ซีอีโอ Lenovo ยอมรับความผิดพลาดในการชุบชีวิตแบรนด์ Motorola

by nismod
19 January 2017 - 06:17

เป็นระยะเวลากว่า 2 ปีแล้วที่ Lenovo ประกาศดีลการเข้าซื้อโมโตโรลามาจาก Google เป็นมูลค่าราว 3 หมื่นล้านเหรียญ ด้วยความหวังจะครองตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลก แบบเดียวกับที่ Lenovo ทำได้หลังเข้าซื้อ IBM โดย Yang Yuanqing ซีอีโอ Lenovo ตั้งเป้าจะทำให้โมโตโรลากลับมาทำกำไรภายใน 6 ไตรมาส และยืนยันจะไม่ลดจำนวนพนักงานในสหรัฐ

อย่างไรก็ตามผลกับตรงกันข้าม โมโตโรลาตกลงไปอยู่ในอันดับที่ 8 ของส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลก Lenovo เองก็ลดจำนวนคนงานในสหรัฐไปด้วยถึง 2,000 คน ขณะที่ผู้บริหาร Lenovo ก็ยอมรับว่ากังวลว่าจะสูญเสียตลาดในภูมิภาคอเมริกาทั้งเหนือและใต้ ที่โมโตโรลาเคยส่งมอบสมาร์ทโฟนสูงถึง 10.6 ล้านเครื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี 2014

แม้แต่ในตลาดขนาดใหญ่อย่างจีน ที่ Lenovo เองก็มีส่วนแบ่งอยู่ไม่น้อย แต่โมโตโรลาก็ไม่สามารถทำตลาดได้ โดยสาเหตุหลักๆ มาจากการที่แบรนด์ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก โดยในช่วงแรกที่เข้าไปทำตลาด Lenovo เลือกจะขายโมโตโรลาเฉพาะช่องทางออนไลน์เท่านั้น เลียนแบบโมเดลของ Xiamoni ที่เริ่มขายสมาร์ทโฟนออนไลน์อย่างเดียวก่อน แต่กลับไม่ทุ่มงบการตลาดเท่าที่ควร ประกอบกับราคาของเรือธงที่ค่อนข้างสูง ทำให้ชาวจีนส่วนมาก หันไปเลือกแบรนด์ที่คุ้นเคยและชื่นชอบมากกว่าในราคาใกล้เคียงกัน

Yang Yuanqing ซีอีโอ Lenovo ให้สัมภาษณ์กับ Wall Street Journal ยอมรับสถานการณ์ข้างต้น พร้อมระบุว่ามองข้ามความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมองค์กรและโมเดลธุรกิจของทั้งสองบริษัทไป ขณะที่จากคำสัมภาษณ์ของพนักงาน Lenovo ทั้งอดีตและปัจจุบันก็ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ความผิดพลาดสำคัญของ Lenovo คือการรวมทั้งสองบริษัทให้เป็นเนื้อเดียวกัน แบบเดียวกับที่ Lenovo ทำกับ IBM จนประสบความสำเร็จ กลายเป็นแบรนด์โน้ตบุ๊คเบอร์ 1 ของโลก

ถึงแม้ซีอีโอ Lenovo จะแยกบอร์ดบริหารออกจากโมโตโรลา แบบเดียวกับที่เคยทำสมัย IBM ด้วยหวังว่ากลยุทธเดิมจะส่งผลดีอีกครั้ง แต่ก็เปลี่ยนใจแต่งตั้ง Chen Xudong ผู้บริหาร Lenovo ที่ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องตลาดสมาร์ทโฟนนอกจีน มาดูแลธุรกิจสมาร์ทโฟนของทั้งโมโตโรลาและ Lenovo ทั่วโลก ซึ่งนั่นก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของความขัดแย้งระดับผู้บริหาร ที่มีส่วนมาจากความไม่เข้าใจในความแตกต่างของวัฒนธรรมองค์กรและโมเดลธุรกิจ

Rick Osterloh อดีตซีอีโอโมโตโรลาและหัวหน้าฝ่ายดีไซน์ผลิตภัณฑ์ ที่ตอนนี้ลาออกไปทำงานกับ Google เคยเล่าว่า Chen Xudong มีความสนใจที่จะนำผลิตภัณฑ์ของโมโตโรลาไปขายในจีน แต่กลับกำหนดกรอบเวลาในการออกผลิตภัณฑ์ รวมถึงกำหนดฟีเจอร์แต่เพียงฝ่ายเดียว

รวมถึงกรณีที่ Chen ยืนกรานจะนำ Moto X Force ที่มีหน้าจอ Shatterproof ไปขายในจีนและคิดว่าจะทำตลาดได้ ซึ่งก็ถูกคัดค้าน เนื่องจาก Moto X Force ถูกออกแบบมาสำหรับกลุ่มประเทศตะวันตก จนทำให้วิศวกรของโมโตโรลาต้องเสียเวลาปรับแต่งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของตัวเครื่องให้ขายในจีนได้ (ใช้คนละคลื่นความถี่และไม่มี Google App) ซึ่งสุดท้าย Moto X Force ก็ตกม้าตายในจีน

ต้องติดตามกันต่อว่าท้ายที่สุดแล้วโมโตโรลาที่ถูก Google ชุบชีวิตขึ้นมาเฮือกแรกนั้น จะมาตายในกำมือของบริษัทไอทียักษ์ใหญ่จากจีนหรือไหม่ หลังจาก IDC เปิดเผยว่าโมโตโรลามีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐอยู่ที่อันดับ 6 ตกลงมาจากท็อป 5 เป็นครั้งแรกหลังจากที่ติดอันดับมาตลาดในปี 2014 และ 2015

ขณะที่ Lenovo ก็หาทางออกให้กับตลาดสมาร์ทโฟนในจีน ด้วยการออกแบรนด์ลูก Zuk พร้อมโยกพนักงานฝั่งสมาร์ทโฟนของ Lenovo ไปดูแลผลิตภัณฑ์ Zuk เพื่อต่อกรกับ Xiaomi แทน หลังตัวเลขจาก IDC ชี้ว่าส่วนแบ่งตลาดของ Lenovo ในไตรมาสสามปีที่แล้วเหลือเพียง 2% เท่านั้น

ที่มา - Wall Street Journal

Blognone Jobs Premium