สัมภาษณ์ Bizgital สตาร์ทอัพลาวจับงานไอทีโซลูชั่นครอบคลุมทั้งธุรกิจและบันเทิง

by sunnywalker
5 January 2017 - 06:09

Blognone มีความเห็นหลากหลายแง่มุมเรื่องสตาร์ทอัพ บางแง่มุมคนทำสตาร์ทอัพอาจจะไม่อยากฟัง อย่างไรก็ตาม แนวคิดเริ่มต้นการทำสตาร์ทอัพคือสิ่งที่โลกกำลังดำเนินไปในทางนั้น แนวทางที่เทคโนโลยีจะมาขับเคลื่อนธุรกิจ การค้า การบริการ การทำสตาร์ทอัพยังคงต้องดำเนินต่อไปเช่นกัน

ในโอกาสนี้ Blognone ได้สัมภาษณ์ Bizgital สตาร์ทอัพโซลูชั่นการค้าจากประเทศลาว ชาว Blognone อาจคุ้นชื่อ เพราะเมื่อไม่นานมานี้ Sanook! เว็บไซต์ข่าวดังของประเทศไทย เปิดตัวเว็บไซต์ภาคภาษาลาวในชื่อ Sanook! ม่วน โดยร่วมมือกับ Bizgital มาช่วยทำการตลาดดิจิทัล

ที่สำคัญ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง คุณจอนนี่ เป็นหนึ่งในสมาชิก contributor ของ Blognone ด้วย Blognone เห็นว่าน่าสนใจและอยากรู้เหมือนกันว่าสังคมไอที และสตาร์ทอัพในประเทศลาวเป็นอย่างไร

ที่มาที่ไป Bizgital

Bizgital ก่อตั้งขึ้นในปี 2013 โดย มังกรเพชร ไชยสาน (จอนนี่) ดูแลครีเอทีฟ และเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์, เจตนา เวียงสาลี (โบ้) อดีตนักพัฒนาเว็บไซต์ที่ผันตัวมาดูแลติดต่อลูกค้า, สุลิโย วงดาลา (โย) ดูแลเรื่องของเทคโนโลยี R&D และเป็นนักพัฒนา

โปรไฟล์ของแต่ละท่านน่าสนใจเพราะเป็นการรวมตัวกันของนักพัฒนา นักทำเกม คนชื่นชอบอะนิเมะ คอสเพลย์และการถ่ายภาพด้วยโดรน

คุณจอนนี่บอกกับเราว่า ถนัดทำเกม ทั้งเขียนโค้ดและออกแบบภาพในสายเกม ทำชุมชนคนชอบ Anime และยังจัดงานคอสเพลย์ที่ลาวด้วย ส่วนคุณโบ้ถนัดทำเว็บ ทำงานเป็น Web Administrator และ IT Professional และยังเป็นนักถ่ายภาพด้วยโดรนที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของลาวด้วย ส่วนคุณโย จบ ป.ตรี Electronic Engineering จาก Seattle University สหรัฐอเมริกา ชอบเขียนโค้ด ทำแอพพลิเคชั่นและเป็นที่รู้จักในฐานะคนทำแป้นพิมพ์ภาษาลาวลงระบบ iOS (ภาษาลาวไม่ได้ระบุเข้ามาในระบบแต่แรก)

Bizgital แต่เดิมไม่ได้เป็นบริษัทด้านธุรกิจเต็มตัวอย่างปัจจุบัน แต่เริ่มจากทำโปรเจกต์เล็กๆ อย่างแอพพลิเคชั่นสถานที่ท่องเที่ยวลาว ได้เข้าร่วมแข่งขัน Startup Weekend ของลาวและได้ที่ 1 หลังจากนั้นก็ทำผลงานร่วมกันอีกหลายอย่างจนรวมตัวกันเป็น Bizgital ในที่สุด

รวมผลงาน Bizgital

บริการของ Bizgital มีสองส่วนหลัก คือ Tech solution และ Digital Marketing
Tech solution มีทำแอพพลิเคชั่น เว็บไซต์ส่งเสริมธุรกิจ คุณจอนนี่บอกว่าในประเทศลาว อาชีพส่วนใหญ่คือทำธุรกิจค้าขาย และคนหนึ่งอาจมีหลายธุรกิจ Bizgital จึงเสนอโซลูชั่นที่ช่วยให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น โดยปรับใช้ให้เหมาะกับธุรกิจของลูกค้าแต่ละคน

Digital Marketing ถือเป็นส่วนที่จับกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทอยู่ เป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ เริ่มจากทำความเข้าใจคนในพื้นที่ การใส่ใจในคุณภาพของคอนเทนต์ การสร้างและรักษาแบรนด์ของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นอาร์ตเวิร์ก แคมเปญ หรือวิดีโอ นอกจากนี้ยังเสนอเครื่องมือหรือ Tools ต่างๆ เช่น web app, mobile app เข้าไปช่วยลูกค้าให้สามารถสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ตัวเองได้มากขึ้น

แต่ผลงานที่สร้างชื่อให้ Bizgital เป็นที่รู้จักมากขึ้นคือ ร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรมของลาว ทำแอพพลิเคชั่นอ่านกฎหมายของลาว

