HMD Global เป็นบริษัทสัญชาติฟินแลนด์ที่ก่อตั้งในช่วงกลางปี 2016 โดยเซ็นสัญญากับ Nokia Technologies บริษัทลูกของ Nokia เพื่อใช้แบรนด์ Nokia สำหรับโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตเพียงผู้เดียวไปอีก 10 ปี และได้สิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีโทรศัพท์มาอีกจำนวนหนึ่ง
นอกจากนี้ HMD ยังซื้อเครื่องหมายการค้า Nokia สำหรับฟีเจอร์โฟนมาจากไมโครซอฟท์ (ไมโครซอฟท์ได้สิทธิใช้ไปถึงปี 2024) ส่งผลให้แบรนด์ Nokia ในฐานะโทรศัพท์มือถือที่เคยแยกจากกันไปช่วง Nokia ขายธุรกิจโทรศัพท์ให้ไมโครซอฟท์ กลับมารวมกันอีกครั้งใต้ HMD Global และเพิ่งเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นแรก Nokia 6
หลายคนอาจสงสัยว่า HMD Global เป็นใครมาจากไหน เป็นร่างทรงของบริษัทในจีนเข้ามาสวมแบรนด์ Nokia หรือเปล่า บทความนี้มีคำตอบครับ
คำถามแรกคือ HMD Global เป็นใคร? เชื่อว่าทุกคนคงต้องถามคำถามนี้ สโลแกนของ HMD คือคำว่า The Home of Nokia Phones และในเว็บไซต์ของบริษัทก็ระบุไว้ชัดเจนว่าภารกิจคือ Continuing the Nokia mobile phone story
Nokia is known around the world for its history of innovation, including in mobile phones. As the new home of Nokia phones, HMD will write the next chapter for these products.
ในหน้าเว็บไซต์ของบริษัท ยังเผยรายชื่อผู้บริหารระดับสูงทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวฟินแลนด์ซะด้วย ลองไล่ไปทีละตำแหน่งเริ่มจากซีอีโอก่อนเลยนะครับ
Arto Nummela ซีอีโอของ HMD เป็นลูกหม้อของ Nokia มายาวนาน เขาเข้าทำงานกับ Nokia ครั้งแรกในปี 1994 และอยู่มานาน 20 ปีจนถึงวันสิ้นสุดของ Nokia ในปี 2014 ที่ขายกิจการส่วนมือถือให้ไมโครซอฟท์ ซึ่งเขาก็ยังตามมาทำงานกับไมโครซอฟท์ต่อ
Nummela ผ่านงานมาหลากหลายภูมิภาค ตั้งแต่อเมริกาเหนือ ละตินอเมริกา อินเดีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา โดยมีตำแหน่งสุดท้ายคือ Vice President Sales and Marketing for Greater Asia, Middle East and Africa ดูแลเอเชียทั้งหมด ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา
Florian Seiche เคยเป็นประธานของ HTC ภูมิภาค Europe, Middle East and Africa (EMEA) มาก่อน เขาทำงานกับ HTC มาตั้งแต่ปี 2005 จนถึงปี 2013 ก็ย้ายมาอยู่กับ Nokia ในฐานผู้บริหารฝ่ายขายและการตลาดในภูมิภาคยุโรป แต่อยู่ได้ไม่นาน Nokia ก็ขายกิจการให้ไมโครซอฟท์
เขายังนั่งทำงานในตำแหน่งเดิมมาจนถึงช่วงปลายปี 2016 แล้วย้ายมาเป็นประธานของ HMD Global ในเดือนธันวาคม 2016 (เพิ่งมารับตำแหน่งได้ไม่นาน) - อ้างอิงจาก LinkedIn ของ Florian Seiche
