สัมภาษณ์ ZTE Thailand ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมจีน หนึ่งใน Big Four อุปกรณ์เครือข่ายโลก

by mk
15 December 2016 - 12:04

ZTE เป็นบริษัทด้านเครือข่ายโทรคมนาคมอีกรายที่มาแรงในช่วงหลัง ถือเป็นบริษัทที่มีอุปกรณ์เกี่ยวกับเครือข่ายครบถ้วน ตั้งแต่ต้นน้ำพวก fiber และ carrier switching ที่ใช้กับโอเปอเรเตอร์ ไปจนถึงอุปกรณ์ปลายน้ำระดับสมาร์ทโฟนยี่ห้อของตัวเอง (เรือธงรุ่นล่าสุดคือ ZTE Axon 7)

ในประเทศไทยเอง ถึงแม้ ZTE ยังเพิ่งเริ่มกับตลาดสมาร์ทโฟน แต่ในตลาดอุปกรณ์เครือข่ายต้องบอกว่าแข็งแกร่งมาก โอเปอเรเตอร์ในไทย (ทั้งมีสายและไร้สาย) ล้วนแต่เป็นลูกค้าของ ZTE ด้วยกันทั้งนั้น

เพื่อให้เข้าใจยุทธศาสตร์ของ ZTE มากขึ้น และเรียนรู้ว่านวัตกรรมของบริษัทจีนที่ผลักดันตัวเองขึ้นมาได้ขนาดนี้เป็นอย่างไรบ้าง Blognone มีโอกาสสัมภาษณ์คุณ Wang Helin กรรมการผู้จัดการ ZTE Thailand ในประเด็นเหล่านี้

คุณ Wang Helin กรรมการผู้จัดการ ZTE Thailand

ธุรกิจของ ZTE ในประเทศไทย มีอะไรบ้าง

ธุรกิจหลักของ ZTE ทั้งในระดับโลกและในไทย ยังเป็นอุปกรณ์เครือข่ายที่มีส่วนแบ่งประมาณ 50% ของรายได้ทั้งบริษัท ปัจจุบัน ZTE เป็นหนึ่งในกลุ่ม Big Four ของวงการอุปกรณ์เครือข่ายโทรคมนาคม ซึ่งรายอื่นคือ Huawei, Nokia, Ericsson

ที่ผ่านมา ธุรกิจของ ZTE ในไทยเติบโตขึ้นมาก จากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี 3G มาเป็น 4G และมองว่าตลาดโทรคมนาคมไทยยังเติบโตต่อได้อีกมาก ถึงแม้จำนวนผู้ใช้งานอาจอิ่มตัวแล้ว แต่ผู้ใช้คนเดิมจะเปลี่ยนอุปกรณ์และแอพพลิเคชันไปตามเทคโนโลยี ซึ่งจากสถิติของเราเองเห็นชัดเจนว่าทราฟฟิกอินเทอร์เน็ตของไทยเติบโตอย่างมาก

ปี 2015 เป็นปีสำคัญของประเทศไทยในเรื่อง 4G ส่งผลให้โอเปอเรเตอร์ต้องลงเสาสัญญาณ 4G กันเยอะ ในอนาคตเทคโนโลยี 5G จะมาแน่นอน ตอนนี้เราอยู่ในยุคที่เรียกว่า Pre-5G

เทคโนโลยีสำคัญของ Pre-5G คือ Massive MIMO ที่ช่วยให้อัตราการส่งข้อมูลของ 5G มากขึ้นกว่า 4G ประมาณ 5-6 เท่าตัว ตอนนี้เทคโนโลยีของเราใช้งานจริงแล้วกับเครือข่าย SoftBank ของญี่ปุ่น และกำลังทดสอบในมาเลเซีย เกาหลีใต้ จีน

ทราบมาว่า ZTE ทำตลาดอุปกรณ์ Fiber Optics ด้วย

ต้องแยกว่าตลาด Fiber มีด้วยกัน 2 กลุม อย่างแรกคือเครือข่ายหลักหรือที่เรียกกันว่า backbone ตรงนี้เสถียรภาพเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ส่วนอีกตลาดหนึ่งคือ FTTx ที่คนไทยคงรู้จักกันดีอยู่แล้ว

ในประเทศจีน ZTE มีส่วนแบ่งตลาด backbone ถึง 50% ส่วนในประเทศไทยก็ถือว่าเป็นผู้เล่นรายสำคัญ โอเปอเรเตอร์ทุกรายก็ใช้อุปกรณ์ของเรา ที่สำคัญคือเราวางแผนวิจัยเทคโนโลยี Fiber ยุคหน้าอย่าง NG-PON (Next-Generation Passive Optical Network) รอไว้แล้ว

ส่วนตลาด FTTx บ้านเราก็คึกคักและกำลังโตขึ้นเรื่อยๆ ปัจจัยหนึ่งคือ AIS ลงมาทำการตลาดค่อนข้างหนักในช่วงหลัง แต่ ZTE มองว่าอัตราการใช้งาน (penetration) ของไฟเบอร์ตามบ้านเรือนในประเทศไทยยังต่ำ และมีโอกาสอีกมากสำหรับผู้เล่นทุกราย

