ในอีกไม่นาน แอปเปิลพันธุ์ Golden Delicious ที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมแบบใหม่เพื่อขจัดปัญหาเนื้อแอปเปิลเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลคล้ำ จะถูกวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา
ผลงานการพัฒนาแอปเปิลนี้เป็นของ Arctic Apples ซึ่งอธิบายได้คร่าวๆ ว่าการที่ทำให้แอปเปิลไม่เปลี่ยนสีคล้ำเข้มหลังจากที่หั่นหรือปอกไว้นานนั้น ทำได้โดยการทำให้กระบวนการปฏิกิริยาทางเคมีของสารที่เรียกว่า PPO (polyphenol oxidase) และ Polyphenolics นั้นไม่เป็นที่สังเกตเห็นได้
อธิบายถึงเรื่องปฏิกิริยาของสารเคมี 2 ตัวหลักที่ทำให้แอปเปิลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลคล้ำกันเสียเล็กน้อย
สารตัวแรกคือ PPO นั้นเป็นสารโอลิกอเมอร์ (คล้ายกับพอลิเมอร์ แต่พอลิเมอร์นั้นมีการเชื่อมโยงของโมเลกุลที่ไม่จำกัดจำนวน ในขณะที่โอลิกอเมอร์นั้นมีจำนวนที่แน่นอนชัดเจน) ชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นเอ็นไซม์ที่พบได้ในผลของพืชผักหลายประเภท มันทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของกลไกการป้องกันตัวเองของพืชผลนั้น ดังเช่นในกรณีของมะเขือเทศ จะพบได้ว่า PPO นั้นช่วยป้องกันเชื้อรา, แบคทีเรีย, ไวรัส และแมลงที่จะมากัดกิน แต่ทว่าสำหรับสาร PPO ในแอปเปิลนั้นแตกต่างออกไป เพราะ PPO ที่แอปเปิลสร้างขึ้นมานั้นเรียกได้ว่าไม่มีบทบาทความจำเป็นอะไรสำหรับแอปเปิลที่ปลูกเพื่อการบริโภคกันในปัจจุบัน
ทั้งนี้ PPO ในแอปเปิลนั้นจะพบได้ในผลแอปเปิลที่ยังอ่อนๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากสายพันธุ์แอปเปิลในอดีต
ส่วน Polyphenolics นั้นเป็นสารเคมีอีกชนิดหนึ่งที่ส่งผลต่อรสชาติและกลิ่นของแอปเปิล ซึ่งเมื่อแอปเปิลถูกทำให้ช้ำ, ตัด หรือกัด สาร Polyphenolics ก็จะทำปฏิกิริยากับ PPO โดยสิ่งที่หลงเหลือภายหลังปฏิกิริยาคือเม็ดสีเมลานินที่ก่อให้เกิดสีน้ำตาลคล้ำในเนื้อแอปเปิล
การตัดต่อพันธุกรรมคือการเข้าไปแก้เรื่องการผลิตสาร PPO ในเนื้อแอปเปิลอันเรียกได้ว่าเป็นการตีโจทย์กันที่ต้นเหตุ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ผลิตและจัดจำหน่ายก็เคยใช้วิธีการใช้สารเคมีในการแก้ปัญหาแอปเปิลเปลี่ยนสี แต่การตัดต่อพันธุกรรมนั้นมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า และยังทำให้ร้านค้าและผู้บริโภคมั่นใจว่าจะได้แอปเปิลที่ปราศจากสารเคมีตกค้างด้วย
Arctic Apples จะเริ่มวางจำหน่ายแอปเปิลที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ โดยจะหั่นมาเป็นชิ้นให้เห็นกันไปเลยว่าเนื้อแอปเปิลไม่เปลี่ยนสี นอกจากนี้การตัดต่อพันธุกรรมยังทำให้ได้เนื้อแอปเปิลที่มีความกรอบยิ่งขึ้นด้วย