เหตุผลที่ต้องทำแอพฯนี้ คุณจอนนี่บอกว่า กฎหมายของลาวประชาชนเข้าถึงได้ยากมาก มีการตีพิมพ์น้อย ส่วนในเว็บไซต์ก็มีเนื้อหายืดยาว เข้าใจยาก จึงทำแอพลงสมาร์ทโฟน ตัวแอพสามารถแปลกฎหมายลาวเป็นอังกฤษ หรืออังกฤษเป็นลาวได้ และแจ้งเตือนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย

นอกจากนี้ยังทำคีย์บอร์ดภาษาลาวลงระบบ iOS ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีในระบบ

Bizgital มีแอพพลิเคชั่นย่อยๆอีกหลายด้าน เช่น 865NOW คล้ายแอพวงในคือค้นหาร้านอาหาร สถานที่ แอพ Spoon.la แอพสั่งอาหารจากร้านค้าชื่อดังต่างๆ เช่น DQ หรือ แดรี่ควีน (แอพนี้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะมีร้านอาหารเกิดใหม่น้อย) แอพหาคู่ก็ยังมี และเป็นแอพแรกของลาวด้วย คือ Meet Love

ส่วนเรื่องร่วมงานกับ Sanook! นั้น ผู้ก่อตั้ง Bizgital บอกว่าคนลาวเข้าเว็บไซต์ Sanook มากเป็นอันดับสองรองจากคนไทย ทาง Sanook! จึงเข้ามาเปิดอีกแพลตฟอร์ม ทาง Bizgital ก็ทำโลโก้ รวมถึงคอนเทนต์ภาษาลาวลงไปด้วย

Bizgital มีลูกค้าแบรนด์ต่างประเทศเข้ามาใช้บริการเยอะพอสมควร เช่น Heineken, Coca Cola, Krungsri Bank, HiQ Kids Club เป็นต้น

สังคมไอทีและสตาร์ทอัพประเทศลาวเป็นอย่างไร

ผู้ก่อตั้งทั้งสามเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันว่า สังคมไอทีและสตาร์ทอัพประเทศลาวยังเล็กมาก ไปไหนก็รู้จักกันหมด แต่ก็มีการจัดงานคือ บาร์แคมป์ ให้เหล่าไอทีระดับกีคมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เหมือนที่กรุงเทพฯมีงาน barcampbangkok และมี Mobile Talk เป็นเว็บไซต์ให้ชุมชนคนไอทีเข้ามาแชร์ประสบการณ์ พูดคุยเรื่องราวไอที มีคนทั่วไปเข้ามาขอคำแนะนำการใช้สมาร์ทโฟน การใช้คอมพิวเตอร์มากด้วย เพราะคนลาวเริ่มใช้มือถือมากขึ้น เป็นสังคม Mobile First และแทบทุกคนใช้ Facebook แต่แอพแชทที่นิยมใช้กันคือ WeChat และ WhatsApp

"คนลาวเองติด Whatsapp มาตั้งแต่สมัยเป็น Symbian เลย เพราะมาตรงจังหวะที่ผู้ให้บริการเครือข่ายลาว หยุด package Free SMS พอดี ทำให้ WhatsApp มาแรง ช่วงประมาณปี 2007-2008" คุณจอนนี่กล่าว

ส่วน WeChat นิยมใช้เพราะคนลาวมีการทำการค้าขายของจีนมาก มีการซื้อของผ่าน Taobao 2-3 ปีมานี้ E-commerce มาแรง แต่เสียตรงที่ระบบ Payment ไม่แข็งแรง ต้องใช้วิธีโอนเงินสด ไม่เช่นนั้นคงโตได้มากกว่านี้

เมื่อถามว่าคนลาวนิยมเข้าเว็บไซต์อะไรกัน ในมุมมองของผู้ก่อตั้ง บอกว่า เว็บไซต์ธนาคาร BCEL.com.la เว็บไซต์หางาน 108Job.la คือเว็บที่คนลาวต้องเข้า นอกนั้นถ้าไม่นับ Facebook ก็เป็นเว็บไซต์ข่าวสาร เช่น laopost.com, tholakhong.com เว็บของไทยคนลาวก็เข้าเยอะ เช่น Sanook และ Kapook

ด้านสถานที่พบปะของคนไอทีในลาวก็ไม่มีที่ไหนเป็นพิเศษ แต่จะเจอกันในรูปแบบงานอีเวนท์ประจำปีเช่น Barcamp Vientiane, Google IO, งาน MobileTalk เป็นต้น หรือมีการจัดกันเองเล็กๆ ตอนที่เปิดตัว iPhone, Android เวอร์ชั่นใหม่ สถานที่เปลี่ยนไปตามความเหมาะสม แต่ส่วนใหญ่จะจัดตามมหาวิทยาลัย

Blognone ถามความเห็นผู้ก่อตั้ง Bizgital ว่าสิ่งแวดล้อมของลาวเอื้อต่อการเติบโตของเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพมากแค่ไหน คำตอบคือ ยังไม่เอื้อ เพราะกุญแจสำคัญอย่างระบบ Payment ยังไม่แข็งแรง ครอบครัวก็เช่นกัน สตาร์ทอัพเป็นเรื่องที่ยังใหม่มากสำหรับคนลาว พ่อแม่ของคนรุ่นใหม่อาจยังไม่สนับสนุนให้ลูกหลานกระโดดเข้ามาอยู่ในวงการนี้ เกิดจากการขาดความเข้าใจนั่นเอง

Blognone Jobs Premium