หมายเหตุ: งานชิ้นนี้ผมไม่ได้เป็นคนเขียน (เป็นคนยุให้แปล) แต่เห็นว่าเกี่ยวข้องกับ Creative Commons เลยขอมาเผยแพร่บน Blognone ด้วย คนจะได้อ่านเยอะๆ ผู้แปลคือคุณชิตพงษ์ กิตตินราดร
แบ่งปันอย่างเสรีบนโลกออนไลน์ด้วยครีเอทีฟคอมมอนส์
ไม่นานหลังจากโจอิชิ อิโตะ (Joichi Ito) ได้นำภาพถ่ายของวินตัน เซิร์ฟ (Vinton Cerf) ผู้บุกเบิกวงการอินเทอร์เน็ต ที่เขาเป็นผู้ถ่าย ขึ้นไปไว้ที่สารานุกรมออนไลน์วิกิพีเดีย (Wikipedia) เมื่อปีก่อน เขาสังเกตว่ามีอะไรแปลกๆ ในตอนนั้น รูปถ่ายของคนที่มีชื่อเสียงในวงการอินเทอร์เน็ตและผู้นำทางเทคโนโลยี ที่มีประวัติอยู่ในวิกิพีเดีย มักจะมีคุณภาพต่ำหรือไม่มีรูปเลย มันไม่สมควรจะเป็นเช่นนั้น
อิโตะ ชาวญี่ปุ่นที่ได้รับการศึกษาในสหรัฐอเมริกา นักลงทุนร่วมจัดตั้งกิจการและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทดิจิตอล การาจ (Digital Garage) ซึ่งทำธุรกิจสนับสนุนกิจการอินเทอร์เน็ตที่เกิดใหม่ในญี่ปุ่น กล่าวว่า “ผมได้ตระหนักว่า คนมีชื่อเสียงหลายคน ไม่มีภาพถ่ายที่เผยแพร่อย่างเสรีบนอินเทอร์เน็ต”
อิโตะตัดสินใจทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ไขปัญหานั้น เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เขาเริ่มตระเวนถ่ายภาพคนที่เขาพบในระหว่างการเดินทางเกือบทุกคน ด้วยกล้อง Leica และกล้องถ่ายรูปขนาดกลาง เขาใช้เวลาครึ่งปีในการเดินทางทั่วโลก เข้าร่วมประชุมและสัมนาหลายแห่ง และภายในไม่กี่เดือน เขาก็ได้ภาพถ่ายนับพันภาพ
ตั้งแต่ภาพของทิม โอเรียลลี่ (Tim O’Reilly) ผู้ก่อตั้งโอเรียลลีมีเดีย (O’Reilly Media) จิมมี เวลส์ (Jimmy Wales) ผู้ร่วมก่อตั้งวิกิพีเดีย , จนถึงจอร์จ ลูคัส (George Lucas) ผู้กำกับภาพยนต์และเจเจ อับรามส์ (J.J. Abrams) ที่โด่งดังจากภาพยนต์เรื่อง Cloverfield และ Mission Impossible III แม้แต่ภาพของมิซูโกะ (Mizuko) น้องสาวของอิโตะและสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัวก็ถ่ายมาด้วย
ตอนนี้ เขาวางแผนที่จะตีพิมพ์หนังสือรวมภาพถ่ายเหล่านั้น ชื่อว่า ฟรีโซลส์ (Freesouls) แต่อิโตะไม่ได้คาดหวังว่า จะทำกำไรจากการขายหนังสือ โดยในเดือนกันยายน เมื่อหนังสือวางจำหน่ายที่เว็บไซ้ท์อเมซอน อิโตะจะแจกจ่ายภาพเหล่านั้นฟรีบนอินเทอร์เน็ต ทุกคนสามารถดาวน์โหลด นำไปใช้ เผยแพร่และแก้ไขภาพเหล่านั้นได้ โดยมีเงื่อนไขข้อเดียวคือ ต้องอ้างชื่ออิโตะว่า เป็นเจ้าของภาพ เขาคิดว่าคนส่วนมากคงดาวน์โหลดภาพมากกว่าซื้อหนังสือ อิโตะที่ดูอ่อนกว่าวัย 42 กล่าวว่า “ถ้าเราขายหนังสือได้เพียงไม่กี่พันเล่ม (ให้คุ้มกับต้นทุน) ก็เพียงพอแล้ว”
อิโตะไม่ใช่แค่ผู้หวังดีมือสมัครเล่น เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เขาเข้ารับตำแหน่งผู้นำของครีเอทีฟคอมมอนส์ ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่พัฒนาและเผยแพร่สัญญาอนุญาตให้ใช้งานสร้างสรรค์ตามลิขสิทธิ์ ครีเอทีฟคอมมอนส์ก่อตั้งโดยลอว์เรนซ์ เลสซิก (Lawrence Lessig) ศาสตราจารย์กฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
