สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศสนับสนุนสตาร์ทอัพ จัดงาน SEC FinTech Day 2017 วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ ณ ศูนย์ C Asean ให้สตาร์ทอัพฟินเทค 10 ทีมที่เข้ารอบมาแข่งขันเสนอผลงาน ชิงเงินรางวัล 1 แสนบาท
ก่อนจะถึงวันงาน Blognone ขอแนะนำผู้อ่านให้รู้จักทั้งสิบทีมว่าเป็นใคร และใช้ฟินเทคทำบริการอะไรบ้าง
C3.finance คือแพลตฟอร์มทำธุรกรรมการเงินผ่าน Blockchain เป็นตัวกลางระหว่างธุรกิจฟินเทค ธนาคารและ องค์กร regulator อย่างธนาคารแห่งชาติ และ ก.ล.ต. แปลงข้อมูลธุรกรรมเป็นโค้ดเข้าระบบ Blockchain และยังทำ Big Data เพื่อค้นหาธุรกรรมได้ง่าย
ทางผู้ก่อตั้งบอกว่าปัจจุบันตัวกลางที่แปลงข้อมูลธุรกรรมเข้าระบบยังไม่มี ธนาคารก็ไม่ได้ทำเอง C3.finance จึงเป็นตัวกลางและเป็นระบบหลังบ้านให้ธุรกิจฟินเทคอื่นๆ อีกที
Smart Contract Thailand เป็นแพลตฟอร์มกลางเซ็นสัญญาซื้อขาย โอนเงินระหว่างประเทศ โดยใช้ Blockchain เป็นตัวกลางเพื่อความสะดวกในการโอน
ตัวบริษัท ณ ตอนนี้ เน้นลูกค้าที่ซื้อขายของข้ามประเทศเป็นหลัก นอกจากนี้ยังให้บริการอนุมัติสินเชื่อ เคลมประกัน ผ่านระบบ Blockchain ด้วย
เป็นแอพพลิเคชั่นรวบรวมกองทุน ให้ผู้ใช้เข้ามาค้นหากองทุนที่เหมาะกับตัวเอง สามารถพูดคุยให้คำปรึกษาเรื่องกองทุน หรือซื้อกองทุนได้ผ่านแชทบ็อตในไลน์
PrivateChain เป็นสื่อกลางระหว่างนักลงทุน และเจ้าของกิจการ หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นทางลัดระหว่างทั้งสอง นักลงทุนสามารถซื้อหุ้นจากเจ้าของกิจการต่างๆ ได้บนแพลตฟอร์มผ่านระบบ Blockchain ไม่ต้องเสียเวลาซื้อขายหลายวันอย่างที่เคยเป็น
สานฝัน ในอนาคตอาจเป็นมูลนิธิแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดรับบริจาคเงินเข้าระบบ Blockchain เงินบริจาคที่ได้จะนำไปซื้อวัตถุดิบและอุปกรณ์การเกษตรเพื่อเกษตรกร
ผู้บริจาครู้ว่าเงินบริจาคของตัวเองถูกนำไปใช้อะไรบ้างผ่าน Blockchain ตัวเงินจะไม่นำไปให้เกษตรกรโดยตรง แต่จะแปรเป็นอุปกรณ์การเกษตรและการจัดอบรมต่างๆ แทน
จับจ่าย For School คือแพลตฟอร์มการชำระเงินเพื่อการศึกษา จับมือกับมหาวิทยาลัยบางแห่งให้นักเรียนจ่ายต่าเทอม ค่าบริการการศึกษาต่างๆ ผ่านระบบสแกนนิ้วบนแอพพลิเคชั่น ไม่ต้องไปต่อแถวยาวในวันเปิดเรียน
