Google Pixel และ Pixel XL ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่กูเกิลหันมาออกแบบสมาร์ทโฟนเองทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาเป็นการจับมือกับผู้ผลิตยี่ห้อต่างๆ เช่น LG, Samsung และ HTC ออกสมาร์ทโฟนในชื่อ Nexus โดยเป็นความร่วมมือในลักษณะช่วยกันออกแบบมากกว่า อีกทั้งผู้ผลิตก็ไม่ได้รับสิทธิพิเศษอะไร
เมื่อช่วงปลายปี 2016 กูเกิลยกเลิกโครงการ Nexus อย่างสิ้นเชิง และหันมาออกแบบฮาร์ดแวร์เองทั้งหมด แล้วไปจ้างโรงงานผลิตตามสั่ง สำหรับ Pixel และ Pixel XL ก็ถูกผลิตจากโรงงานของ HTC แต่ HTC ไม่ได้มีส่วนกับการออกแบบแต่อย่างใด (มีฐานะเทียบเท่า Foxconn ที่แอปเปิลจ้างผลิต iPhone)
หากยังจำกันได้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วผมได้เขียนรีวิว LG Nexus 5X ไว้ ซึ่งก็ใช้งานมาตลอด และปัญหาความแลคที่พบตั้งแต่แรกก็ไม่เคยได้รับการแก้ไข ซ้ำร้ายเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา หลังจากอัพเดตเป็น Android 7.0 Nougat ได้ราว 2 สัปดาห์ เครื่องก็เกิดอาการ boot loop อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย และแก้ไขอะไรไม่ได้ ผมจึงส่งเครื่องกลับไปเคลมที่สหรัฐอเมริกา และพอได้เครื่องใหม่กลับมาก็ตัดสินใจขายทิ้งเสีย เนื่องจากไม่มีหลักประกันอะไรว่าเครื่องนี้จะไม่เป็นอาการเดิมอีก
ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นกูเกิลเปิดตัว Google Pixel พอดี ผมจึงสั่งมาใช้งาน และออกมาเป็นรีวิวชิ้นนี้ครับ โดยเครื่องผมเป็น Pixel (ไม่ XL) ความจุ 32GB สีดำ Quite Black
กล่องของ Pixel ค่อนข้างใหญ่ แต่ดีไซน์เรียบมาก ด้านหน้ามีรูปเครื่องครึ่งหนึ่ง สันด้านขวามีโลโก้ Google Assistant ซึ่งเป็นฟีเจอร์ชูโรงของสมาร์ทโฟนรุ่นนี้, โลโก้ Google Cast และสุดท้ายคือโลโก้ Daydream แสดงว่ารองรับแพลตฟอร์ม Daydream VR ส่วนหลังกล่องไม่มีอะไรเลย
เมื่อดึงกล่องชั้นในออกมา ก็ขาวล้วนอีกเช่นกัน มีเพียงสติกเกอร์บอกว่าเครื่องด้านในสีอะไรและความจุเท่าใด
เปิดฝาขึ้นมาเจอเครื่องห่อพลาสติกวางคว่ำอยู่ อุปกรณ์ภายในกล่องมีคู่มือ, เอกสารแนะนำฟีเจอร์ Assistant, สาย USB-C to USB-C 1 เส้น, สาย USB-A to USB-C 1 เส้น, อะแดปเตอร์ และสุดท้ายเป็นหัวแปลง USB-A ตัวเมีย เป็น USB-C ตัวผู้
ตัวเครื่องมีดีไซน์ค่อนข้างเรียบง่าย ด้านหน้าไม่มีปุ่มใดๆ มีช่องลำโพงและเซ็นเซอร์วัดระยะ (proximity sensor) อยู่ด้านบน
ด้านขวามีปุ่มสวิตช์และปุ่มปรับเสียง
ด้านซ้ายมีถาดใส่ซิมอย่างเดียว
ด้านล่างมีช่องลำโพง, พอร์ต USB-C และช่องไมโครโฟน
ด้านบนมีแจ็ค 3.5 มม.