ถึงแม้ Florian Seiche ไม่ได้มีเลือด Nokia เข้มข้นแบบเดียวกับ Arto Nummela แต่ก็ต้องถือว่าเขาก็เคยทำงานกับ Nokia มาอยู่ช่วงหนึ่ง และเคยมีประสบการณ์ด้านฮาร์ดแวร์มือถือมาในสมัยอยู่กับ Orange ในตำแหน่ง Global Director of Devices
ความน่าสนใจคือทั้ง Nummela และ Seiche ประกาศว่าจะมาเป็นผู้บริหารของ HMD ในเดือนพฤษภาคม 2016 แต่ทั้งสองคนลาออกจากไมโครซอฟท์ แล้วมาเริ่มงานจริงๆ กับ HMD ในเดือนธันวาคม 2016 หรือห่างกันถึงครึ่งปี
ในหน้า About ของ HMD Global ยังแสดงรายชื่อผู้บริหารระดับสูงของบริษัทอีก 15 คน ผู้บริหารเกือบทุกคนล้วนแต่เคยผ่านงานที่ Nokia/Microsoft มาแล้วทั้งสิ้น (บางคนอยู่มานานกว่า 20 ปี)
ผมลองไล่ดูประวัติของผู้บริหารแล้ว มีเพียงคนเดียวที่ไม่เคยผ่านงาน Nokia มาก่อน (เคยทำอยู่ HTC) และแม้กระทั่ง Pekka Rantala อดีตซีอีโอของ Rovio ผู้สร้างเกม Angry Birds ที่ย้ายมาเป็น CMO ให้ HMD Global ก็เคยเป็นพนักงาน Nokia มานานถึง 17 ปี
ในหน้า Contact us ของ HMD Global ระบุว่าสำนักงานใหญ่ของ HMD ตั้งอยู่ที่เมือง Espoo ประเทศฟินแลนด์ โดยมีที่อยู่คือ Karaportti 2, 02610 Espoo, Finland ถ้าลองเอาไปดูพิกัดในแผนที่ ก็จะเห็นว่าตั้งอยู่ติดกับบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่ง
ถ้าลองดูหน้า Contact us ของ Nokia เปรียบเทียบกัน จะเห็นว่าสำนักงานใหญ่ของ Nokia ใช้ที่อยู่ว่า Karaportti 3, 02610 Espoo, Finland หรือมีเลขที่บ้านห่างกันเพียงเลขเดียวเท่านั้น
เจ้าของบริษัท HMD คือ Smart Connect LP กองทุน private equity ที่บริหารโดย Jean-Francois Baril อดีตผู้บริหารของ Nokia ระหว่างปี 1999-2012 โดยเขามานั่งเป็นกรรมการบริษัทของ HMD ด้วย ส่วนบอร์ดของ HMD มีทั้งหมด 5 คน หนึ่งในนั้นก็มีคนจาก Nokia มาร่วมเป็นกรรมการด้วยเช่นกัน
เงินทุนตั้งต้นของ HMD Global อยู่ที่ 500 ล้านดอลลาร์
(มาถึงจุดนี้ถ้าจะบอกว่า Nokia ตั้ง HMD มารับช่วงตำนานต่อไป ผมก็เริ่มเชื่อแล้วเหมือนกัน)
HMD Global ทำหน้าที่เป็นผู้รับไลเซนส์แบรนด์และเทคโนโลยีมาจาก Nokia เดิม ส่วนผู้ที่รับผิดชอบด้านการผลิตให้คือบริษัท FIH Mobile Limited ซึ่งเป็นบริษัทลูกของผู้รับจ้างผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก Hon Hai Precision หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Foxconn นั่นเอง
FIH ถือเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อรับจ้างผลิตโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์สื่อสารไร้สายโดยเฉพาะ ตัว FIH เองก็ไม่ใช่บริษัทใหม่ เพราะก่อตั้งเมื่อปี 2000 และมีผลงานรับจ้างผลิตโทรศัพท์มือถือให้กับแบรนด์ต่างๆ เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว (เวลาเราพูดถึง Foxconn ส่วนใหญ่ก็หมายถึง FIH) ปัจจุบัน FIH มีลูกจ้างถึง 1.1 แสนคนทั่วโลก