ZTE ทำสมาร์ทโฟนด้วยเช่นกัน มองตลาดนี้อย่างไร

ตลาดสมาร์ทโฟนเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ZTE มองว่าผู้ที่จะประสบความสำเร็จ ตัวสินค้าต้องดี และการตลาดต้องดีควบคู่กันไป ถ้าฝั่งไหนมีปัญหา ก็จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ

ในแง่ผลิตภัณฑ์ ZTE เพิ่งมีเรือธงของปีนี้คือ Axon 7 ซึ่งบริษัทมั่นใจในระดับคุณภาพของสินค้า ส่วนในแง่การตลาด เราก็ใช้ยุทธศาสตร์พรีเซนเตอร์คือ มาริโอ้ เมาเร่อ ซึ่งสร้างการรับรู้ให้ดีขึ้นกับผู้บริโภค ปีหน้าเราก็จะสานต่อความสำเร็จนี้ให้ผลลัพธ์ดีขึ้นไปอีก

ZTE เป็นบริษัทเครือข่ายเพียงไม่กี่รายที่มีผลิตภัณฑ์ครบสาย end-to-end ตรงนี้เป็นจุดเด่นอย่างไร

ในกลุ่ม Big Four หรือบางที่เรียก Four Wonders มีเพียงสองบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์แบบ end-to-end คือ ZTE และ Huawei ส่วนอีกสองรายยังขายผลิตภัณฑ์ในบางด้าน เช่น Ericsson ไม่ได้ทำโทรศัพท์แล้ว

การที่บริษัทมีไลน์สินค้าเยอะ มีข้อจำกัดคือต้องลงทุนวิจัยและพัฒนามาก เพราะต้องลงทุนกับทุกๆ เรื่อง ถึงระดับว่าต้องมีเทคโนโลยีชิปของตัวเอง แต่การเป็นบริษัทจีนที่มี economy of scale สูง ช่วยแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนได้ดี

เมื่อแก้ปัญหาเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุนได้แล้ว การมีสินค้าแบบ end-to-end มีประโยชน์มาก เพราะช่วยให้เข้าใจลูกค้ามากขึ้น เข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไร ตัวอย่างเช่น การที่เรามีทั้งสมาร์ทโฟน 4G และอุปกรณ์เครือข่าย 4G ช่วยให้เรารู้ทิศทางของเทคโนโลยีได้เร็วกว่าคู่แข่ง ปรับตัวได้เร็วกว่าคู่แข่ง

การเป็นบริษัทจีน มีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับบริษัทเทคโนโลยีจากโลกตะวันตก

ข้อดีของการเป็นบริษัทจีนคือมีตลาดในประเทศ และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนอย่างมาก ซึ่ง ZTE ถือเป็นหนึ่งในบริษัทจีนที่ได้ประโยชน์จากสภาพการณ์นี้ ถือว่าในตลาดในประเทศมีสภาพแวดล้อมในการแข่งขันที่ดี

แต่การออกสู่ตลาดโลก ไปแข่งขันกับคู่แข่งต่างชาติ ก็ช่วยให้บริษัทต้องถีบตัวให้มีความสามารถสู้กับรายอื่นๆ ได้ รู้ว่าคู่แข่งในระดับโลกเป็นอย่างไร เราจำเป็นต้องเอาจุดเด่นจากทั้งสองตลาดมารวมกันให้ได้

แน่นอนว่าวัฒนธรรมจีนแตกต่างจากวัฒนธรรมตะวันตกมาก และการไปทำตลาดในประเทศไหน ก็ต้องเตือนตัวเองให้เข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่นให้มาก เปิดตัวเองให้กว้าง ต้องเป็นมิตรกับคนท้องถิ่นมากขึ้น ในอดีตบริษัทจีนมักมีเทคโนโลยีของตัวเองเป็นระบบปิด ก็ต้องปรับตัวให้เปิดกว้างมากขึ้น มีความเป็น open system มากขึ้น

มองแผนการทำธุรกิจในไทยปี 2017 อย่างไร

ธุรกิจหลักของเราในส่วนของ carrier network ทั้ง 4G และ Fiber ก็ยังเดินหน้าต่อไป แต่ตลาดใหม่ที่เราเรียกว่า M-ICT 2.0 ที่กำลังมองหาโอกาสอยู่คือกลุ่มเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง Smart City, IoT, AI ที่ไม่ได้มีแค่โอกาสธุรกิจอย่างเดียว แต่ทำแล้วจะเป็นประโยชน์กับคุณภาพชีวิตของคนไทยด้วย

ส่วนตลาดสมาร์ทโฟนก็จะขยายตัวต่อตามที่วางยุทธศาสตร์เอาไว้ข้างต้น

Blognone Jobs Premium