ด้านหลัง เรียงจากซ้ายไปขวา มีไฟแฟลชแบบทูโทน, กล้อง, ช่องยิงและรับแสงเลเซอร์สำหรับช่วยโฟกัส และไมโครโฟนสำหรับตัดเสียงรบกวน ส่วนตรงกลางเป็นตัวสแกนลายนิ้วมือ Pixel Imprint
เปิดเครื่องมาครั้งแรกก็พบกับหน้าจอเซ็ตอัพ (ตอนบูตเสร็จมีเสียงด้วย) โดยเลือกภาษาก่อนและให้ต่อ Wi-Fi จากนั้นก็เลือกว่าจะเซ็ตอัพใหม่หมด หรือดึงข้อมูลจากแบ็คอัพ
ผมเลือกดึงข้อมูลจากแบ็คอัพ ซึ่ง Pixel ได้แนะนำให้เราดึงข้อมูลจากมือถือเครื่องเก่าของเราโดยตรง แต่หากต้องการดึงจากคลาวด์ต้องกด Other ways to copy data
ผมเลือกดึงข้อมูลจากมือถือเครื่องเก่าโดยตรง ซึ่งเป็นการคัดลอกข้อมูลผ่านสาย USB โดยการเสียบสายผ่านหัวแปลงที่มีมาให้ในกล่อง โดยสามารถคัดลอกข้อมูลจาก iPhone ได้ด้วย (ผมไม่ได้ลอง)
เมื่อเสียบสายแล้วมือถืออีกเครื่องจะรู้ตัวทันที และเข้าสู่หน้าจอการโอนถ่ายข้อมูล โดยต้องยืนยันตนโดยการใส่รหัสล็อคหน้าจอ หรือสแกนนิ้ว ส่วนบน Pixel ให้ใส่รหัสบัญชีของกูเกิล
จากนั้นบน Pixel จะขึ้นให้เลือกว่าต้องการย้ายข้อมูลอะไรมาบ้าง สามารถดึงมาได้ทั้งหมดตั้งแต่ SMS, การตั้งค่าต่างๆ เช่นรหัส Wi-Fi, แอพที่ติดตั้งอยู่ในเครื่องเดิม พร้อมข้อมูลของแอพนั้นๆ, เพลงและรูปภาพ
เมื่อกดปุ่ม Copy แล้วจะเริ่มการโอนถ่ายข้อมูลทันที โดยเราไม่ต้องรอให้เสร็จ สามารถกด Next ไปเซ็ตอัพเครื่องต่อได้เลย เช่นการเพิ่มลายนิ้วมือสำหรับปลดล็อคเครื่อง และเรียนรู้การใช้งาน Google Assistant
หลังจากถ่ายโอนข้อมูลเสร็จ ก็จะเข้ามาหน้าโฮม โดยรูปพื้นหลังและการจัดเรียงไอคอนจะวางอยู่ที่เดิมทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ผมนึกว่าแอพทั้งหมดจะพร้อมใช้งานทันทีจากการโอนย้ายข้อมูลก่อนหน้านี้ แต่จริงๆ แล้วก็ต้องโหลดมาใหม่จาก Play Store อยู่ดี และมีเพียงบางแอพเท่านั้นที่ไม่ต้องล็อกอินใหม่ โดยข้อมูลทุกอย่างอยู่เหมือนเดิม เช่นแอพ Talon for Android สำหรับใช้งานทวิตเตอร์ แต่ส่วนใหญ่ก็ต้องล็อกอินใหม่หมด
หลังติดตั้งแอพทั้งหมดเสร็จ ผมก็อัพเดตระบบปฏิบัติการเป็น Android 7.1 ทันที (ลืมดูว่าตอนเปิดเครื่องมาเป็นเวอร์ชันอะไร) และหลังจากนั้นไม่กี่วัน Android 7.1.1 ก็ออกตามมา
