สัมภาษณ์คุณ SunWaltz จาก The Dreamcasters ทีมพากย์ eSports แถวหน้าของไทย

by nismod
15 December 2016 - 07:41

หนึ่งในนโยบายของ Blognone ในระยะหลังคือต้องการนำเสนอเกมในมิติใหม่ ที่ไม่ใช่เพียงสื่อบันเทิงยามว่างและสิ่งมอมเมาที่ติดภาพด้านลบในบ้านเรา แต่ยังเป็นเครื่องมือหรือช่องทางในการสร้างอาชีพ รายได้และหล่อเลี้ยงตัวเองได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเกมหรือกีฬา eSport ไม่เว้นแม้แต่นักพากย์ (commentator) หรือนักแคสต์เกมที่เกมกลายเป็นสื่อหล่อเลี้ยงของคนทำอาชีพนี้เช่นกัน

Blognone จึงได้สัมภาษณ์คุณซัน จากThe Dreamcasters ทีมพากย์ eSports แถวหน้าของไทย ถึงที่มาที่ไปของการทำงานด้านนี้ ปัญหาอุปสรรค และทัศนะต่อวงการ eSports ไทย

แนะนำตัวและที่มาที่ไปของการมาเป็นนักพากย์ eSport

คุณซัน (SunWatlz) ชื่อจริงว่าดลประภพ เทียนดำ เป็น Founder และ Vice President ของ The Dreamcasters ซึ่งจุดเริ่มต้นของการเข้ามาเป็นนักพากย์ eSports เริ่มจากการที่คุณซันเคยเป็นนักกีฬา eSports มาก่อน แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ประกอบกับช่วงที่เป็นนักกีฬาได้นั่งดูรีเพลย์เยอะ ได้วิเคราะห์และมองเกม รวมถึงได้แรงบันดาลใจจากนักแคสต์เกมต่างชาติด้วย จึงตั้งช่องของตัวเองครั้งแรกเมื่อปี 2002

หลังจากนั้นคุณซันมีโอกาสได้พากย์ภายใต้สังกัดใหญ่สังกัดหนึ่ง ก่อนที่จะออกมาทำเองจากปัญหาภายใน ก่อตั้งทีมพากย์ The Dreamcasters ขึ้นมาเอง เริ่มมาตั้งแต่พากย์ DOTA จนปัจจุบันเน้นอยู่ 3 เกมคือ DOTA 2, League of Legends และ Overwatch

ตั้งแต่ก่อตั้งก็มีการชักชวนคนที่มีความสามารถและสนใจด้านนี้มาทำ มีกระบวนการคัดคน มีการเทรนให้ โดยปัจจุบันมีทีมงานทั้งหมด 15 คน เป็นนักพากย์ประจำ 6 คน ที่เหลืออีก 9 คน มีอาพชีพหลักเป็นของตัวเอง และมาพากย์เกมเป็นอาชีพเสริม คุณซันบอกด้วยว่าส่วนตัวมี Toby "TobiWan" Dawson นักพากย์ DOTA 2 มืออาชีพเป็นแรงบันดาลใจด้วย


คุณซัน (ตรงกลาง) และทีมงาน

คิดว่าปัจจุบัน Dreamcasters อยู่ระดับไหนในฐานะนักพากย์เกมเมืองไทย และอะไรทำให้มาถึงจุดนี้

คุณซันบอกว่ากำลังพยายามขับเคลื่อนให้ The Dreamcasters ขึ้นไปอยู่ในระดับท็อปของไทยให้ได้ ถึงแม้ทีมพากย์ eSports บ้านเราจะมีอยู่ไม่มากก็ตาม ขณะที่ปัจจัยที่ทำให้ทีมเดินทางมาถึงจุดนี้ คุณซันมองว่าเป็นเพราะวิสัยทัศน์ของทีมที่เน้นการ Watch and Improve พยายามพัฒนาและปรับปรุงการพากย์ให้ดีขึ้น

โดยหนึ่งในนั้นคือการให้ความสำคัญกับผู้ชม อย่างการอ้างอิงหรือพูดถึงคอมเมนท์ของผู้ชม ที่ทีมงานเห็นว่าแสดงความเห็นหรือวิเคราะห์เกมเอาไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งก็มีผู้ชมคนหนึ่งที่แสดงความเห็นอย่างต่อเนื่อง จนทีมงานเห็นแววและชักชวนมาร่วมงาน จนปัจจุบันกลายเป็นนักพากย์ของทีมไปแล้ว

ปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน

ปัญหาและอุปสรรคในการเป็นนักพากย์มือาชีพในบ้านเรามีอยู่ 2 ปัจจัยหลักๆ อย่างแรกคือเรื่องของรายได้ ที่ไม่ค่อยเป็นหลักเป็นแหล่ง เนื่องจากวงการ eSport ในแง่ของฐานคนดูไม่ได้แพร่หลายในทุกๆ เกมมากนัก ทำให้นักพากย์ต้องคอยปรับตัวและพากย์เกมที่กำลังเป็นกระแสนิยม เพื่อเรียกคนดูด้วย ซึ่งแน่นอนว่าแตกต่างกับนักพากย์มืออาชีพต่างชาติ ที่มีฐานคนดูมากกว่าจากการใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งด้วยสาเหตุของรายได้ที่ไม่แน่นอน จึงส่งผลต่อปัจจัยที่ 2 คือเรื่องของการทุ่มเทเวลาให้กับการค้นคว้าข้อมูล

คุณซันเล่าว่า การพากย์ eSports จะคล้ายกับการพากย์กีฬาอื่นๆ อย่างฟุตบอล ที่จะมีคนพากย์อยู่สองคน คนแรกหรือไมค์ 1 จะพากย์หรืออธิบายสถานการณ์ภายในเกมที่เกิดขึ้น และอีกคนจะเป็นสายวิเคราะห์กลยุทธ แท็กติคต่างๆ ซึ่งนักพากย์ต่างชาติพอมีรายได้สูง ทำให้เขาสามารถทำแบบ full-time และทุ่มเวลาให้กับการค้นคว้าและรวบรวมฐานข้อมูลการเล่น ติดตามข่าวสารต่างๆ ในวงการ eSports ได้มากขึ้น ทำให้เวลาพากย์ จะสามารถป้อนข้อมูลเชิงลึกหรือเชิงวิเคราะห์ให้กับผู้ชมได้ดีกว่า ลึกกว่าหรืออ่านเกมขาดกว่านักพากย์ในบ้านเรา

ส่วนเรื่องเวลาก็อาจจะต้องแพลนล่วงหน้าและเตรียมตัวระดับหนึ่ง เพราะการแข่งขันส่วนใหญ่จะเป็นของทางตะวันตก ซึ่งเวลาช้ากว่าบ้านเรา ทำให้ต้องมีการปรับเวลาเรื่องการนอนการใช้ชีวิตระดับหนึ่ง

ความแตกต่างระหว่างนักพากย์ในไทยและต่างประเทศ

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าเรื่องของรายได้ที่นำไปสู่เรื่องของข้อมูลและการวิเคราะห์ ไม่นับว่านักกีฬา eSports ต่างประเทศหลายคนที่มีประสบการณ์โชกโชนได้ผันตัวมาเป็นนักพากย์ ก็ยิ่งมีมุมมองหรือการวิเคราะห์ที่แตกต่างออกไปอีก ขณะที่นักพากย์ไทยยังไม่เห็นใครจดบันทึกสถิติและรูปแบบการแข่งขันของทีมต่างๆ เอง ซึ่งก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการวิเคราะห์เช่นกัน

แต่จุดแข็งของนักพากย์ไทยก็คงจะเป็นความตลกอารมณ์ขัน ถึงขนาดมีนักพากย์ชาวไทยไปพากย์การแข่งขันในต่างประเทศ ต่างชาติยังชอบในอารมณ์ขันที่ถูกสอดแทรกเข้าไปด้วยซ้ำ

มองวงการนักพากย์และ eSports บ้านเรา

ผู้ก่อตั้ง The Dreamcasters มองว่านักพากย์ (commentator) ยังไม่สามารถสร้างกระแสหรือแรงกระเพื่อมได้มากเท่านักแคสต์เกม ซึ่งรวมถึงรายได้ที่มากกว่าด้วย แต่ก็มองว่าน่าจะได้รับความสนใจและความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนักพากย์และวงการ eSports เนื่องจากมีองค์ประกอบ (element) ที่เหมือนกีฬาชนิดอื่นๆ ขณะที่ในต่างประเทศเอง นักพากย์ก็เพิ่งจะมีพื้นที่ในสื่อกระแสหลักเช่น ESPN ได้ไม่นาน

ขณะที่สิ่งที่วงการ eSports ในบ้านเรายังขาดทัวร์นาเมนท์แบบระยะยาว จัดแล้วจบทั้งๆ ที่เม็ดเงินที่ลงไปค่อนข้างเยอะ รวมถึงไม่มีการจดบันทึกสถิติการแข่งขันต่างๆ อย่างเป็นทางการ

