รีวิว Dell Inspiron 7460

by tanersirakorn
28 December 2016 - 10:25

ภายใต้สายการผลิตโน้ตบุ๊กของ Dell ที่แบ่งไลน์สินค้าออกเป็นตระกูลต่างๆ เช่น Inspiron, Latitude และ XPS ดูเหมือนว่าการตลาดของ Dell ประเทศไทยช่วงนี้จะมุ่งเน้นไปที่โน้ตบุ๊กตระกูล Inspiron 7000 สังเกตได้จากหน้าปกของโบรชัวร์ Dell ช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่โน้ตบุ๊ก Dell Inspiron 7460 ได้ขึ้นหน้าปกโบรชัวร์สินค้า

ผู้เขียนได้มีโอกาสซื้อ Dell Inspiron 7460 รุ่น Core i7 มาใช้ จึงมาถ่ายทอดผ่านรีวิวให้อ่านครับ

(คำเตือน: ภาพค่อนข้างเยอะ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีการจำกัดแบนด์วิดท์ควรระมัดระวัง)


Inspiron 7460 เปิดตัวมาเมื่อช่วงปลายสุดของเดือนกันยายนปี 2559 ชูจุดขายที่ความบางของตัวเครื่อง และการออกแบบของแบบ diamond-cut ตามสเปคบอกว่าหนาน้อยกว่า 18.95 มิลลิเมตร (ไม่ได้บอกว่าวัดส่วนไหน) วัสดุด้านนอกเป็นอะลูมิเนียมทั้งหมด น้ำหนัก 1.60 กิโลกรัม


ด้านซ้ายของเครื่องมีรูสำหรับชาร์จแบตเตอรี่, พอร์ตแลน, HDMI, USB 3.0 จำนวนสองพอร์ต และรูเสียบหูฟัง


ด้านขวามาพร้อมพอร์ต Kensington, USB สำหรับเสียบเมาส์, และตัวอ่าน SD Card


ตัวเครื่องมาพร้อมหน้าจอ IPS ขนาด 14 นิ้ว ความละเอียด Full HD ข้อสังเกตคือกล้องเว็บแคมย้ายไปอยู่ตรงขอบล่างสุดของเครื่อง


คีย์บอร์ดเป็น chicklet ตามยุคสมัย พร้อมไฟส่องสว่างในตัว ทัชแพดเป็นแบบ unibody ไม่แยกซ้ายขวา และคลิกได้โดยทั่ว

บริเวณตัวเครื่องด้านในให้สัมผัส “นุ่ม” เหมือนยางขณะลูบ ทั้งนี้ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าทำจากอะไร แต่เข้าใจว่าหนีไม่พ้นพลาสติก


ที่น่าทึ่งคือเมื่อวางเทียบกับ MacBook Pro 13” ตัว non-retina แล้วพบว่าขนาดมันเท่ากันเป๊ะมาก! แต่สิ่งที่ Dell ชนะไปคือน้ำหนัก (ซึ่งหนักเพียง 1.6kg เทียบกับ MacBook Pro ของผู้เขียนที่ 2.04kg)

การใช้งานเบื้องต้น

Inspiron 7460 ออกแบบมาให้สะดวกต่อการพกพา ด้วยน้ำหนักที่ไม่มาก นอกจากนั้นตัวเครื่องมาพร้อมไลเซนส์ของ Windows 10 คือเปิดเครื่องมาก็พร้อมใช้งานในระดับหนึ่งได้เลย

ตัวเครื่องมีหน่วยความจำรองมาให้สองจุด เป็น SSD ขนาด 128GB และฮาร์ดดิสก์ 5400rpm ขนาด 1TB การลงระบบปฏิบัติการไว้ที่ SSD ช่วยทำให้เครื่อง “เร็วส์” (ในความรู้สึกคนไม่เคยใช้ SSD) อยู่มาก

หน่วยความจำ 128GB นี้บางส่วนจะถูก “สงวน” ไว้สำหรับ restoration partition ทำให้ที่เก็บข้อมูลจริงๆ เหลืออยู่ที่ประมาณ 104GB


การใช้งานปกติทั่วไปไม่ติดขัดอะไรอยู่ หน้าจอที่ถึงแม้จะไม่ละเอียดเท่าหน้าจอ retina display (@2x) แต่ก็ทำให้รู้สึก “คมชัด” กว่าหน้าจอปกติอยู่บ้าง


ทั้งนี้ โปรแกรมบางโปรแกรมที่ไม่รองรับการ scaling อาจจะ scale ขนาดหน้าจอออกมาผิดพลาด (ในรูปคือ Photoshop ซึ่งตั้ง scaling ได้แค่ 1x และ 2x) นอกจากนั้นผู้เขียนพบว่า UI ทั้งบน Linux Mint และ Ubuntu ดู “เล็ก” กว่าที่ควรหลังจากลงครั้งแรก

คีย์บอร์ดพิมพ์ได้อย่างปกติสุขดี มาพร้อมไฟส่องสว่างสองระดับ (ซึ่งไม่ได้ต่างกันมากนัก) ระยะกดของคีย์บอร์ดให้ความรู้สึกเหมือน MacBook Pro เครื่องเก่าของผู้เขียน ดังนั้นจึงไม่ต้องปรับตัวอะไรมากนัก

ทัชแพดของ Inspiron 7460 ทำงานได้อย่างไม่มีข้อกังวล ผู้เขียนเป็นคนที่เรื่องมากเกี่ยวกับทัชแพดมาก (คือ “ล็อกสเปค” ว่าทัชแพดต้องทำมาจากกระจก ป้องกันการลอกของผิวเคลือบ) ซึ่งกับ Inspiron 7460 ผู้เขียนยังไม่พบปัญหา “คาใจ” แต่อย่างใด