ฟีเจอร์ใหม่ที่สำคัญของ Android 7.0 Nougat คือการอัพเดตระบบปฏิบัติการแบบใหม่ เริ่มใช้ใน Google Pixel เป็นครั้งแรก เรียกว่า Seamless Update หรือแปลเป็นไทยว่าการอัพเดตแบบไร้รอยต่อ มันคือการแบ่งพื้นที่ของระบบออกเป็น 2 พาร์ทิชัน เมื่อมีอัพเดตมาจะเริ่มติดตั้งอัพเดตไว้ก่อนในพาร์ทิชันที่ 2 และขึ้นข้อความแจ้งผู้ใช้ว่าอัพเดตเสร็จแล้ว ผู้ใช้เพียงรีบูตเครื่อง 1 ครั้งก็พร้อมใช้งานต่อทันที และเป็นการรีบูตแบบปกติ ไม่ต้องรอโหลด หรือมีขึ้นข้อความ Optimizing apps อีกต่อไป (สิ่งที่เกิดขึ้นเบื้องหลังคือเครื่องจะสลับไปใช้พาร์ทิชันที่ 2)
หากเราเปิดดูหน้าจออัพเดต จะเห็นว่ามี Step 1 และ 2 ซึ่ง Step 2 ใช้เวลาค่อนข้างนานทีเดียว (เกือบครึ่งชั่วโมง)
Google Pixel มาพร้อมซีพียู Snapdragon 821 ซึ่งเป็นรุ่นท็อปสุดของ Qualcomm ในขณะนี้ จับคู่กับแรมขนาด 4GB ประสิทธิภาพจึงจัดว่าอยู่ในอันดับต้นๆ ของสมาร์ทโฟนปี 2016
การใช้งานโดยรวมลื่นไหลมาก ไม่แสดงให้เห็นถึงอาการแล็ค หรือกระตุกแบบ Nexus 5X แต่อย่างใด การเข้า-ออกแอพทำได้รวดเร็ว ส่วนการเปิดกล้องใช้เวลาราว 1 วินาทีก็พร้อมใช้งาน
ผู้อ่านบางท่านอาจอยากเห็นตัวเลขการทดสอบ Benchmark ผมจึงทดสอบมานิดหน่อยครับ แต่ต้องแจ้งไว้ตรงนี้ว่าเป็นเครื่องส่วนตัวที่ลงแอพไว้เต็ม ใช้งานปกติ แล้วจึงมาทดสอบนะครับ คะแนนอาจไม่เท่าการรีวิวของที่อื่นที่น่าจะเป็นเครื่องเปล่าๆ ไม่มีอะไรรันอยู่
3DMark - Sling Shot
Geekbench 4.0.3
AnTuTu Benchmark
ฟีเจอร์ตัวหนึ่งที่กูเกิลโฆษณาอย่างมากคือ Google Assistant ซึ่งจริงๆ แล้วมันคือ Google Now ที่มีความสามารถมากขึ้น และคุยโต้ตอบด้วยภาษาธรรมชาติได้แบบเดียวกับ Siri ใน iOS
หากดูตามประวัติแล้ว Google Now ถูกเปิดตัวราวปลายปี 2012 โดยรองรับคำสั่งเช่นการค้นหาเส้นทาง หรือถามเกี่ยวกับภาพยนตร์ หลังจากนั้นก็เพิ่มข้อมูลจาก Gmail เข้ามา เช่นการแจ้งเตือนผู้ใช้ให้ไปขึ้นเครื่องบินตามไฟลท์ที่จองไว้
ตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา กูเกิลได้เพิ่มความสามารถให้ Google Now มาตลอด เช่นการเรียกใช้งานด้วยการพูดว่า "Ok Google" รวมถึงเปลี่ยนหน้าตาแอพ จนล่าสุดได้รวมเข้ามาเป็น Google Now Launcher เพื่อให้เข้าถึงฟีเจอร์นี้ได้ง่ายๆ เพียงแค่ปัดหน้าจอไปด้านซ้ายสุด แต่การสื่อสารกับ Google Now ก็ยังเป็นการสื่อสารทางเดียว คือผู้ใช้พูดสั่งเท่านั้น ตัวซอฟต์แวร์ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์อะไรกลับมามากนัก