ในปี 2001 เลสซิก ได้จัดทำสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ ขึ้น เพราะเขารู้สึกว่ากฎหมายลิขสิทธิ์แบบเดิม อาจเป็นอุปสรรคต่อการแบ่งปันงานสร้างสรรค์อย่างเสรีบนอินเทอร์เน็ต โดยทั่วไปสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ ทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์ สามารถเผยแพร่ผลงานบนอินเทอร์เน็ตได้อย่างเสรี แต่ก็สามารถกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ใช้นำผลงานไปใช้เพื่อการค้าได้ ถ้าเจ้าของต้องการ ซึ่งเป็นแบบสัญญาอนุญาตที่หนังสือของอิโตะใช้ หรืออาจให้นำผลงานไปใช้ในลักษณะที่ไม่ใช่เพื่อการค้าก็ได้
การส่งผ่านตำแหน่งผู้นำจากเลสซิกไปสู่อิโตะเป็นการเปิดยุคใหม่ เลสซิกเป็นเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ที่ใช้ความน่าเชื่อถือ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและอดีตเสมียนศาลสูงสุด ในการสร้างความน่าเชื่อถือในวงการกฎหมาย แต่อิโตะมีสิ่งอื่นที่ต่างออกไป เขาเป็นผู้สร้างเว็บหน้าแรกๆในโลก เคยทดลองเจาะเข้าระบบเครือข่าย ก่อตั้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเชิงพานิชย์รายแรกในญี่ปุ่น ก่อนที่กระแสอินเทอร์เน็ตจะมาแรง และเขียนบลอกบนอินเตอร์เน็ตมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 90 ก่อนที่การเขียนบล็อกจะกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับคนทั่วไป
หลายคนคาดหวังว่าอิโตะจะนำผู้ประกอบการ นักธุรกิจและผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปเข้ามาในครีเอทีฟคอมมอนส์มากขึ้น รอยเบน สไตเกอร์ (Reuben Steiger) อดีตผู้สนับสนุนหลักของลินเดนแล็บส์ (Linden Labs) และประธานบริหารบริษัทที่ปรึกษามิลเลียนออฟอัส (Million of Us) ที่ซานฟรานซิสโก กล่าวว่า “อิโตะนำมาซึ่งประสบการณ์ประยุกต์จากโลกธุรกิจ ที่เต็มไปด้วยขวากหนามที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”
อิโตะได้ตั้งเป้าหมายที่ทะเยอทะยานไว้ นั่นคือ การทำให้ครีเอทีฟคอมมอนส์ เป็นตราสินค้าระดับโลกสำหรับตลาดของคนส่วนใหญ่ เขากล่าวว่า ” เป้าหมายคือการทำให้สัญญาอนุญาตเข้าใจได้ง่าย ทำให้คนธรรมดาสามารถใช้สัญญาอนุญาตได้ โดยไม่ต้องจ้างที่ปรึกษากฎหมาย” หนทางไปสู่เป้าหมายนั้น ยังยาวไกล ครีเอทีฟคอมมอนส์ได้ประเมินว่า มีผลงานสร้างสรรค์บนอินเทอร์เน็ตเพียง 140 ล้านชิ้นที่ติดป้ายครีเอทีฟคอมมอนส์ นักวิจารย์กล่าวว่า สัญญาอนุญาตดังกล่าว เพิ่มความซับซ้อนทางกฎหมาย เมื่อเกิดกรณีพิพาทด้านลิขสิทธิ์
แม้กระนั้น การเคลื่อนไหวนี้ ก็มีผู้สนับสนุนที่ทรงอิทธิพล โปรแกรมเวิร์ด (Microsoft Word) เอ็กซ์เซล (Excel) และเพาเวอร์พอยท์ (Powerpoint) รุ่นล่าสุดของบริษัทไมโครซอฟท์ มาพร้อมกับเครื่องมือที่ช่วยให้เจ้าของงาน สามารถเลือกใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ ส่วนกูเกิ้ล (Google) และยาฮู (Yahoo!) อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถเลือกใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์กับวีดีโอ ภาพถ่าย และหนังสือ
สถาบันการศึกษากว่า 200 แห่งทั่วโลกได้เข้าร่วมโครงการโอเพนคอร์สแวร์ (Open CourseWare) เพื่อเผยแพร่สื่อการศึกษาอย่างเสรี ธนาคารชินไซ (Shinsei Bank) ของญี่ปุ่น กล่าวเมื่อเดือนเมษายนว่า โอเพนคอร์สแวร์ทำให้ สถาบันเทคโนโลยี่ของอินเดีย ( Indian Institute of Technology ) สามารถสอนเนื้อหาที่ซับซ้อนของระบบเครือข่ายของธนาคารได้