A borrow คือแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลเงินกู้จากธนาคารมาไว้บนแอพพลิเคชั่น ผู้ใช้สามารถเข้ามาดูข้อมูลได้บนแพลตฟอร์มนี้ นอกจากนี้ยังมีระบบวิเคราะห์ข้อมูลผู้กู้ และเสนอเงินกู้ที่ดีที่สุดให้ ตอนนี้มีธนาคาร 8 แห่งเป็นพาร์ทเนอร์
Peer Power คือตลาดสินเชื่อออนไลน์ เป็นสื่อกลางระหว่างคนที่อยากลงทุนและอยากได้เงินตอบแทนประจำเป็นรายเดือน กับคนที่อยากกู้เงินแต่ไม่พร้อมเอาสินทรัพย์ไปค้ำ และอยากได้ดอกเบี้ยไม่แพง
คนกู้เงินจะถูกตรวจสอบเรื่องเงินเดือน สถานะเครดิตบูโร และจัดประเภทเป็นเกรด A ถึง D ส่วนนักลงทุนก็จะมาเลือกว่าอยากให้คนไหนกู้ คนกู้ที่ได้เกรดเยอะดอกเบี้ยจะต่ำกว่า วงเงินที่คนกู้สามารถกู้ได้คือ 5 หมื่น ถึง 3 ล้านบาท ดอกเบี้ยอยู่ระหว่าง 8-15%
PetInsure คือแอพพลิเคชั่นประกันภัยสำหรับสัตว์เลี้ยง และยังรวบรวมสัตวแพทย์ไปตรวจตามบ้านอีกด้วย ทางผู้ก่อตั้งบอกว่าคนที่มีสัตว์เลี้ยงต้องเสียค่าใช้จ่ายรักษาและฉีดวัคซีน 7 หมื่นบาท/ปี โดยทางบริษัทเก็บเบี้ยประกัน 2,800 บาท/ปี เท่านั้น ตัวแอพมีแชทบ็อต ให้ลูกค้าเข้ามาพูดคุยและซื้อประกันผ่านแชทได้เลย
บริการตู้แลกเงินจากเหรียญเป็น Digital Money เข้าระบบ Blockchain กลุ่มเป้าหมายคอนักท่องเที่ยวที่มีเหรียญจากประเทศนั้นๆ เยอะ แต่ตามกฎไม่สามารถแลกคืนได้ ก็เอามาหยอดตู้ เนื่องจากถ้าไปแลกเป็นเงินของประเทศตัวเองจะมีค่าธรรมเนียมและภาษีนำออก ถ้าผู้ใช้เป็นคนจีน ก็เอาเหรียญไปหยอดตู้ นำใบที่ปรินท์ออกมาจากตู้ไปเติมเป็นเงินอาลีเปย์ทีหลังได้ โดยตู้ CoinEX จะประจำตามสนามบินต่างๆ
ทั้งสิบทีมสุดท้าย จะได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมไปก่อนทีมละ 2 หมื่นบาท รวมทั้งได้รับสนับสนุนด้านพื้นที่ใช้สอย เครื่องมือพัฒนานวัตกรรม เพื่อทำผลงานไปนำเสนอกรรมการในงาน SEC FinTech Day วันที่ 7 กุมภาพันธ์ นี้ รางวัลชนะเลิศมี 2 รางวัลคือ Rising Star Fintech เงินทุน 1 แสนบาท และ Innovation Fintech เงินทุน 1 แสนบาท ส่วนรางวัลรองลงมาคือ Popular Vote ทีมที่ชนะการโหวตผ่านแอพจากผู้เข้าร่วมงาน ได้รับเงินรางวัล 5 หมื่นบาท
งาน SEC FinTech Day วันที่ 7 กุมภาพันธ์ นอกจากประกวดสตาร์ทอัพแล้วยังมีการสัมมนาในหัวข้อฟินเทคต่างๆ เช่น การเติบโตของฟินเทคในประเทศไทย ปัญญาประดิษฐ์ ความปลอดภัยไซเบอร์ เป็นต้น ลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ ที่นี่