ทั้งนี้ทัชแพดอาจไม่ใช่ประเด็นหลักหากผู้อ่านพกเมาส์เป็นปกติ แต่สำหรับผู้เขียนที่ “ปันใจย้ายค่าย” มาจากแมค ตรงนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญ


ลำโพงส่วนตัวเชื่อว่าค่อนข้างมีมิติ แต่ผู้เขียนไม่ใช่คน “หูเทพ” และกลับกันเป็นคนหูด้านด้วยซ้ำ จึงไม่สามารถออกความเห็นได้มาก


ข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่น่าพิจารณาคือ กล้องเว็บแคมของ Inspiron 7460 ไปอยู่ขอบล่างของหน้าจอ เป็นการจัดวางที่ไม่พบเห็นมากนัก ซึ่งส่งผลต่อการใช้งานกล้องโดยตรง กล่าวคือทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาเป็นมุมเงย (จนดูอ้วน) และมือบังกล้องขณะพิมพ์บนคีย์บอร์ด ทั้งที่ดูจากทรงแล้ว การนำกล้องขึ้นไปไว้ด้านบนไม่น่าจะทำได้ยากเลย

แบตเตอรี่

แก้ไขเพิ่มเติม: ตอนนี้ผู้เขียนได้ลองนำไปใช้งานนอกสถานที่ อายุแบตเตอรี่จะอยู่ราวๆ 3 ชั่วโมง สำหรับหลายท่านถือว่าค่อนข้างน้อยครับ


ผู้เขียนยังไม่มีโอกาสพกออกไปใช้นอกสถานที่ แต่จากการถอดปลั๊กออกเมื่อชาร์จจนเต็ม วินโดวส์แจ้งว่าแบตเตอรี่อยู่ได้อีกประมาณ 9 ชั่วโมง 41 นาที ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับโอเค

ซอฟต์แวร์ของ Dell


เป็นเรื่องที่ดีมากที่ Dell เลือกจะไม่ preload ซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่ไม่จำเป็นเข้ามาในเครื่อง นอกจาก Windows และชุด Office (เวอร์ชั่นทดลองใช้งาน) แล้ว มีเพียงแอนติไวรัส McAfee (พร้อม subscription นาน 15 เดือน), Dropbox (พร้อมอัพเกรดความจุเป็น 20GB) และซอฟต์แวร์ของ Dell นิดหน่อยเท่านั้น

ซอฟต์แวร์ตัวที่น่าพูดถึงที่สุดคือ Dell Power Manager ซึ่งทำหน้าที่บอกสถานะของแบตเตอรี่ ทั้งปริมาณการชาร์จ คุณภาพแบตเตอรี่ และอื่นๆ

ที่น่าสนใจคือผู้ใช้สามารถเลือก “โหมด” การชาร์จได้ เช่นกรณีของผู้เขียนเลือกเป็นโหมด AC เนื่องจากไม่ค่อยทำงานนอกสถานที่บ่อยมากนัก Dell เคลมว่าโหมดนี้จะ “คุม” การชาร์จแบต ทำให้อายุขัยของแบตเตอรี่ดีขึ้น

นอกจากนั้นผู้ใช้ยังสามารถเปิดโหมด Advanced charging ซึ่งยอมให้เลือกเวลาใช้งานโน้ตบุ๊กเป็นประจำ ซอฟต์แวร์ของ Dell จะคำนวณวิธีการชาร์จที่เหมาะสมเพื่อรักษาคุณภาพแบตเตอรี่ให้ดีที่สุดต่อไป

ประสิทธิภาพการเบนช์มาร์ค

คะแนนเบนช์มาร์คเป็นไปตามภาพครับ ถือว่ากลางๆ ซึ่งผู้เขียนไม่ได้ใช้โน้ตบุ๊กกับงานที่ต้องเน้นกราฟิกเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงถือว่าตอบโจทย์ของผู้เขียนได้อยู่แล้ว

สรุป

ข้อดี

  • วัสดุโอเค ไม่ให้ความรู้สึกถูก
  • คีย์บอร์ดและทัชแพดให้สัมผัสดี
  • จอสะดุดตา (สำหรับผู้เขียนซึ่งไม่เคยใช้จอสเกล 2x บนคอมพิวเตอร์)
  • ประกัน on-site ในวันทำการถัดไป นาน 3 ปี

ข้อเสีย

  • ตำแหน่งกล้อง “น่าตลก”
  • ขอบเครื่องคมไปเล็กน้อย อาจจะทำให้ขัดใจหากวางมือนานๆ

Dell Inspiron 7640 ถือเป็นโน้ตบุ๊กที่ตอบโจทย์ผู้เขียนได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ ด้วย CPU Intel Core i7 และแรม 8GB น่าจะทำให้งานทางด้านของผู้เขียนราบรื่น โดยเฉพาะเมื่อปัจจัยทางด้านน้ำหนัก วัสดุ และความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ส่วนตัวของผู้เขียนเป็นสิ่งสำคัญ

Dell Inspiron 7460 มาพร้อมกับประกัน Dell Premium Support ระยะเวลานาน 3 ปี ครอบคลุมบริการ on-site ในวันถัดไป และบริการโทรถามความช่วยเหลือ 24 ชั่วโมง

สนนราคาของ Dell Inspiron 7460 อยู่ที่ 31,990 บาทสำหรับรุ่น Intel Core i5 + RAM 4GB และ 37,990 บาทสำหรับรุ่น Intel Core i7 + RAM 8GB

Blognone Jobs Premium