FIH เข้ามาเกี่ยวในสมการนี้ เพราะเป็นบริษัทที่ซื้อธุรกิจฟีเจอร์โฟน เครือข่ายซัพพลายเชน และโรงงานฟีเจอร์โฟนในเวียดนามมาจากไมโครซอฟท์ (HMD ไม่ได้ซื้อส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิต) และ HMD ก็เซ็นสัญญาความร่วมมือจ้าง FIH ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าทั้งหมดต่อไป (อธิบายง่ายๆ ว่าเจ้าของทรัพย์สินคือ FIH แต่ในทางปฏิบัติแล้ว HMD ก็เป็นคนดำเนินงานอยู่ดี)
เรียกได้ว่า HMD Global สืบทอดตำนานของ Nokia เดิมมาแทบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารระดับสูง, แบรนด์, โรงงาน, เครือข่ายการจัดจำหน่าย และภารกิจในการกลับมาทวงบัลลังก์โลกของโทรศัพท์มือถืออีกครั้ง เพียงแต่โครงสร้างการบริหารไปอยู่ภายใต้บริษัทใหม่ (ที่ดันตั้งอยู่ข้างๆ Nokia ซะด้วย) เท่านั้นเอง
ตอนนี้ HMD Global มีสินค้าวางขายอยู่แล้วคือฟีเจอร์โฟนแบรนด์ Nokia ที่บริษัทเพิ่งเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่เมื่อเดือนธันวาคม 2016 ถึงแม้ว่าปัจจุบัน ฟีเจอร์โฟนจะไม่ได้รับความสนใจมากนัก แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของ HMD ในการบริหารแบรนด์และซัพพลายเชนของตัวเองไปทั่วโลก (ก่อนจะขยายงานต่อด้วยผลิตภัณฑ์อื่นๆ) รวมถึงสร้างรายได้และกระแสเงินสดเข้ามาหล่อเลี้ยงบริษัทด้วย
HMD ระบุว่าจะไม่โปรโมทชื่อบริษัท HMD มากนัก แต่จะชูแบรนด์ Nokia ให้เด่นชัดที่สุด ทางบริษัททราบดีว่าโลกเปลี่ยนไปมากจากสมัย Nokia ยังเป็นเบอร์หนึ่ง แต่ก็ยังเห็นโอกาสทางธุรกิจภายใต้ชื่อแบรนด์ Nokia อยู่ บริษัทระบุว่าตั้งเป้าจับตลาดสมาร์ทโฟนทุกเซกเมนต์ ไม่ว่าจะเป็นตลาดบนหรือล่าง (Nokia is known everywhere and it is everyone's brand, it does not exclude any consumer segment) และจะต่อสู้กับคู่แข่งอย่างจริงจังทั้งในแง่สเปกและราคา แต่จะไม่เน้นการพูดถึงตัวเลขในแง่สเปก GHz หรือ megapixel เพราะต้องการเน้นไปที่แง่มุมความเป็นมนุษย์ คุณภาพ และความน่าเชื่อถือมากกว่า
ซีอีโอ Nummela บอกว่าในการประชุมพบปะกับลูกค้าช่วงที่ผ่านมา ทุกคนสวมกอดเขาทันที เพราะว่าเขามาพร้อมกับชื่อ Nokia และการดึงตัวพนักงานเข้ามาก็ไม่เคยง่ายขนาดนี้มาก่อน แม้จะเทียบกับที่สมัยเขาอยู่กับ Nokia ในอดีตก็ตาม
ขั้นตอนต่อไปของ HMD Global คือการวางขายสมาร์ทโฟนแบรนด์ Nokia และขยายการรับรู้ว่า "Nokia กลับมาแล้ว" ให้ผู้บริโภคได้รับทราบ ยุทธศาสตร์ของ HMD ยังเน้นไปที่ระบบปฏิบัติการ Android ซึ่งก็ถือว่าสมเหตุสมผลในปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่เห็นชัดเจนนักว่า Nokia ในยุคของ HMD จะสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งได้อย่างไร ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ต้องติดตามดูกันไปตลอดปี 2017 นี้ (น่าจะเปิดตัวในงาน MWC 2017 เดือนหน้า)
ข้อมูลอ้างอิง