เมื่อเดือนมีนาคม วงดนตรี ร็อคไนน์อินช์เนลส์ (Nine Inch Nails) ได้เผยแพร่เพลงโดยใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ และเมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์แห่งสหรัฐอเมริกาที่กรุงวอร์ชิงตัน ได้ตัดสินคดีที่ระบุว่า ศิลปินและโปรแกรมเมอร์ สามารถใช้สัญญาทางพาณิชย์ เพื่อเผยแพร่ซอฟท์แวร์และงานศิลปกรรมดิจิตอล เพื่อประโยชน์ของสาธารณะได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
การจัดพิมพ์หนังสือฟรีโซลส์ของอิโตะ ทำให้เขากลายเป็นประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับครีเอทีฟคอมมอนส์ และนั่นก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะค้นพบจุดอ่อนของครีเอทีฟคอมมอนส์ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากในเวลาที่ การเผยแพร่งานสร้างสรรค์อย่างเสรี กำลังพัฒนาไปอย่างกว้างขวาง อิโตะกล่าวว่า “ผมเชื่อว่าคนจำนวนมาก จะหาเงินได้จากผลงานที่เผยแพร่ ผมต้องการพิสูจน์ว่า การหาเงินจากการเผยแพร่ผลงานนั้นทำได้จริง โดยการเขียนหนังสือและการลงทุน ในบริษัทที่สร้างผลตอบแทนจากงานสร้างสรรค์ และหวังว่าคนจำนวนมาก คงทำตาม”
แต่อิโตะก็แสดงความกังวลถึง ความเป็นไปได้ที่อาจเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์จากบทบาทของเขา ที่เป็นทั้งนักธุรกิจและประธานบริหารของครีเอทีฟคอมมอนส์ เพื่อลดเสียงวิจารณ์ เขาได้เปิดเผยข้อมูลการลงทุนมูลค่ากว่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงข้อมูลการเป็นสมาชิกบอร์ดในบริษัทต่างๆของเขา ต่อสาธารณชนอย่างสม่ำเสมอ
ตามหลักการ เมื่อศิลปินเผยแพร่งานของตนอย่างเสรี เพื่อแสดงความสามารถต่อสาธารณชน อาจทำให้เขาได้รับงานที่มีค่าจ้างในภายหลัง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เผยแพร่งานใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์ จะรู้กฎในการใช้งาน
ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนกรกฎาคม นิตยสารบิซิเนสวีค (BusinessWeek) ได้เผยแพร่งานภาพสไลด์ของอิโตะ ซึ่งเป็นภาพถ่ายของปีแอร์ โอมิดยาร์ (Pierre Omidyar) ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ประมูลอีเบย์ (eBay) ที่เว็บไซต์แลกเปลี่ยนภาพฟลิกเกอร์ (Flickr) แต่ไม่ได้อ้างอิงว่าอิโตะเป็นเจ้าของภาพ หลังจากนั้นมีคนพบและแจ้งไปที่อิโตะ เขาได้ส่งอีเมลมาเพื่อขอให้มีอ้างอิงชื่อของเขาในงานดังกล่าว วันรุ่งขึ้น บิซิเนสวีคได้ใส่ชื่อของเขาไว้ที่คำบรรยายภาพ
เหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นอีกกับหนังสือฟรีโซลส์ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้น อิโตะได้ขอให้คนที่ปรากฏในภาพถ่ายทุกคนเซ็นยินยอม (ซึ่งอิโตะกล่าวว่าเป็นเรื่องยุ่งยากมาก ) โดยเขาได้อธิบายให้ทุกคนเข้าใจว่า พวกเขาไม่เพียงอนุญาตให้อิโตะใช้ภาพถ่ายเหล่านั้น แต่สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ ยังอนุญาตให้ใครก็ตาม สามารถดาวน์โหลดภาพและเผยแพร่ภาพนั้นออกไป รวมถึงการได้รับผลกำไรทั้งหมดไว้ด้วย
ที่มา - BusinessWeek เผยแพร่ครั้งแรกที่ ครีเอทีฟคอมมอนส์ประเทศไทย