พร้อมกับการเปิดตัว Google Pixel กูเกิลได้เปิดตัว Google Assistant ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ซอฟต์แวร์นี้สามารถโต้ตอบกับผู้ใช้ได้ (แนวคิดเดียวกับ Siri ที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2011) แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าสมาร์ทโฟนยี่ห้ออื่นที่จะเปิดตัวในปี 2017 จะมีฟีเจอร์นี้ด้วยหรือไม่
เราสามารถสั่งให้ Google Assistant อ่านข่าวให้ฟังได้ โดยจะเป็นข่าวสั้นๆ 1-5 นาที เช่นพูดว่า “Ok Google. Read news from Fox News” ก็จะเริ่มเปิดข่าวสั้นคล้ายๆ ข่าวต้นชั่วโมงอะไรแบบนั้น
หรือถามสภาพการจราจรไปยังสถานที่ใดๆ เครื่องก็จะพูดตอบกลับมาว่าการจราจรหนาแน่นหรือไม่ และจะใช้เวลาประมาณกี่นาทีในการเดินทางจากที่อยู่ปัจจุบัน
อีกคำสั่งที่มีมานานแล้วคือการสั่งให้โทรออก แต่ตอนนี้ดีขึ้นกว่าเดิมเพราะสั่งให้โทรแบบเปิดลำโพงได้แล้ว สะดวกมาก (อันนี้ Siri มีมาก่อน) เราก็พูดไปว่า “Call [name] on speakerphone”
คำสั่งที่ใช้ประโยชน์ได้จริง และไม่เคยมีใน Google Now คือการสั่งเกี่ยวกับฮาร์ดแวร์ของเครื่อง เช่นสั่งเปิด-ปิด Wi-Fi, ไฟฉาย สั่งปิดเสียง รวมถึงสั่งปรับความสว่างหน้าจอ ฯลฯ (อันนี้ก็เข้าใจว่า Siri มีมาก่อนแล้วเช่นกัน)
นอกจากนี้เห็นจะเป็นคำสั่งไว้เล่นขำๆ เสียมากกว่า เช่นถามว่าวัวร้องแบบไหน (มันเปิดเสียงวัวกลับมา), เล่นเกมตอบคำถาม (trivia), สั่งให้ร้องเพลง, สั่งให้กล่าวบทกลอน หรือความรู้รอบตัวต่างๆ และพูดจาหยอกล้อทั่วไป
รวมๆ แล้วผมว่าการใช้งาน Google Assistant ณ ตอนนี้ ยังไม่ดีเลิศหรือหนีห่างจาก Google Now มากนัก แต่จริงๆ ผมก็นึกไม่ค่อยออกเหมือนกันว่ามันควรทำอะไรได้มากกว่านี้ เพราะที่ใช้อยู่ปัจจุบันก็รู้สึกไม่ติดขัดอะไร
ลูกเล่นเล็กๆ อันหนึ่งที่ใส่เข้ามาใน Pixel คือ Moves เป็น "ท่า" ที่ใช้ควบคุมเครื่องได้เล็กๆ น้อยๆ ดังนี้
มาถึงไฮไลท์ของสมาร์ทโฟนรุ่นนี้กันบ้าง เพราะกูเกิลโม้ไว้เยอะมากในงานเปิดตัวว่ากล้องของ Pixel เป็นกล้องโทรศัพท์ที่ดีที่สุด โดยการเอาคะแนนจาก DxOMark Mobile มาโชว์ว่าสูงที่สุด ที่ 89 คะแนน นำ HTC 10, Samsung Galaxy S7 Edge และ Sony Xperia X Performance อยู่ 1 คะแนน
ถ้าจะให้บอกสั้นๆ คงต้องบอกว่า “มันดีมากจริงๆ” ผมพบว่ากล้องของ Pixel สามารถถ่ายออกมาดูดีได้ในทุกสถานการณ์ ยกตัวอย่างเช่นเวลากลางคืน ซึ่งเป็นโจทย์ยากมาตลอด และมือถือหลายรุ่นก็ถ่ายกลางคืนออกมาได้ “สว่าง” แต่ใน Pixel มันถ่ายออกมาได้ “สว่างและเป็นธรรมชาติ” กล่าวคือสีค่อนข้างนุ่มนวล ไม่ใช่สักแต่ว่าถ่ายให้ออกมาสว่าง
