ประเด็นที่ถกเถียงกันมากใน ร่าง พ.ร.บ. การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่ คือ มาตรา 20 เรื่อง "การระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์" ที่เป็นความผิด, อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคง, เป็นความผิดตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา, มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ออกจากระบบคอมพิวเตอร์
ในมาตรา 20 ของ พ.ร.บ. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ประกาศหลักเกณฑ์ ระยะเวลา และวิธีการปฏิบัติสำหรับการระงับทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูล ของเจ้าหน้าที่หรือผู้ให้บริการ โดยในกฎหมายไม่ได้ให้รายละเอียดว่าประกาศฉบับนี้จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร
ร่างประกาศฉบับนี้ชื่อว่า (ร่าง) ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์ ระยะเวลา และวิธีการปฏิบัติสำหรับการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ให้บริการ พ.ศ. .... ลงวันที่ร่างไว้เป็น 18 พฤศจิกายน 2559 ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 ในงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นของ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่รับผิดชอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับใหม่
ประเด็นสำคัญของร่างประกาศฉบับนี้คือข้อ 4 ที่ให้ "กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม" สร้าง "ระบบศูนย์กลาง" เพื่อบริหารจัดการการระงับข้อมูล เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเอง โดยอาจไม่ต้องผ่านผู้ให้บริการ (ตรงที่ขีดเส้นใต้สีแดงในภาพ)
ระบบศูนย์กลางดังกล่าว อาจเชื่อมโยงเข้ากับระบบของผู้ให้บริการก็ได้ โดยขึ้นกับความยินยอมของผู้ให้บริการ และไม่สร้างภาระหรือไปรบกวนผู้ให้บริการ
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นกำกวมในข้อ 8 ของประกาศฉบับเดียวกัน ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการสามารถดำเนินการระงับข้อมูล "ด้วยมาตรการทางเทคนิคใดๆ (Technical Measures) ที่ได้มาตรฐาน" แต่ไม่มีความชัดเจนว่าคืออะไรบ้างอีกด้วย
ประเด็นนี้ Blognone เคยนำเสนอไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ช่วงนี้ประเด็นเรื่องร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่กำลังเป็นประเด็นร้อน เราเลยนำประเด็นในกฎหมายฉบับรอง (ซึ่งในที่นี้คือประกาศกระทรวงดิจิทัลฯ) ที่คนอาจสนใจน้อยกว่าตัว พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับหลัก มานำเสนอเพื่อให้ทุกคนเห็นภาพรวมว่า กฎหมาย "ชุด" นี้กำลังจะทำอะไร