ความคุ้นชินซักระยะหนึ่ง
จุดเด่นอื่นๆ นอกจากความบางของ Swift 7 คือหน้าจอแบบ IPS ความละเอียด FHD ที่คมชัด ให้สีสดใส สู้แสงแดดได้ค่อนข้างดี สามารถทำงานกลางแจ้งได้สบาย
อีกหนึ่งจุดเด่นที่ส่วนตัวผู้เขียนชอบมากคือคีย์บอร์ดและแทร็คแพ็ด ที่ถือว่าดีมากเมื่อเปรียบเทียบกับแล็ปท็อปสุดบางยี่ห้ออื่นๆ ที่คีย์บอร์ดจะบางตามขนาดและไม่ได้ให้สัมผัสในการพิมพ์ที่ดีเท่าไหร่นัก โดยตัวคีย์บอร์ดของ Swift 7 ถึงแม้จะค่อนข้างบางยังให้ความรู้สึกว่าเป็นปุ่มคีย์บอร์ด มีแรงต้าน มีความยืดหยุ่น ให้สัมผัสที่ดีขณะพิมพ์ ดีกว่าคีย์บอร์ดแบบ butterfly ค่อนข้างมาก แต่สำหรับคนทีใช้คีย์บอร์ดแบบ mechanic เป็นปกติอาจจะต้องปรับตัวค่อนข้างเยอะในช่วงแรกๆ โดยเฉพาะเรื่องของการใส่แรงกด
ข้อเสียของคีย์บอร์ดบน Swift 7 มีอยู่อย่างเดียวคือการวางเอาปุ่ม Sleep ไปไว้ที่ปุ่ม F1 ติดกับ ESC ซึ่งหากเปิดการใช้งานฟังก์ชันพิเศษเหล่านี้โดยไม่ต้องกดปุ่ม FN อาจจะมีเผลอไปกด Sleep แทนที่จะเป็น ESC แทนได้บ่อยๆ
ส่วนแทร็คแพ็ด Acer ทำมาให้ค่อนข้างยาว ช่วยให้มีพื้นที่ใช้สอยเยอะขึ้น และที่สำคัญคือ ใช้งานแล้วพบว่าค่อนข้างลื่นและตอบสนองเร็ว สามารถใช้ทดแทนเมาส์ได้สบาย
ส่วนแบตเตอรีของ Swift 7 ที่ Acer เคลมว่าสามารถใช้งานต่อเนื่องได้ 9 ชั่วโมง เมื่อใช้งานจริงพบกว่าใกล้เคียง ประมาณ 6-8 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับประเภทของการใช้งานอีกที
อย่างไรก็ตามปัญหาใหญ่ที่พบบน Swift 7 คือเรื่องของความร้อนบริเวณตรงกลางด้านบนของตัวเครื่อง (เหนือคีย์บอร์ด บริเวณโลโก้ Acer ทั้งด้านบนและใต้เครื่อง) ที่จะร้อนมากเวลาชาร์จ ไม่เหมาะอย่างยิ่งหากจะชาร์จไปและใช้งานโดยวางไว้บนตัก
เรียกได้ว่าบางแต่ประสิทธิภาพไม่ได้เบาตามไปด้วยในแง่ของการใช้งาน ไม่ว่าจะทั้งหน้าจอที่คมชัด คีย์บอร์ดที่ให้สัมผัสที่ดี และแทร็คแพ็ดที่มีคุณภาพ ไม่นับความสวยงามและดีไซน์ที่หรูหรา Acer Swift 7 จึงถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมาก สำหรับคนที่ต้องการหาโน้ตบุ๊กแบบดั้งเดิม (ไม่สนใจจอสัมผัส) แต่เน้นความบางเบา พกพาสะดวก แต่ก็ยังมีประสิทธิภาพที่ดีอยู่
Acer Swift 7 วางจำหน่ายแล้วในราคา 39,990 บาท ถือว่าค่อนข้างถูกเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่มีผลิตภัณฑ์ในกลุ่มบางเบาแบบเดียวกันอย่าง MacBook ของแอปเปิลที่มีราคาเริ่มต้น 49,990 บาท, Spectre ของ HP ที่ราคา 69,990 บาท หรืออย่าง Zenbook 3 ของ ASUS ที่วางจำหน่ายเริ่มต้น 54,990 บาท แถมราคานี้ได้ซีพียูที่เป็น Kaby Lake รุ่นล่าสุดของอินเทลด้วย