นอกจากนี้ส่วนที่มืด ก็ยังคงมืดสนิท ไม่พยายามเร่งความสว่างจนเกิด noise จนลายหรือกลายเป็นฝ้าๆ ขึ้นมา
ส่วนการถ่ายกลางวันก็ยังทำได้ดี สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นได้ทันทีคือภาพคมมาก และให้สีที่นุ่มนวลลงตัว มากกว่าจะให้สีที่ฉูดฉาดเกินความเป็นจริง
สิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ภาพออกมาดูดีได้ คือโหมด HDR+ ซึ่งควรเปิด Auto ไว้ตลอดนะครับ
ตัวอย่างภาพ
ผมได้ลองครอปภาพแบบ 100% มาให้ดูรายละเอียดกันด้วย ตามภาพด้านล่าง
อย่างไรก็ตาม ผมก็พบปัญหาแสง flare เวลาถ่ายย้อนแสงเหมือนที่เว็บต่างประเทศบอกไว้เช่นกัน ซึ่งกูเกิลระบุว่าจะออกซอฟต์แวร์อัพเดตเพื่อแก้ปัญหานี้ต่อไป
โดยส่วนตัวผมคิดว่าปัญหาเกิดจากการใช้กระจกเป็นฝาหลัง และใช้กระจกนั้นเป็นเลนส์กล้องไปด้วยเลย ไม่ได้ใช้กระจกเลนส์แยกแบบสมาร์ทโฟนอื่น ซึ่งปกติจะออกแบบมาเพื่อลดแสง flare อยู่แล้ว (flare หนักขนาดนี้ผมนึกว่าเจอ Zenyatta)
นอกจากนี้การถ่ายวิดีโอก็ทำได้ดี ระบบกันสั่นด้วยซอฟต์แวร์ทำงานได้ดีมาก ลองถือกล้องกระโดดๆ ภาพก็แทบไม่สั่น
ด้วยแบตเตอรี่ขนาด 2,770 mAh ซึ่งถือว่าไม่ได้ใหญ่มากนักเมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆ ในตลาด (แบตฯ ของ Nexus 5X มีขนาด 2,700 mAh) ถ้าใช้งานหนักก็หมดตั้งแต่ช่วงบ่ายแก่ๆ หรือหากใช้น้อยก็ยาวถึงค่ำๆ ดึกๆ ได้เลย
อย่างไรก็ตาม ระบบ Doze เวอร์ชันปรับปรุงใหม่ใน Android 7.0 Nougat ทำงานได้ดีเยี่ยม เวลาไม่ได้ใช้งานเครื่องนี่แบตเตอรี่แทบไม่ลดลง หรือหลังจากใช้งานหนัก เครื่องอุ่นๆ วางทิ้งไว้ไม่กี่นาทีก็เย็นแล้ว
ส่วนความเร็วในการชาร์จ เท่าที่สังเกต จากแบตฯ เหลือราว 15% ชาร์จไว้ประมาณ 1 ชั่วโมงนิดๆ ก็เต็มแล้ว ระบบชาร์จเร็วใช้งานได้ดี แม้จะไม่เร็วเท่า QuickCharge ของ Qualcomm ก็ตาม
อีกประเด็นหนึ่งที่ปรับปรุงจาก Nexus 5X คือเล่นไปชาร์จไปได้แล้ว จากที่ตอนนั้นหากเสียบสายชาร์จ ไฟจะเข้าน้อยมาก เข้าใจว่าน่าจะป้องกันไม่ให้เครื่องร้อนเกินไป ซึ่งใน Pixel ชาร์จไปเล่นไปก็ไม่ได้ร้อนมากนัก
อันนี้อาจเป็นความโชคร้ายของผมเอง แต่เห็นว่าเป็นประเด็นค่อนข้างสำคัญเลยขอเขียนถึงสักหน่อย
ต้องบอกผู้อ่านว่า Pixel เครื่องที่ใช้ปัจจุบัน เป็นเครื่องที่ 4 เลยครับ เพราะ 3 เครื่องแรกผมเจอ defect ทั้งหมด โดยเครื่องแรกผมได้มาเพียง 2 วันก็สังเกตเจอว่าสารเคลือบจอกันรอยนิ้วมือนั้น “ลอก” เป็นหย่อมครับ บริเวณกลางจอ ค่อนไปทางซ้ายมือ เส้นผ่านศูนย์กลางเท่าๆ เหรียญ 50 สตางค์ เวลาใช้งานรอยนิ้วมือจะติดแน่น เช็ดออกยากมาก ทั้งๆ ที่สารเคลือบนี้จะลื่น