ส่วนนักกีฬา ปัญหาสำคัญไม่ใช่ฝีมือ นักกีฬาเก่งๆ บ้านเราเยอะ แต่เป็นเรื่องของการเล่นกับสื่อและการสร้างการจดจำให้กับตัวเอง ซึ่งคุณซันยกตัวอย่าง Mickie โปร Overwatch ชาวไทยที่มักจะยิ้มให้กล้องเสมอ ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ ซึ่งคุณ Mickie เคยให้สัมภาษณ์ว่าที่ยิ้มเพราะไม่อยากให้คนดูรู้สึกเฟลหรือดาวน์เวลาแพ้ ขณะเดียวกันก็อยากให้รู้สึกยินดีไปกับชัยชนะของเขา คุณซันบอกว่า นักกีฬาเก่งๆ ระดับโลกที่ประสบความสำเร็จ นอกจากเล่นเก่งและรู้สึกยอมรับข้อผิดพลาดแล้ว ยังรู้จักวิธีวางตัวและแสดงออกต่อสังคมด้วย

ไม่เพียงแต่เรื่องการเล่นกับสื่อ เรื่องของการขาดความรับผิดชอบของนักกีฬาก็มีส่วน ซึ่งคุณซันชี้แจงว่าเป็นไปได้ทั้งในแง่ของนิสัยส่วนตัว และข้อจำกัดของความเป็นนักกีฬาแบบ semi-pro ที่ไม่กล้าทุ่มให้กับการเป็นนักกีฬา eSports อย่างเต็มที่ ทำเป็นอาชีพเสริม ทำให้มีภาระอื่นเข้ามาและทุ่มเวลาให้กับการซ้อมหรือแข่งได้ไม่เต็มที่ ไม่นับเรื่องกริยา มารยาทและการวางตัวของนักกีฬาที่หลายๆ ครั้งดูไม่เป็นมืออาชีพและไม่มีน้ำใจนักกีฬา

แล้วสปอนเซอร์ล่ะเกี่ยวไหม

ในแง่ของสปอนเซอร์และผู้ใหญ่ในวงการ คุณซันมองว่าให้โอกาสกับนักกีฬาค่อนข้างมากแล้ว สิ่งที่ขาดมีเพียงการพิสูจน์ว่าการลงทุนจากสปอนเซอร์นั้นคุ้มค่า โดยเฉพาะการขายของให้สปอนเซอร์ เนื่องจากนักกีฬา eSports หรือผู้ที่ต้องการเดินสายนี้ยังไม่ค่อยรู้ว่านอกจากความเก่งในการเล่นเกมแล้ว อะไรอีกบ้างที่เป็นสิ่งจำเป็นในฐานะนักกีฬา

คำแนะนำสำหรับนักกีฬาและผู้ที่สนใจ

คุณซันเตือนว่า eSports ไม่ได้ง่ายแค่เล่นเกมเก่งแล้วจบ แล้วยังมีหลายปัจจัยที่สำคัญที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ประกอบกับการลงทุนด้านเวลาสำหรับการฝึกซ้อมและการปรับปรุงพัฒนาต่างๆ ที่ต้องอาศัยความตั้งใจ และความเสี่ยงที่จะต้องละทิ้งอะไรหลายๆ อย่างไปเพื่อมุ่งมั่นที่จะเอาดีทางด้านนี้

ออกจาก eSports มามองวงการเกมในภาพรวมบ้านเราบ้าง

วงการเกมบ้านเราถือว่าก้าวหน้ากว่าในอีกหลายๆ ประเทศ ในแง่ของการอุดหนุนเกมลิขสิทธิ์ที่มีมากขึ้น ผู้บริโภคมีความรับผิดชอบ มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นในแง่ของการพัฒนาเกมมากขึ้น ซื้อเกมละเมิดลิขสิทธิ์น้อยลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาวงการเกมบ้านเราในระยะยาว

ทิ้งท้าย ฝากถึงผู้อ่าน

อยากฝากติดตามแฟนเพจ The Dreamcasters โดยในปีหน้าทีมงานจะเป็นเจ้าภาพจัดลีคทัวร์นาเมนท์ eSports ด้วย แต่ยังขออุบไว้ก่อนว่าเป็นเกมอะไร ฝากติดตามกันด้วยครับ

Blognone Jobs Premium