พอได้เครื่องที่ 2 มา ใช้ได้เพียง 1 วัน ก็เจอปัญหาประหลาดคือไม่สามารถคุยโทรศัพท์แบบเปิดลำโพงได้ เมื่อเปิดลำโพง คู่สนทนาจะไม่ได้ยินเสียงผมเลย แต่หากสลับกลับมาถือโทรศัพท์คุยก็จะปกติ ซึ่งพบปัญหานี้ในการโทรผ่าน Skype หรือแอพโทรอื่นๆ เช่นกัน และการ factory reset ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้
เครื่องที่ 3 ก็ปัญหาหนักไม่แพ้กัน โดยใช้งานได้เพียง 3-4 วัน พบว่ามอเตอร์สั่นเกิดหลวมครับ เมื่อมีสายเข้า เสียงสั่นจะดังแครกๆ เหมือนกระทบกันอยู่ภายใน ผมลองเคาะๆ ดูก็เงียบลง แต่แรงสั่นหายไปเกือบหมด สั่นเบามาก แทบไม่รู้สึก และหากคว่ำเครื่องลง จะกลับมาสั่นแรงปกติ พร้อมด้วยเสียงแครกดังสนั่นเหมือนเดิม
ขณะนี้ผมใช้งานเครื่องที่ 4 มาได้ร่วม 2 สัปดาห์แล้ว และยังไม่เจอปัญหาใดๆ ครับ
Google Pixel เป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรกที่ออกแบบโดยกูเกิล 100% ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ซึ่งถือว่าทำออกมาได้ดีมาก ใช้งานได้ลื่นไหลตลอดเวลา แม้จะสลับจากแอพที่ทำงานหนักเช่นเกม หรือ Google Maps Navigation ก็รวดเร็วและไม่มีกระตุก
กล้องก็ทำได้ดีมากสมกับที่โม้ไว้ทั้งการถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอ สามารถถ่ายภาพออกมาได้ดีแทบจะในทุกสถานการณ์ คือยังไงก็ได้ภาพที่ใช้ได้แน่ๆ แถมยังได้สิทธิ์อัพโหลดภาพและวิดีโอขึ้นไปเก็บไว้บน Google Photos แบบความละเอียดเต็ม ไม่บีบอัด ได้ไม่อั้นตลอดชีพ (ถ่ายวิดีโอ 4K มาก็เก็บฟรี) ซึ่งเป็นข้อดีมากๆ ที่ยังไม่มีผู้ผลิตอื่นสามารถให้ได้ ทำให้การซื้อรุ่นความจุ 32GB ก็น่าจะเพียงพอแล้ว
ส่วนฟีเจอร์ชูโรงอย่าง Google Assistant ก็ใช้งานได้ดี แต่ก็ไม่ได้ต่างอะไรจาก Google Now มากนัก จึงต้องติดตามกันต่อไปว่ากูเกิลจะเพิ่มฟีเจอร์อะไรมาในอนาคตอีกบ้าง
อย่างไรก็ตาม การที่ผมเจอ defect ถึง 3 เครื่องรวด ทำให้กำลังใจผมเสียไปบ้าง เพราะไม่รู้ว่าเครื่องปัจจุบันจะทนแค่ไหน จึงอาจหวังให้ใช้ยาวถึง 3 ปีไม่ได้ แถมราคาก็แพง อีกทั้งโทรศัพท์รุ่นนี้ก็ไม่น่าจะเข้ามาขายในประเทศไทยแน่ๆ ผู้สนใจจึงต้องซื้อเครื่องหิ้ว และต้องแบกรับความเสี่ยงเอาเองหากเครื่องมีปัญหาครับ
ข้อดี
ข้อเสีย